กลุ่ม 'โรงไฟฟ้า' เร่งลงทุนดันรายได้

กลุ่ม 'โรงไฟฟ้า' เร่งลงทุนดันรายได้

กลุ่มโรงไฟฟ้า "เร่งลงทุน" ดันรายได้ ทีพีซีเพาเวอร์ทุ่ม 3.9 พันล้าน ลุยโรงไฟฟ้าชีวมวลใหม่ 4 แห่งทีพีซีเพาเวอร์ทุ่ม 3.9 พันล้าน ลุยโรงไฟฟ้าชีวมวลใหม่ 4 แห่ง

ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนลงทุนเพิ่ม พีทีซีเพาเวอร์จัดสรรงบ 3.96 พันล้าน ลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล 4 แห่ง รวมกำลังการผลิตไม่เกิน 45 เมกะวัตต์ ขณะไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ เคาะลงทุน3 โครงการ พลังงานใต้พิภพ-ลม ในญี่ปุ่น

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) TPCH กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัทฯมีมติอนุมัติให้บริษัทย่อย 4 แห่ง ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก (VSPP) และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก (SPP) โดยอนุมัติว่าจ้าง บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) (TPOLY) เป็นผู้ก่อสร้างทั้ง 4 โครงการ

โดยโครงการลงทุนประกอบด้วย ทีพีซีเอช 1 โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังการผลิตเสนอขายไม่เกิน 9.2 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดยะลา งบประมาณ 800 ล้านบาท, ทีพีซีเอช 2 โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังการผลิตเสนอขายไม่เกิน 9.2 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดยะลา งบประมาณ 788 ล้านบาท, ทีพีซีเอช 5 โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก (VSPP) ตั้งอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส กำลังการผลิตเสนอขายไม่เกิน 6.3 เมกะวัตต์ งบประมาณ 648 ล้านบาท และปัตตานี กรีน โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก (SPP) ตั้งอยู่ที่จังหวัดปัตตานี กำลังการผลิตเสนอขายไม่เกิน 21 เมกะวัตต์ งบประมาณ 1,721 ล้านบาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 3,957 ล้านบาท

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า ทีพีซีเอช 1,2 และ 5 บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 65% โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในรูปแบบ Feed-in-Tariff พ.ศ. 2559 อายุสัญญา 20 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์และได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (FiT Premium) ในอัตรา 0.30 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 8 ปีนับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ โดยมีกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญา (SCOD) ในวันที่ 31 ธ.ค.2561

ส่วนโครงการปัตตานี กรีน บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 65% จะจำหน่ายไฟฟ้า ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในรูปแบบสัญญา Non-Firm โดยมีอายุสัญญา 5 ปีและต่อเนื่องและจะได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 1.30 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 7 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ โดยมีกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญา ในวันที่ 1 มี.ค.2562

นายสุวิทย์ วรรณะศิริสุข ผู้อำนวยการสายบัญชีและการเงิน บริษัท ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติอนุมัติการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม รวม 3 โครงการ ในญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุนรวม 194.16 ล้านบาท โดยคาดว่าจะทำสัญญาซื้อขายได้ในเดือนส.ค.2560 และคาดว่าโรงไฟฟ้าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือนสิงหาคมนี้ ทำให้สามารถรับรู้รายได้ได้ทันที

ทั้งนี้การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ในญี่ปุ่นเพิ่มในครั้งนี้ เพื่อรักษาโอกาสทางธุรกิจ และเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากราคาขายไฟฟ้าในอัตราสูงสุดตามกฎเกณฑ์ของกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (METI) ด้วยการซื้อกิจการบริษัท Lena Power Station No.1 Limited Liability Company ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมาย ของประเทศญี่ปุ่นและเป็นสัญชาติญี่ปุ่น

แหล่งเงินลงทุนจะมาจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน หรือกระแสเงินสดของบริษัท ส่วนผลกระทบต่ออัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E-Ratio) จากไตรมาส 1ของปี 2560 คือ 0.96 คาดว่าจะสูงขึ้นอีก 0.09 จากการกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง