‘ขายตรงไทย’ผนึกรัฐเล็งตั้งสถาบันวิชาชีพ

‘ขายตรงไทย’ผนึกรัฐเล็งตั้งสถาบันวิชาชีพ

สมาคมพัฒนาการขายตรงไทย  จับมือภาครัฐเดินหน้าจัดตั้ง “สถาบันวิชาชีพ” หวังยกระดับธุรกิจสร้างมาตรฐานสู่มืออาชีพ พร้อมสกัดปัญหา “แชร์ลูกโซ่”

นายกัมปนาท บุญราศรี เลขาธิการสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย (Thai Direct Selling Development Association : TSDA) เปิดเผยว่า  สมาคมฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ)  และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาจัดตั้ง“สถาบันวิชาชีพขายตรง” เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ   จากที่ผ่านมาเผชิญปัญหาผู้ประกอบการบางรายแอบอ้าง หรือมีลักษณะการขายที่สร้างความเข้าใจผิดของวัตถุประสงค์ขายตรง ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา เช่น กรณีแชร์ลูกโซ่ที่มีผู้บริโภคได้รับความเสียหาย และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม

การจัดตั้งสถาบันวิชาชีพขายตรง จะใช้ระยะเวลาดำเนินการราว 1 ปี  โดยการรับรองจะต้องประกอบด้วยตัวแทน 3 ฝ่าย คือ ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา เพื่อร่วมกันตรวจสอบก่อนรับรองว่ามาตรฐานที่จะกำหนดขึ้นมานี้เชื่อมโยงกับหลักวิชาการหรือไม่ เช่น หลักการทำตลาด การนำเสนอขายของนักธุรกิจขายตรง เพื่อสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนจากการขายสินค้าระหว่างธุรกิจขายตรงกับกลุ่มแชร์ลูกโซ่ที่ดำเนินธุรกิจอย่างผิดกฎหมาย

“ตัวอย่างเช่น การกำหนดกรอบมาตรฐานให้นักธุรกิจขายตรงจะต้องระมัดระวังเรื่องการขายสินค้า รูปแบบการขาย ต้องไม่นำเสนอเกินจริง หรือไม่โน้มน้าวเชิงการสร้างความเข้าใจผิดให้ผู้ซื้อหลงซื้อสินค้าเป็นปริมาณมากๆ ทั้งยังต้องไม่อยู่ในข่ายการระดมเงินทุน หรือให้ผู้ซื้อเข้ามาร่วมทุน เช่น ซื้อสินค้ามูลค่าสูงมากในลักษณะล็อตใหญ่ที่เกินความจำเป็นต่อการบริโภค”

นายสมชาย หัชลีฬหา นายกสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย กล่าวว่า การขายตรงกับแชร์ลูกโซ่มีความแตกต่างกัน ซึ่งรูปแบบขายตรงเป็นการขายสินค้าโดยนำสินค้าไปกระจายสู่ลูกค้าผ่านบุคคล ก่อให้เกิดนักขาย และนำกำไรที่เกิดขึ้นที่บริษัทอื่นๆ ใช้ทางการตลาด นำมาเป็นผลกำไรตอบแทนให้นักขาย แต่อาจมีเงื่อนไขบางอย่างตามแต่ละบริษัทกำหนด

โดยบริษัทขายตรงจะจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่แชร์ลูกโซ่ ่ไม่ได้จดทะเบียน ผ่าน สคบ.รวมถึงแชร์ลูกโซ่มักจะนำเอาผลกำไรตอบแทนไปสร้างให้เกิดความเข้าใจว่าทำแล้วจะร่ำรวย เป็นต้น

สมาคมฯ จะหารือแนวทางแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่และนำผลสรุปที่ได้ไปเจรจากับภาครัฐ หรือนำมาตรฐานวิชาชีพขายตรงไปใช้ต่อไป เพื่อทำให้เกิดมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับเกิดขึ้น 

สำหรับ ภาพรวมบริษัทขายตรงที่จดทะเบียนและส่งงบการเงินให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในปัจจุบันมีจำนวนรวมประมาณ 1,420 ราย  พบว่าบริษัทที่ส่งงบการเงินให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีสัดส่วนประมาณ 50% เท่านั้น สะท้อนว่ามีบริษัทที่ยังไม่ส่งงบการเงินอีกมาก

“กังวลว่าผู้ประกอบการที่ส่งงบการเงินไม่ครบ หรือไม่ดำเนินงานตามขั้นตอนการทำธุรกิจ อาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทนั้นๆ ได้ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมขายตรงโดยรวมเช่นกัน เพราะในปัจจุบันเป็นยุคเข้าถึงเทคโนโลยีสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด”

ภาพรวมธุรกิจขายตรงปัจจุบันมีตัวแทนขายเกิน 10 ล้านคนมีบริษัทขายตรงกว่า 900 บริษัททั้งบริษัทขายตรงและการตลาดแบบตรง หรือขายผ่านสื่อออนไลน์ ปัจจุบันสมาคมด้านขายตรงมี 4 สมาคมแต่มีบริษัทที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกรวมกันยังไม่ถึง 100 บริษัท

ในปีนี้ประเมินว่าอุตสาหกรรมขายตรง จะมีมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อนราว 5%   โดยธุรกิจของผู้ประกอบการขายตรงแต่ละรายเติบโตแบบไม่หวือหวา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบสินค้าเกษตรราคาต่ำ ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร  เชื่อมโยงถึงธุรกิจขายตรง เพราะนักธุรกิจส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบขายตรงมาจากกลุ่มเกษตรกรมาก มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของจำนวนนักธุรกิจขายตรงโดยรวม