กรุงเทพฯ...เตรียมท่วม!

กรุงเทพฯ...เตรียมท่วม!

ร่วมหาคำตอบของคำถามที่ทุกคนขีดเส้นใต้ด้วยความสงสัยและหวั่นใจ ว่าปีนี้กรุงเทพฯจะจมน้ำหรือไม่!

            ผ่านมาเกินครึ่งทศวรรษแล้ว แต่ภาพมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ยังเป็นคราบฝังลึกในหัวใจใครหลายคน มาถึงปีนี้ที่ข่าวน้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัดเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยังไม่ทันพ้นกลางปี นอกจากความสูญเสียในพื้นที่เหล่านั้น ยังสั่นสะท้านมาถึงคนทางนี้ ชาวกรุงลุ้นระทึกอยู่กับคำถามที่ว่า ปีนี้กรุงเทพฯ จะรอดหรือไม่ ถ้าไม่รอดจะสาหัสกว่าคราวก่อนหรือเปล่า

            หลายเสียงไปในทางเดียวกันว่า “ท่วมแน่” แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ยืนยันพร้อมข้อมูลและการศึกษาถึงเหตุปัจจัยแท้จริง บางคนอ้างคำทำนาย บางคนอ้างโหราศาสตร์ แต่สำหรับ ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล นักวิทยาศาสตร์และนักธรณีวิทยา อธิบายว่า ที่กรุงเทพฯ สุ่มเสี่ยงเพราะการพัฒนาพื้นที่และพัฒนาเมือง ซึ่งเดิมทีพื้นที่เหล่านั้นเป็นที่ชุ่มน้ำ เป็นทางผ่านของน้ำ ซึ่งความจริงแท้คือไม่มีอะไรทับที่น้ำได้เลย สุดท้ายน้ำจะกลับมา ‘เวนคืน’

            ตั้งแต่มหาอุทกภัยคราวก่อนเขาบอกว่าไม่ใช่เรื่องเกินคาดฝัน เพราะคำนวณจากข้อมูลก่อนหน้านั้นแล้วว่าปริมาณน้ำคงไม่น้อยไปกว่าที่เกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งปี 2554 ปริมาณน้ำฝนใกล้เคียงกับอุทกภัยปี 2538 แต่ที่รุนแรงกว่าคือมนุษย์บริหารไม่ถูกจังหวะและไม่มีความรู้พอที่จะไปบริหารจัดการ

            ปีนี้ ดร.ธนวัฒน์ จึงกล้าเอ่ยปากว่าอะไรต่อมิอะไรก็ชี้ไปในเชิง ‘กรุงเทพฯ อาจท่วม’

            “สังเกตนะครับว่าตั้งแต่พายุลูกที่แล้วที่ทำให้น่านท่วมและเกิดแผ่นดินถล่ม ทั้งสองลูกนั้นเป็นลูกที่เล็ก บวกกับลูกนี้ที่ทำให้เกิดฝนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่เยอะเท่าไร ขนาดยังตกไม่เยอะ ในช่วง 2-3 วันก่อนนั้นน้ำกลับล้นพนังที่สุโขทัยแล้ว เป็นสัญญาณบอกเหตุว่าการทำพนังหรือการกลัวน้ำท่วม ไปทำให้เกิดโครงสร้าง และโครงสร้างนั้นถูกมองด้านเดียวคือไว้ป้องกันน้ำ แต่จริงๆ เป็นการขัดขวางการทำงานของแม่น้ำ เพราะตัวใหญ่ที่สุดของแม่น้ำที่จะรองรับน้ำได้คือแก้มลิง แต่ตอนนี้เราทำพนังไม่ให้น้ำล้นข้ามไปสู่เมืองที่อยู่ตามริมแม่น้ำ พูดง่ายๆ คือ น้ำถูกโกยเข้ามาอยู่ในแม่น้ำ”

            มิหนำซ้ำปีนี้พายุเข้ามาเร็วด้วย ดร.ธนวัฒน์ ให้ข้อมูลว่าพายุเริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือนมกราคม เป็นดีเปรสชันแถวภาคตะวันออก เป็นพายุลูกแรก และเกิดในทะเลจีนใต้ ซึ่งอันที่จริงความรุนแรงของพายุดังกล่าวแทบจะไม่เรียกว่าพายุ เป็นเพียงหย่อมความกดอากาศต่ำ ทว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่น่าน สุโขทัย มาจนถึงล่าสุดที่สกลนคร ซึ่งถือเป็นข่าวใหญ่มาก นั้นไม่น่าเกิดขึ้น

            “ที่จริงไม่น่าจะท่วมใหญ่ เพราะพายุเล็กมาก มันเป็นแค่หย่อมความกดอากาศต่ำ เท่าที่ผมเช็ค ฝนตกเป็นปกติ แต่ปัญหาคือทำไมน้ำถึงมาเยอะแยะขนาดนั้น และสอง ฝนแค่นี้ทำไมระบายไม่ทัน”

            เป็นคำถามทำนองเดียวกับที่ ประเชิญ คนเทศ ประธานมูลนิธิลุ่มน้ำท่าจีน นครปฐม สงสัย ทั้งยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขามองว่ากรุงเทพฯ อาจท่วมหนัก ท่วมปานกลาง หรือท่วมน้อย โดยที่ยังไม่ฟันธง

            เขาบอกว่าแม้ที่ผ่านมาฝนจะตกในปริมาณค่อนข้างปกติ แต่บางครั้งน้ำไม่ต้องมาก ทว่าระบบการจัดการกับจังหวะเวลาที่ฝนตกใต้เขื่อน ก็ทำให้เกิดน้ำท่วมได้ แต่จะเป็นมหาอุทกภัยหรือไม่นั้นต้องจับตาดูหลายปัจจัย ซึ่งตั้งแต่ปี 2554 มีปัจจัยทางกายภาพเปลี่ยนแปลงไปมาก เป็นผลผลิตจากความหวาดกลัวที่ส่งผลต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

            “เขาคิดโครงสร้างขึ้นมามากมาย ด้วยหลักคิดว่าป้องกันกรุงเทพฯกับเขตเศรษฐกิจไม่ให้ท่วม โดยเอาโครงสร้างแข็งเข้ามาใส่ คล้ายที่สุโขทัยยกคันกั้น ผลสุดท้ายน้ำก็ล้นคันกั้น”

            ถ้าจำกันได้เมื่อปี 2553 เขื่อนหิวน้ำจากภาวะแล้งจัด คล้ายกับเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ต้องกักน้ำไว้มหาศาล คิดเป็นพื้นที่เก็บกักน้ำเหลืออยู่ราว 40 เปอร์เซ็นต์ ถ้าพายุที่จะเข้าต่อไปๆ ไม่รุนแรงก็อาจไม่กระทบหนัก ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนจึงเป็นช่วงเฝ้าระวังที่สุด ยิ่งถ้าฝนตกใต้เขื่อนภาระทั้งหมดจะอยู่ที่เขื่อนเจ้าพระยา จุดสังเกต 3 ช่วง ที่บอกได้ถึงผลกระทบต่อกรุงเทพฯ คือ จุดระวังที่ 1 คือ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ จุดระวังที่ 2 คือ ลพบุรี อ่างทอง อยุธยา ช่วงที่ 3 จุดตาย คือ สามโคก หลังจากนั้นต้องตรวจสอบกันว่าแนวคันล้อมที่เคยสร้างกันไว้ ล้อมนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ถ้าทุกจุดไม่วิกฤตเท่ากับว่า ‘กรุงเทพฯ รอด’

            “ในเบื้องต้นถ้าน้ำไม่เข้ากรุงเทพฯ น้ำจะตีโอบ มาทางอยุธยา เสนา ทุ่งเจ้าเจ็ด บางยี่หน และเข้าท่าจีน พอโดนคันล้อมซึ่งถ่วงน้ำเอาไว้ พื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี เหมือนจะปลอดภัย แต่ถ้าควบคุมที่ศูนย์ศิลปาชีพฯ ไม่ได้ น้ำจะเอ่อล้นเจ้าพระยาเอง จุดออกคือพระยาบันลือ พระพิมลราชา คลองโยง มหาสวัสดิ์ ส่งมาท่าจีน ถ้าที่ส่งมานั้นสมดุลกันก็จะทำให้กรุงเทพฯ รอดพ้น แต่ถ้าตัวแปรคือฝนตกใต้เขื่อนเยอะในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน นั่นหมายความว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลโดนหมด”

            แม้เหรียญจะออกได้ทั้งสองทาง แต่ ประเชิญ เล่าว่าช่วงที่ผ่านมา ‘น้ำยาแนว’ ไปแล้ว หมายความว่าผืนดินแห้งผาก น้ำจะไหลลงไปค้างใต้ดินจนเต็ม เมื่อน้ำใหม่ลงไปไม่ได้แล้วจึงท่วมขัง ต่อมาจะเป็น ‘น้ำค้างทุ่ง’ เมื่อน้ำตีโอบแล้วไปไหนไม่ได้ืจะตีกลับขึ้นเหนือ ถ้าคันล้อมไหนพัง จะเหมือนป้อมปราการถูกทำลาย น้ำจะทะลักเข้าไปเปลี่ยนพื้นที่เป็นอ่างเก็บน้ำทันที

ประเชิญ จึงเตือนว่าถ้าต้องการให้น้ำที่อาจจะมาเคาะประตูเมืองหลวงได้ผ่านไปอย่างสะดวกและไม่ท่วมขัง ภาครัฐต้องเตรียมเร่งระบายน้ำให้ไวที่สุด

