ไลน์ผนึกสหกรณ์แท็กซี่ผุดแอพเรียกรถเปิดใช้ปลายปี60

ไลน์ผนึกสหกรณ์แท็กซี่ผุดแอพเรียกรถเปิดใช้ปลายปี60

“ไลน์"จับมือ “เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพฯ” ร่วมมือพัฒนาบริการเรียกแท็กซี่ “ไลน์ แท็กซี่” หวังเพิ่มทางเลือกใช้บริการ อุดช่องว่างปัญหาเรียกรถ-แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยการ เพิ่มรายได้ผู้ขับ เฟสแรกเริ่ม 2-3 หมื่นคัน คาดเริ่มให้บริการปลปายปี60

นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ ไลน์ ประเทศไทย เปิดเผยว่าได้ร่วมมือกับเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพมหานคร ลงนามเซ็นสัญญาร่วมพัฒนาบริการเรียกรถแท็กซี่ “ไลน์ แท็กซี่” หรือ “ไทยแท็กซี่ 4.0” ในประเทศไทย คาดจะให้บริการได้อย่างเป็นทางการช่วงปลายปี 2560

“ไลน์แท็กซี่”มีเป้าหมายยกระดับการให้บริการแท็กซี่บนดิจิทัล รวมทั้งเข้าไปอุดช่องว่างปัญหาผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่หายากช่วงเวลาเร่งด่วน ประสบการณ์ที่ไม่ดี และความปลอดภัยโดยเฉพาะสุภาพสตรี และยกระดับการให้บริการและคุณภาพชีวิตของผู้ขับ

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาบริการรวมถึงพูดคุยกับคนขับและผู้บริโภคว่าต้องการอะไร เพื่อจะได้ตอบโจทย์ทุกฝ่ายและให้ใช้งานง่ายมากที่สุด

“ด้านบิซิเนสโมเดล โครงสร้างราคาหรือค่าบริการยังไม่สรุป แต่ต้องดึงดูดให้ผู้บริโภคมาใช้ กลไกสำคัญหากยิ่งมีผู้ใช้และคนขับจำนวนมากยิ่งมีการเฉลี่ยค่าใช้จ่าย และหากสมเหตุสมผล ไม่สูงจนเกินไปคนย่อมสนใจ”

สำหรับไลน์ แท็กซี่ เป็นบริการลำดับที่ 5 ภายใต้การดำเนินงานของ“ไลน์แมน” โดยรวมยังไม่หวังรายได้และไม่นำปัจจัยดังกล่าวมาทำให้เกิดข้อจำกัดการพัฒนา โดยต้องการปั้นฐานผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุดก่อน

ไลน์จะนำความแข็งแกร่งของแบรนด์ไลน์ ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานครอบคลุมมากกว่า 90% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือในประเทศไทย 44 ล้านราย มาใช้เป็นจุดต่างรูปแบบการใช้ที่ง่าย สำหรับฝั่งผู้โดยสารและคนขับแท็กซี่

“ทุกวันนี้มีบริการแอพเรียกแท็กซี่อยู่หลายรายแต่ยังไม่แพร่หลาย และยังไม่สามารถแก้ปัญหาผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง ไลน์หวังเป็นอีกหนึ่งทางเลือก หากใช้งานง่าย ช่วยเพิ่มรายได้ให้คนขับได้จริงน่าเชื่อว่าจะมีผู้สนใจใช้งานจำนวนมาก”

นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานกรรมการสหกรณ์แท็กซี่สยาม จำกัด และประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าปัจจุบันจำนวนแท็กซี่ในกรุงเทพฯ มีอยู่ราว 9 หมื่นคัน ในเครือข่ายมีอยู่กว่า 60,000 ราย หรือคิดเป็น 60% ของจำนวนแท็กซี่ที่ให้บริการทั้งหมดในกรุงเทพฯ

เมื่อเปิดให้บริการมีแท็กซี่ในเครือข่ายสนใจใช้งาน 2-3 หมื่นราย หลังจากนั้นจะขยายต่อไปยังกลุ่มอื่นๆ ต่อไป รวมถึงประชาสัมพันธ์กับแท็กซี่ส่วนบุคคล ภายใน 1-2 ปี  จะเกิดการรับรู้เปรียบเทียบและหากรายได้ตอบสนองได้จริง เป็นไปได้ที่แท็กซี่ทั้งหมดจะเข้ามาใช้งาน เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งช่วยผลักดันให้รายได้เพิ่มขึ้น จากทั้งค่าโดยสารและค่าเรียกบริการ

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงความคืบหน้าปัญหาแกร็บและอูเบอร์ว่า อยู่ระหว่างให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษา โดยทางกรมฯ ไม่ได้ปิดกั้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย คาดว่าน่าจะได้เห็นความคืบหน้าภายในเดือนก.ย. หรือ ต.ค.นี้