“วีลแชร์” เบาะรถยนต์ เข็นช่างเป็นเถ้าแก่

“วีลแชร์” เบาะรถยนต์ เข็นช่างเป็นเถ้าแก่

“นิรัญ เส็งเอี่ยม” ช่างในร้านประดับยนต์ แต่เป็นนักประดิษฐ์ช่างคิดพลิกแพลงเบาะนั่งในรถยนต์เป็นวีลแชร์เคลื่อนย้ายคนแก่ คนป่วย ช่องว่างธุรกิจมหาศาล จนปัจจบัน “เอ็น.อาร์.ออโต้ซีทส์” เป็นหนึ่งในผู้นำเบาะวีลแชร์รถยนต์ของประเทศ

ชีวิตของเจ้าของกิจการอย่าง นิรัญ เส็งเอี่ยม” ผู้ก่อตั้งเอ็น.อาร์.ออโต้ซีทส์ จำกัด บริษัทผู้รับออกแบบ ติดตั้งเบาะสำหรับผู้สูงอายุในรถตู้ และรถยนต์ทุกชนิด เริ่มต้นจากความเป็นช่าง นักประดิษฐ์นักคิด ต่อยอด ออกแบบสารพัดเบาะที่ลูกค้าสั่งในร้านประดับยนต์ 

โดยเชี่ยวชาญพิเศษในการผลิตเบาะผู้สูงวัยนั่งในรถตู้ เพื่อช่วยในการขนย้ายผู้ป่วยหรือผู้สูงวัยขึ้นรถได้สะดวก คล่องตัวขึ้น  ทั้งการสไลค์ให้เบาะขึ้นลงง่าย จนก้าวหน้าไปถึงขั้นปรับที่นั่งให้เป็นวีลแชร์โดยไม่ต้องยกคนนั่งรถเข็น เมื่อรถจอดก็สามารถเลื่อนเบาะลงจากรถเข็นเป็นวีลแชร์ ไปตามที่ต้องการได้ทันที

นวัตกรรมที่เขาคิดเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย ยังไม่มีบริษัทใดผลิต ที่เวลาจะทำเบาะนั่งในรถยนต์สำหรับผู้สูงวัย ก็มักใช้ร้านประดับยนต์ติดเบาะให้เพิ่มเติม

ที่สำคัญเขายังเห็นโอกาสมหาศาลในการผลิตสินค้าเหล่านี้ ป้อนสำหรับ“สังคมผู้สูงวัย”ของแต่ละบ้านที่ต่างต้องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย คนสูงวัยออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ไปหาหมอ หรือไปเที่ยว พักผ่อนดูโลกภายนอกได้สะดวกโยธินขึ้น

แนวคิดการประดิษฐ์เบาะของ "นิรัญ” ส่วนหนึ่งยังเกิดแรงบันดาลใจของตัวเองที่มีพ่อ ป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองตีบ ต้องเป็นคนป่วยนอนติดเตียงไม่มีโอกาสได้พาท่านออกไปนอกบ้าน จึงคิดสิ่งประดิษฐ์ที่อยากจะปลดล็อคปัญหา สร้างความสุขคนในครอบครัว ช่วยให้ภาพลูกหลานได้พาบุพการีออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้บ่อยขึ้นโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายกันแบบทุลักทุเล

“ผมออกแบบ คิดค้นประดิษฐ์เองอยู่กับงานมาตลอด จึงรู้วิธีการและหาอะไรใหม่ๆ มาเติมพัฒนาต่อยอดเสมอ” เขาเล่าถึงความจริงจังกับงานพัฒนาเบาะติดรถตู้และรถยนต์ตลอดเวลา จากการหมั่นเดินสายไปดูเทคโนโลยี จากงานแฟร์ในที่ต่างๆทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อเก็บข้อมูลใหม่ๆ รวมถึงการดูจากสื่ออินเตอร์เน็ท สิ่งดีๆ เจ๋งๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ก็หยิบมาผสมผสานในแบบฉบับของเขาเอง

เป็นความฝันของเด็กต่างจังหวัดที่เรียนไม่สูง หลังจากเป็นลูกจ้างมา 10 ปี ก็อยากเติบโตเป็นเจ้าของกิจการ และคิดว่าโอกาสและความต้องการของผู้สูงวัยที่มีปัญหาการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขึ้นรถออกไปนอกบ้าน จึงพัฒนาตลาดเอง ชวนแฟนออกจากงานมาตั้งบริษัทเองกัน 2 คน

6 ปีที่แล้วที่ช่างฝีมือประจำร้าน ขอสลัดคำว่า “ลูกน้อง” ออกมาคิดแบบ “เถ้าแก่” ที่ไม่ใช่แค่นักประดิษฐ์แต่ขอคิดถึงการขาย การตลาด และทำแบรนด์ ด้วยตัวเอง

ช่วงเริ่มต้นเขายอมรับว่า ล้มลุกคลุกคลานพอสมควร จากเงินทุนหลักแสนซื้อเครื่องมือประดิษฐ์ บางชิ้นทำแฮนด์เมดประกอบเอง โชคดีที่มีฐานลูกค้าเก่าจากบริษัทเดิมรู้ว่าเขาทำเป็น จึงมาเป็นลูกค้าและบอกปากต่อปากแนะนำกันมา ส่วนการหาลูกค้าใหม่เขาเห็นโอกาสในโลกโซเชียล ช่องทางทำให้คนรู้จักแบบไม่เสียเงิน และทำให้คนเห็นภาพของเก้าอี้ได้ชัดขึ้น มีผลงานก็ลงโชว์ในโซเซียลให้เห็นภาพกันทันที