            “กรุงเทพมหานครต้องเตรียมให้พร้อม คูคลองต้องเตรียมระบาย เครื่องสูบน้ำต้องพร้อม ต้องไม่ปิดประตูตาย ในช่วงที่น้ำเหนือยังไม่ลงมา และน้ำตอนล่างยังมีผล จะต้องให้ผ่านระบบเครือข่ายคูคลองของกรุงเทพมหานครออกไปอ่าวไทยก่อน ถ้าไม่ให้น้ำผ่านก็จะอั้นแถวนนทบุรี แถวปทุมธานี พอมีน้ำบวกเข้ามาจะไปไหนไม่ได้เลยจริงๆ”

            ยิ่งตอกย้ำว่าการเตรียมรับมือจะต้องทำให้พร้อมที่สุดและรวดเร็วที่สุด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้คือบทเรียนราคาแพง ที่ ดร.ธนวัฒน์ ระบุว่าหากไม่อยากประวัติศาสตร์ซ้ำรอยก็อย่าชะล่าใจ

            “กรณีแผ่นดินถล่มที่น่าน มันชี้ให้เห็นระบบการเตือนภัย และการป้องกันเรื่องน้ำท่วม ไม่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง เพราะนี่เป็นพายุที่เล็กที่สุด ไม่ใช่พายุด้วยซ้ำ เป็นแค่หย่อมความกดอากาศต่ำ ยังเอาไม่อยู่ แล้วถ้าเป็นพายุเหมือนที่เข้าไต้หวัน เข้าญี่ปุ่น โอ้โห จะไม่ท่วมมิดหัวคนเหรอ เป็นสัญญาณเตือนว่าประเทศไทยถ้ายังไม่ได้เตรียมต้องรีบเตรียมนะ เพราะมีโอกาสที่พายุแรงกว่านี้จะเข้า”

            แต่ในมุมมองของ ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ข้อมูลในมือบ่งบอกว่าสถานการณ์น้ำที่อาจท่วมกรุงเทพฯ อาจไม่เลวร้ายนัก

            “กรุงเทพฯ จะแตกต่างจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ กรุงเทพฯ มีฝนตกน้อย สถานการณ์ตอนนี้จึงปกติ ถึงจะมีฝนตกก็ยังไม่มีรายงานน้ำท่วม”

            ผู้อำนวยการ สสนก. อธิบายว่า ปัจจัยที่อาจจะมีผลต่อน้ำที่จะเข้าท่วมกรุงเทพฯ น่าจะเป็นน้ำจากแม่น้ำป่าสักกับแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะที่เพชรบูรณ์น้ำก็ท่วม และน้ำมวลนี้จะไหลไปที่เขื่อนป่าสัก แต่เขื่อนป่าสักยังมีพื้นที่ว่างเกือบ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

            “หากน้ำมาเติมพอดีก็ไม่ต้องปล่อยน้ำ ถ้าต้องปล่อยก็จะต้องสอดคล้องกับระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็รับน้ำจากสุโขทัยซึ่งท่วมอยู่ตอนนี้ ถึงแม้จะท่วมแต่ก็ปริมาณไม่เยอะมากนัก”

            แน่นอนว่าอุทกภัยคือภัยธรรมชาติ ทว่าธรรมชาติไม่ใช่ผู้ต้องหาตัวจริง หากเป็นดังที่ ดร.ธนวัฒน์ กล่าว ระบบการจัดการของประเทศไทยต่างหากที่เป็นตัวการ ดังนั้น วิถีทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนคงไม่พ้น ‘รื้อระบบ’ ซึ่งระบบที่จำเป็นต้องรื้อไม่ใช่ระบบราชการ หรือระบบการจัดการน้ำที่ภาครัฐทำเท่านั้น ทุกส่วน ทุกคน ล้วนเป็นฟันเฟืองหนึ่งของระบบที่ผิดพลาดทั้งสิ้น

            “เราก็อยากมีบ้านราคาถูกๆ หลังใหญ่ๆ ก็ไปอยู่ในพื้นที่ที่น้ำอยู่ ผู้ประกอบการก็อยากจะซื้อที่ถูกๆ ทำบ้านจัดสรรขายได้กำไรเยอะๆ นักพัฒนาอุตสาหกรรมก็อยากจะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมซื้อราคาถูกๆ ขายให้ต่างชาติแพงๆ ได้กำไรเยอะๆ โดยไม่คำนึงว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่น้ำอยู่ เคยน้ำท่วม มีความเสี่ยงมาก ทุกคนมีส่วนหมดแม้กระทั่งเราก็มีส่วน ที่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกการตลาด ถ้าเราไม่ซื้อเขาก็ทำขายไม่ได้ อย่าไปโทษใคร พวกเราก็มีส่วน แล้วระบบมันผิด ไม่ได้ผิดเฉพาะเรื่องบริหารจัดการน้ำ ผิดผังเมือง ผิดหลายๆ ตัวทั้งหมด”

