'เกณฑ์ใหม่' ตั๋วบีอีฉุดกำไร

'เกณฑ์ใหม่' ตั๋วบีอีฉุดกำไร

เกณฑ์ใหม่ "ตั๋วบีอี" ฉุดกำไร โบรกจ่อรื้อประมาณการหุ้นอสังหาฯ

ในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้นหรือบีอี เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนจะลุกลามมากขึ้น จนทำให้เกิดความกังวลว่า จะกลายเป็นไฟลามทุ่ง ซึ่งในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ได้ออกมาปรับปรุงเกณฑ์การเสนอขายบีอีใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีความคิดเห็นอย่างไรกับเกณฑ์ที่ก.ล.ต.จะกำหนดออกมา

ขณะที่รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานก.ล.ต. เคยบอกว่า แนวทางในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ดังกล่าว ได้คำนึงถึงความสมดุลระหว่างความจำเป็นของภาคธุรกิจในการมีช่องทางในการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ และระดับการมีเครื่องมือเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนตามประเภทผู้ลงทุนและช่องทางการลงทุน ซึ่งก.ล.ต. ได้หารือกับตัวแทนทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสมาคมที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนมาแล้วชั้นหนึ่ง อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ประสงค์จะรับฟังความเห็นในวงกว้างเพื่อให้แน่ใจว่าแนวทางการปรับปรุงแก้ไขจะมีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด  ...คาดว่าจะออกประกาศได้ภายในเดือนต.. 2560

ล่าสุด บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ระบุว่า เกณฑ์การออกตั๋วบีอีใหม่คาดกระทบการลงทุน โดยก.ล.ต.ระบุ มีโอกาสพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์การออกตั๋วบีอีใหม่ คาดประกาศใช้อย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาส4ปีนี้ โดยปัจจุบันตั๋วบีอี เป็นหนึ่งในวิธีการระดมทุนของที่ง่ายของบริษัทจดทะเบียน เพราะไม่ต้องมี Credit rating และ หลักทรัพย์ค้ำประกัน ) ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดว่าเกณฑ์ใหม่ที่จะออก อาจส่งกระทบไม่มากก็น้อยต่อหลายบริษัท

ทั้งในและนอกตลาด และสิ่งที่จะตามมาคือบริษัทจะเปลี่ยนไปใช้การระดมทุนวิธีอื่นเช่น หุ้นกู้ , กู้ธนาคาร ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และ การเพิ่มทุน (PP, RO, Warrant) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันการลงทุนในตลาดหุ้นไทยต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาฯ ซึ่งอัตรากำไรสุทธิ EPS ในปี 2561 อาจถูกปรับลงจากประเด็นนี้ได้

จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การปรับปรุงเกณฑ์ตั๋วบีอีครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนิยมระดมทุนในรูปแบบดังกล่าวมากกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ

ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)ประเมินกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ว่า ภาพรวมในไตรมาส2ปีนี้โครงการเปิดใหม่ของ 7 บริษัทอสังหาฯที่ฝ่ายวิจัยวิเคราะห์เพิ่มขึ้น 118% จากงวดเดียวกันปีก่อน และ 69% จากไตรมาสแรกปีนี้สู่ระดับ 6.5 หมื่นล้านบาท และได้รับการตอบรับดี สะท้อนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงคาดว่ายอดขายไตรมาส 2ปีนี้จะเติบโตแข็งแกร่ง 38%จากงวดเดียวกันปีก่อน และ 22%จากไตรมาสแรกที่ผ่านมาสู่ระดับ 5.4 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดขายครึ่งปีแรกขยายตัว 30%จากงวดเดียวกันปีก่อน และคิดเป็น 49% ของประมาณการยอดขายทั้งปีของฝ่ายวิจัย และบริษัท

ฝ่ายวิจัยมองว่ากำไรผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดกำไรปกติไตรมาส 2ปีนี้ที่ 6.7 พันล้านบาท ฟื้นตัว 40% จากไตรมาสแรก จากการโอนกรรมสิทธิ์ที่เร่งขึ้น 33%จากไตรมาสแรกปีนี้ แต่ลดลง 12%จากงวดเดียวกันปีก่อนจากฐานสูงในไตรมาส2ปี2559 ที่มีมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนอง (สิ้นสุดวันที่ 28 เม.ย. 2559) ส่งผลให้กำไรปกติครึ่งปีแรกลดลง 18%จากงวดเดียวกันปีก่อน และคิดเป็นเพียง 37% ของประมาณการกาไรปกติทั้งปี

นอกจากนี้แนวโน้มตลาดอสังหาฯครึ่งปีหลังเติบโตแข็งแกร่งทั้งยอดขายและกำไร ซึ่งประเมินมูลค่าโครงการเปิดใหม่ในครึ่งปีหลังที่ 1.26 แสนล้านบาท คิดเป็น 55% ของแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งปีของบริษัทโดยจะเปิดตัวสูงสุดในไตรมาส 3 และลดลงในไตรมาส 4 เนื่องจากมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเดือน ต.ค. จึงคาดว่ายอดขายจะขยายตัวแข็งแกร่งในไตรมาส 3

"ฝ่ายวิจัยคาดว่าบริษัทพัฒนาอสังหาฯเพื่อขายส่วนใหญ่ จะประกาศจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งปีแรก โดยขึ้นเครื่องหมาย XD ในเดือน ส.ค. และจ่ายเงินปันผลในเดือน ก.ย. คาดผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยครึ่งปีแรกที่2.2% และทั้งปี 2560 ที่ 5.5% เทียบกับตลาดที่อัตรา 3% ต่อปี โดยประเมินว่า LH, QH และ PSH จะเด่นสุดด้านผลตอบแทนจากเงินปันผลงวดครึ่งปีแรก ที่ 3.5%, 2.5% และ 2.1% ตามลำดับ ส่วน AP ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และ SPALI งดจ่ายเงินปันผลทั้งปีสำหรับผลประกอบการปีนี้