เขายังเห็นว่า ไม่เพียงแค่ออกมาตั้งธุรกิจใหม่เท่านั้นที่ทำให้เขามีชื่อเสียง แต่การพัฒนาต่อยอดจากวีลแชร์ยังทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งการเพิ่มสมรรถนะการทำงานให้มีระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความปลอดภัยตั้งแต่การติดตั้ง ให้ปุ่มลงล็อกระบบจึงเริ่มทำงานได้ การหมุนของเก้าอี้ก็มีเซ็นเซอร์ไม่ให้ชนสิ่งกีดขวางป้องกันอุบัติเหตุระหว่างหมุน จนถึงการยกผู้ป่วย ผู้สูงวัยลงพื้นแบบจอดแน่นิ่งสนิทไม่กระแทก 

กลายเป็นผลงานอัพสเกลเทคโนโลยี ที่เขาเชื่อว่า ล้ำกว่าตลาดจากประสบการณ์กว่า 10 ปีจึงคิดลบจุดอ่อน เพิ่มจุดเด่นให้ตัวเองตลอดเวลา

จากช่วงเริ่มต้นประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว แต่ละชิ้นงานต้องทำเองคนเดียวใช้เวลา 15 วัน ถึง 1 เดือน ราคา ตั้งแต่ตัวละ 2.5-2.7 แสนบาท ออเดอร์เข้ามาเฉลี่ยเดือนละ 1 ชุด ชิ้นไหนทำเองไม่ได้ก็แบ่งร้านอื่นทำไปก่อน จนออเดอร์ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

นิรัญ จึงเริ่มขยายกิจการรับลูกน้องเพิ่มขึ้น ปัจจบันออเดอร์ซื้อวีลแชร์รถยนต์เข้ามาเดือนละ 10 ชุด จากประกอบชิ้นส่วนตามตึกแถวก็ลงทุน 5 ล้านบาทตั้งโรงงานที่บางขุนเทียน ลูกน้อง 50 คน ความสามารถในการประกอบได้สูงสุด 30 ชุดต่อเดือน หรือ ผลิตได้วันละ 1 ชุด

อุปกรณ์วีลแชร์ยังไม่หยุดเคลื่อนธุรกิจแค่ในประเทศ แต่ยังมีโอกาสดีลกับค่ายรถยนต์หลายรายที่เริ่มเข้ามาคุยกับเขา เช่น ฮอนด้า และค่ายรถอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างเจรจรา ซึ่งหากเจรจาสำเร็จหมายถึงคำสั่งซื้อบิ๊กล็อตที่ทำให้ธุรกิจพลิกอีกครา

โดยปัจจุบันธุรกิจกำลังขยายตัวเริ่มทำตลาดต่างประเทศ ปักธงในอาเซียนก่อน โดยมีเอเจนซี่อยู่ในมาเลเซีย กระจายส่งออกไปแล้วในฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นในอาเซียน “นิรัญ”เล่าและว่า

กำลังศึกษาแผนการตลาดในต่างประเทศสักระยะ ในไม่ช้า อาจจะเป็นคนไปลุยตลาดด้วยตัวเอง ระยะนี้อยู่ระหว่างการสร้างแบรนด์ ทยอยออกอีเวนท์เฉลี่ยเดือนละ 2 งาน เพื่อโปรโมทแบรนด์ให้คนรู้จัก

เขามองว่าจุดพลิกที่ทำให้ช่างโรงงานประดับยนต์อย่างเขาก้าวมาเป็นเถ้าแก่ได้ ไม่ใช่ความเก่งอย่างเดียว ฉลาดอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญสำหรับนักประดิษฐ์คือ การค้นคว้า ทดลอง มุ่งมั่น ทำจริง อดทน ไม่ถอดใจ

เจ้าตัวยังมองว่า ภายใน 3-5 ปีข้างหน้าธุรกิจจะก้าวกระโดดไปเติบโตระดับภูมิภาค โดยอยู่ระหว่างการสร้างทีมงานตั้งแต่การทำตลาด สร้างแบรนด์ รวมถึงการพัฒนาระยะยาวคือ ทีมวิจัยและพัฒนา (R&D) ค้นหาโซลูชั่นใหม่ๆ ทำเก้าอี้ไปต่อติดกับเบาะนั่งคนขับรถ ให้คนนั่งรถเข็นเลื่อนไปพร้อมขับรถได้ หรือการพัฒนาวีลแชร์ไปใส่ในรถประเภทอื่นๆ เช่น รถกระบะ

หากมีฐานการผลิตที่มั่นคงมีมาตรฐาน แบรนด์แข็งแรง ก็พร้อมรับออเดอร์ใหญ่ๆ ในต่างประเทศ และพัฒนาสินค้าได้หลากหลาย” เขาทิ้งท้าย

-------------------------------- 

Key to Success

วีลแชร์รถยนต์รุกอาเซียน

- ไม่หยุดคิด ลบจุดด้อย เติมเต็มเทคโนโลยีใหม่

- หมั่นหาความรู้นวัตกรรมใส่สมอง

- ไม่หยุดธุรกิตแค่ขันน็อตเป็น

- ลุยเอง ทำเองช่วงเริ่ม ใฝ่รู้ทุกด้านธุรกิจ

- ออกอีเวนท์ สื่อโซเชียล โปรโมทแบรนด์ให้คนรู้จัก