            “ตอนนี้ถูกไปแล้วหนึ่งบท เหลืออีกสองบท ซึ่งก็ไม่อยากให้มันถูกนะ ถูกแล้วมันก็เกิดความเสียหาย สองบทนี่ กล่าวถึงพายุใหญ่ที่จะทำให้กรุงเทพฯ จมน้ำอีก เป็นข้อมูลที่ผ่านมา น้ำท่วมครั้งใหญ่ๆ อย่าง พ.ศ.2485 และหลายๆ ครั้งเกี่ยวพันกับพายุทั้งนั้น แม้กระทั่งน้ำท่วมปี 2526, 2533, 2538 ก็เกี่ยวกับพายุ เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าไว้ใจไม่ได้ ถ้าเจอน้ำท่วมใหญ่ๆ ตอนนั้นภาพที่ผมคิดว่าจะเห็นแบบนี้ น้ำท่วมใหญ่น่าจะเกิดจากพายุ ไม่น่าจะเป็นเพราะการบริหารจัดการที่ผิดพลาด แต่ในอนาคต ถ้าพายุเข้ามาก็เรียบร้อย ขออย่าให้ถูกนะ บทที่สาม เรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ก็กำลังเกิดขึ้นแล้ว”

            ยิ่งประเทศไทยมีแนวโน้มจะประสบพิบัติภัยมากขึ้น แนวทางป้องกันยิ่งต้องพัฒนาขึ้นด้วย มิเช่นนั้น เราอาจเห็นหายนะครั้งใหญ่บนแผ่นดินไทยอีกก็เป็นได้ ซึ่งตอนนี้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ก็เตรียมรับมือ แม้ผู้อำนวยการสถาบันจะไม่ได้ระบุว่าเป็นการรับมือกับอุทกภัย แต่เป็นการรับมือกับฤดูฝนเต็มรูปแบบ ด้วยหวังว่าคนกรุงจะสบายใจกันได้บ้าง

            “สำหรับฤดูฝนเดือนสิงหาคม สสนก.ได้ร่วมกับกรมฝนหลวง และการบินเกษตร จัดทำ composite radar คือใช้เรดาร์ของกรมฝนหลวงคาดการณ์ปริมาณฝนล่วงหน้า 3 ชั่วโมง แล้วส่งผลให้สำนักการระบายน้ำ เพื่อเตรียมการรับมือได้ชัดเจน ซึ่งจะเน้นช่วยเหลือได้ทั้งกรงเทพฯ และปริมณฑล เรดาร์มีรัศมี 120-240 กิโลเมตร ก็ครอบคลุม”

            ไล่เรียงตั้งแต่เหนือจรดใต้ ที่น้ำกำลังไหลบ่า บางที่รอด บางที่ไม่รอด ปฏิเสธไม่ได้ว่ารอบเวลาของปรากฏการณ์เอลนีโญกับลานีญาจะถูกพูดถึงเพราะเป็นสาเหตุหนึ่งของวัฏจักร ‘แล้ง’ หรือ ‘ท่วม’ ดร.ธนวัฒน์อธิบายว่าปกติเอลนีโญจะเฉลี่ย 3 ปี ต่อครั้ง ส่วนลานีญา เฉลี่ย 4.6 ปีต่อครั้ง แต่พบว่าทุก 20 ปีที่ผ่านมา เอลนีโญกับลานีญาเกิดถี่ขึ้น เอลนีโญเหลือประมาณ 1.6 ปี ต่อครั้ง ลานีญาเหลือ 2.6 ปี ต่อครั้ง

            ทั้งเอลนีโญและลานีญาส่งผลให้พื้นที่ส่วนหนึ่งแห้งแล้ง และอีกส่วนหนึ่งชุ่มชื้นเกินกว่าปกติจนเกิดอุทกภัย เพียงแต่สลับพื้นที่กัน เอลนีโญทำให้พื้นที่ตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเกิดอุทกภัย ส่วนลานีญาทำให้พื้นที่ตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเกิดอุทกภัย

          “ตอนนี้เป็นเอลนีโญอ่อนๆ ถือว่าปกติ แต่แนวโน้มปีหน้าจะลงสู่ลานีญาแรง ซึ่งสภาพตอนนี้เราคล้ายๆ ปี 2553 ปีหน้าสิของจริง!” ดร.ธนวัฒน์ ย้ำเตือนทิ้งท้าย

หมายเหตุ : ภาพประกอบจากเหตุการณ์อุทกภัยปี 2554