เตรียมของบกลาง2พันล้าน เยียวยาเกษตรกร5แสนราย

เตรียมของบกลาง2พันล้าน เยียวยาเกษตรกร5แสนราย

"กระทรวงเกษตรฯ" เตรียมของบกลางปี 1,500-2,000 ล้านบาท จ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรกว่า 500,000 รายที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมแต่ละพื้นที่และมาตรการรับมือฝนระลอกใหม่ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน โดยระบุว่า สถานการณ์น้ำท่วมโดยรวมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง 10 จังหวัด 99 อำเภอ กว่า 5,000 หมู่บ้าน เริ่มคลี่คลายบางจังหวัด เนื่องจากกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ใช้กระสอบวางเป็นคันกั้นและเร่งระดมสูบน้ำทำให้น้ำในเขตเทศบาลนครจังหวัดสกลนครแห้งแล้ว ส่วนอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เริ่มใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำก่ำ 18 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง คาดว่าจะสามารถระบายน้ำได้หมดภายใน 5 -7 วัน ส่วนการซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นยังเป็นไปตามแผน คาดว่าจะเสร็จก่อนวันที่ 12 สิงหาคมนี้

ขณะที่จังหวัดอื่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครพนม กาฬสินธุ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด ได้สั่งการให้กรมชลประทานลงพื้นที่สำรวจปริมาณน้ำและเร่งระบายน้ำ คาดว่าจังหวัดนครพนมจะใช้เวลาระบายน้ำภายใน 10 วัน และทยอยระบายในส่วนของพื้นที่อื่นอย่างต่อเนื่อง สำหรับน้ำที่ระบายแต่ละจังหวัดจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบโดยเฉพาะในอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ที่อาจจะต้องรับน้ำจากการระบายในแม่น้ำชี จากอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ลงแม่น้ำมูล ในอีก 2 วัน ทำให้ปริมาณน้ำอาจเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมชลประทานเร่งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำ เพื่อเตรียมระบายน้ำทันที

ส่วนการรับมือปริมาณน้ำฝนระลอกใหม่ จากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและไทยมีกำลังแรง ทำให้ไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น ขณะนี้ให้กรมชลประทานประสานกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยใช้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนตลอด 24 ชั่วโมง และระดมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำ รถแบคโฮ แต่ละจุดเพื่อคอยระบายน้ำไม่ให้ท่วมเพิ่มขึ้น รวมถึงให้กรมชลประทานประสานกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าชุมชน สำรวจสภาพอ่างเก็บน้ำว่ามีการชำรุดหรือไม่ แม้จะไม่ใช่พื้นดูเแลของกรมชลฯ แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ถึงแนวทางการรับมือและเส้นทางการระบาย เพื่อสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ด้วย

พล.อ.ฉัตรชัย ยังระบุว่า ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับเสียหายจากน้ำท่วมในพื้นที่ 35 จังหวัด จำนวน 570,000 ราย ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า โดยจะใช้งบกลางปี 2560 ประมาณ 1,500 -2,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชทุกชนิด เช่น ข้าว ยางพารา กรณีพื้นที่การเกษตรเสียหายจะได้รับเงินรายละไม่เกิน 3,000 บาท โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการช่วยเหลือเกษตรภาคใต้ เช่น เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกไว้ แต่ยืนยันว่าในส่วนของเกษตรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็จะได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน และประเมินพื้นที่เสียหายไม่จำเป็นต้องเสียหายสิ้นเชิงหรือเสียหายร้อยละ 50 ของพื้นที้เพาะปลูก ก็จะได้รับการเยียวยาได้ทันที

นอกจากนี้ จะเสนอ ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรตามสิทธิ์ทั้งเกษตรกรที่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง โดยงบประมาณตามระเบียบของกระทรวงการคลังที่มีไว้อยู่แล้วช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าวต่อครัวเรือน 1,113-33,390 บาท พืชไร่ 1,148-34,440 บาท ไม้ผลและยางพารา 1,690-50,700 บาท แต่การใช้งบประมาณส่วนนี้จะต้องประเมินแล้วว่าเสียหายสิ้นเชิงทั้งหมด