ไทยหวังบรรลุข้อตกลงASEP พัฒนาอาเซียน-อินเดีย

ไทยหวังบรรลุข้อตกลงASEP พัฒนาอาเซียน-อินเดีย

นายกฯประยุทธ์ หวังอินเดีย ร่วมเจรจาบรรลุข้อตกลง ASEP พร้อมเสนอแผนพัฒนาอาเซียน-อินเดีย ผ่านนโยบายสำคัญ 5 ด้าน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานอาเซียน-อินเดีย เอ็กซ์โป ฟอรั่ม 2017 ในโอกาสครบรอบ 25 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - อินเดีย เป็นโอกาสสำคัญที่ภาครัฐ เอกชน ของทั้งอินเดีย และกลุ่มประเทศอาเซียนจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน และแลกเปลี่ยนมุมมองทางด้านการค้า การท่องเที่ยวระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างความเชื่อมโยงด้านสังคมและเศรษฐกิจ ในการสร้างการเจริญเติบโตไปพร้อมกัน

ด้านเศรษฐกิจในภาพรวม ทุกคนทราบดีว่าวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ของโลก ทั้งด้านราคาน้ำมัน การเกษตร ซึ่งตลาดมีความผันผวนตลอดเวลา โดยเฉพาะเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทจนเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่การเมืองระหว่างประเทศที่ยังไม่แน่นอน การปรับเปลี่ยนนโยบายของประเทศมหาอำนาจ สถานการณ์ความไม่สงบในหลายประเทศ เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจและระบบการค้าของโลก ดังนั้นถึงเวลาที่ภูมิภาคเอเชียต้องผนึกกำลังเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพอย่างมั่นคงและยั่งยืน สำหรับอินเดีย ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของเศรษฐกิจโลก หากทำงานร่วมกันกับอาเซียนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ การรวมตัวกันทำให้เกิดประชาคมอาเซียน หรือ เออีซี ซึ่งจะดึงศักยภาพของแต่ละประเทศมาใช้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดตลาดและฐานการผลิตสำคัญของโลก

“วันนี้อาเซียนมีประชากรรวมกัน 630 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 9 ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก โดยมีมูลค่าการค้าการลงทุนที่ 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นแหล่งลงทุนมีมูลค่า 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ในวาระครบรอบ 25 ปีระหว่างอาเซียนและอินเดีย ที่ควรจะเร่งรัดผลักดันเศรษฐกิจให้มากขึ้น และเป็นภูมิภาคที่เปิดรับโอกาสและความท้าทายกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่จะผลักดันได้ทุกคนปรับตัวเข้าสู่โลกในยุคอนาคตได้อย่างรวดเร็วและกลมลืน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่าขณะที่ไทยได้ปรับตัวเข้าสู่โมเดลใหม่ในรูปแบบไทยแลนด์ 4.0 หัวใจสำคัญคือการสร้างคนไทยให้มีทักษะความรู้ ความสามารถ พร้อมรองรับความต้องการของตลาดโลก ในส่วนอินเดีย ถือว่ามีบทบาทเศรษฐกิจสำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับ 7 ของโลก โดยมีมูลการค้าการลงทุนในตลาดใหญ่มากกว่า 2 เท่าของอาเซียน มีประชากร 1,324 ล้านคนรองจากจีน ส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคชั้นกลาง ที่ผ่านมาอินเดียเผยศักยภาพของตัวเองสู่ประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิต มุ่งเน้นการพัฒนาและการจ้างงานคนภายในประเทศ อีกตัวอย่างความสำเร็จอินเดีย คือการปฏิรูประบบภาษี ที่เริ่มต้นตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้อัตราภาษีสินค้าและบริการมีอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งการปรับเปลี่ยนเหล่านี้จะลดภาระต้นทุนผู้ประกอบการ เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ดึงดูดการลงทุนเป็นอย่างมาก

สำหรับความสัมพันธ์ที่จะเกื้อหนุนกันได้จัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียน อินเดียตั้งแต่ปี 2010 ครอบคลุมการเปิดเสรีทางการค้า สินค้าบริการ รวมถึงการลงทุน นอกจากนั้นยังคงต้องเดินหน้า ขยายความสัมพันธ์ต่อไป ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งการคมนาคมทางบก อากาศ และทางทะเล โดยปัจจัยสำคัญในการดึงศักยภาพระหว่างอินเดียและอาเซียน จำเป็นต้องเร่งพัฒนา เสริมสร้างปัจจัยพื้นฐาน 5 ด้าน

ประกอบด้วย การพัฒนาภาครัฐดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารราชการของภาครัฐ พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เป็นภูมิภาคแห่งอนาคต โดยเร่งลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาเศรษฐกิจภาคการเกษตร ที่จะเป็นพื้นฐานรองรับการพัฒนา การพัฒนาไมโครเอสเอ็มอี ที่ถือเป็นกระดูกสันหลังของภูมิภาค และการพัฒนาคน ถือว่าสำคัญที่สุดที่จะต้องร่วมกันในการดำเนินการ โดยปัญหาหลักคือการลดความเหลื่อมล้ำ

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุสำหรับการประชุมครั้งนี้ ส่วนตัวอยากให้มีข้อสรุปว่าจะทำอย่างไรกับการเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีความสัมพันธ์ อินเดีย-อาเซียน โดยมีกรอบเจรจาที่นำไปสู่ความสำเร็จ โดยต้องการให้มีการหารือกันในกรอบการเจรจาขนาดเล็ก เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกประเทศ เพราะการประชุมที่มีสามาชิกจำนวนมาก แน่นอนว่าต้องมีความเห็นที่แตกต่าง หากสามารถเจรจาและนำไปสู่การคลี่คลายปัญหา ก็จะนำไปสู่ข้อสรุป ก็คาดหวังว่าในเวทีหารือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาเซ็ป จะได้รับความร่วมมือจากอินเดีย และจะลุล่วงไปได้ด้วยดี ด้วยการสนับสนุนของอินเดีย