สั่งระงับ! สร้างบ้านหรูริมถนนอ่าวเสน จี้รื้อให้ตรงแบบ30วัน

สั่งระงับ! สร้างบ้านหรูริมถนนอ่าวเสน จี้รื้อให้ตรงแบบ30วัน

สั่งระงับก่อสร้างทั้งหมด และสั่งรื้อถอนสิ่งที่ไม่มีในแบบภายใน 30 วัน!! หลังทต.ราไวย์พร้อมทสจ.-ทหารลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารบ้านพักหรู บริเวณถนนอ่าวเสน-แหลมกระทิง อ.เมืองภูเก็ต พบขออนุญาตถูกต้องแต่สร้างผิดแบบ

(31 ก.ค.2560) ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นาวาเอก บวร พรมแก้วงาม รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายเกษม สุขวารี ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต, พ.ท.สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม รอง ผบ.ร.25 พัน 2 มทบ.44, นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์, นายธนะกัญจน์ ธโนปจัยรัตน์ นายช่างรังวัดชำนาญงาน สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต, นายสมทรง แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการกองช่าง เทศบาลตำบลราไวย์, เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง, เจ้าหน้าที่ป่าไม้ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ภก. 2 (ภูเก็ต) ตลอดจนกำนันผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาฯ ในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการประชุมหารือและติดตามข้อเท็จจริง

กรณีสื่อโซเซียลได้แชร์ภาพและข้อความการก่อสร้างอาคารบ้านพักหรูบริเวณริมถนนสายอ่าวเสน - แหลมกระทิง ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต ว่ามีการขออนุญาตการก่อสร้างได้อย่างไร จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากมองว่าบริเวณดังกล่าวไม่น่าจะก่อสร้างอาคารได้ เพราะมีลักษณะเป็นที่ลาดริมทะเล และอาคารดังกล่าวก็บดบังทัศนียภาพอันสวยงามของทะเล

ทางเทศบาลราไวย์ ได้ชี้แจงรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับที่มาของการอนุญาตก่อสร้างอาคารดังกล่าว ซึ่งทางเทศบาลตำบลราไวย์ชี้แจงว่า มีการอนุญาตถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย และตรวจสอบเบื้องต้นแล้วไม่ขัดต่อกฎหมายทั้งพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องพิจารณาโซนที่ตั้ง ซึ่งอยู่ในโซนที่ 2 และความลาดชันไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด คือ 80 เมตร ซึ่งก่อนยื่นขออนุญาตเจ้าของอาคารได้นำหลักฐานต่างๆ มาหารือกับทางกองช่างเทศบาลฯ

จากนั้นจึงนำแบบมายื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 จำนวน 4 หลัง และใช้หลักฐานโฉนดที่ดินเลขที่ 96799 ได้มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างไปเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 สิ้นสุดวันที่ 19 สิงหาคม 2560

และภายหลังที่มีการนำเสนอข่าวออกไปนายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ก็ได้สั่งการให้กองช่างฯ ไปตรวจสอบการก่อสร้าง และพบว่ามีบางส่วนที่ไม่เป็นไปตามแบบที่ขออนุญาต จึงได้มีการสั่งให้นำประกาศของเทศบาลฯ ไปติดเพื่อให้เจ้าของอาคารยุติการก่อสร้างไว้ก่อน เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง และส่วนใดที่ไม่เป็นไปตามแบบที่ยื่นขอไว้ต้องให้รื้อออก และจะได้มีการปิดประกาศเจ้าพนักงานฯ ให้หยุดดำเนินการก่อสร้างไว้ก่อน ตั้งแต่วันนี้ (31 ก.ค.60 ) เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการแก้ไขแบบให้เป็นไปตามที่อนุญาต

หลังจากที่มีการชี้แจงรายละเอียดต่างๆ แล้วทางหน่วยงานทั้งหมดได้ลงตรวจสอบข้อเท็จจริงบริเวณพื้นที่ที่มีการก่อสร้างอาคารบ้านพักดังกล่าว ซึ่งพบว่า มีบางส่วนที่ก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบที่ยื่นไว้ เช่น การสร้างหลังคาที่จอดรถ สระว่ายน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ตก็ได้มีการตรวจค่าพิกัดความลาดชันของพื้นที่ว่า อยู่ในโซนใดกันแน่ เพราะแม้พื้นที่ดังกล่าวจะมีเอกสารถูกต้อง แต่จะต้องมาพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมว่า อยู่ในโซน 1 หรือโซนที่ 2 ซึ่งสามารถก่อสร้างอาคารได้ แต่จะมีการกำหนดในเรื่องของความสูงอาคารที่แตกต่างกันในแต่ละโซนตามประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ

นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ กล่าวว่า หลังจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า อาคารทั้ง 4 หลังที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง มีบางส่วนที่มีการก่อสร้างเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 บริเวณที่มีการก่อสร้างนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่สามารถปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องได้ โดยเบื้องต้นจะสั่งระงับการก่อสร้างทั้งหมดก่อน และ ให้ทางเจ้าของอาคารดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามแบบที่ยื่นต่อเทศบาลฯ ให้ถูกต้อง กับ ส่วนที่ 2 พบว่ามีอาคารบางหลังที่ก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบที่ได้รับอนุญาต และไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องได้ ซึ่งเทศบาลฯ จะทำการปิดประกาศเจ้าพนักงานให้ทำการรื้อถอนภายใน 30 วัน

ทางด้านนายเกษม สุขวารี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในการตรวจสอบนั้นจะดูว่า พื้นที่ที่มีการอนุญาตก่อสร้างโดยเทศบาลตำบลราไวย์ ดำเนินการถูกต้องตามประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต หรือไม่ เนื่องจากกรณีนี้เป็นการขออนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบ แต่เนื่องจากจังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในการพิจารณาจะต้องนำประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ มาบังคับใช้ด้วย เพราะพื้นที่ก่อสร้างอยู่ติดบริเวณทะเล ซึ่งในประกาศฉบับนี้ ได้แบ่งพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ตออกเป็น 9 บริเวณ ในแต่ละบริเวณจะมีข้อกำหนดเรื่องความสูงของอาคาร ระยะถอยร่น แต่ละบริเวณแตกต่างกัน ซึ่งพื้นที่นี้ ทางเทศบาลฯ ชี้แจงว่าเป็นบริเวณที่ 2 ตามประกาศได้กำหนดไว้ว่า สามารถก่อสร้างอาคารได้สูงไม่เกิน 12 เมตร แต่หากเป็นบริเวณที่ 1 สามารถสร้างอาคารสูงได้ไม่เกิน 6 เมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่ฯ ได้จับค่าพิกัด GPS ไว้ทั้งหมดแล้ว เพื่อนำไปลงในแผนที่และตรวจสอบว่าบริเวณก่อสร้างนี้อยู่ในบริเวณใดกันแน่ เบื้องต้นจากการตรวจสอบการก่อสร้างอาคารทั้ง 4 หลัง มีการก่อสร้างเชื่อมเป็นอาคารเดียวกัน ซึ่งถือว่าผิดแบบการก่อสร้างจากที่ขออนุญาตที่ระบุว่า ขออนุญาตอาคาร 4 หลัง เบื้องต้นจึงยังไม่สามารถสรุปได้ต้องรอผลของการจับพิกัดก่อน

ขณะที่นายธนะกัญจน์ ธโนปจัยรัตน์ นายช่างรังวัดชำนาญงาน สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า จากการตรวจสอบตำแหน่งที่ดินกับพื้นที่การก่อสร้าง พบว่าตรงกับตำแหน่งของโฉนดที่ดินของผู้ครอบครอง เลขที่ 113311 เนื้อที่ 1 ไร่เศษ โดยแบ่งแยกมาจากโฉนดแปลงใหญ่เลขที่ 96799 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2559

ส่วนของนายอนันต์ จันมาส ผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของอาคารฯ กล่าวว่า ก่อนที่จะก่อสร้างได้มีปรึกษาและนำหลักฐานต่างๆ ไปยื่นกับทางเทศบาลตำบลราไวย์ตามขั้นตอนทุกอย่าง โดยที่ดินก็มีเอกสารสิทธิถูกต้อง ทางเจ้าของตั้งใจที่จะก่อสร้างเป็นบ้านพักอาศัย ซึ่งเมื่อได้รับอนุญาตก็ลงมือก่อสร้าง ส่วนที่มีการตรวจสอบพบว่าผิดแบบแปลนนั้น ก็พร้อมที่จะดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง เพราะบางอย่างทำไปเพราะไม่ทราบ เช่น กรณีหลังคาที่จอดรถ เป็นต้น ส่วนกรณีที่เป็นข่าวนั้นก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไร เพราะเราสร้างบ้านพักอาศัย และมีการดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง หากส่วนไหนผิดพลาดก็พร้อมที่จะแก้ไข ซึ่งอาคารทั้ง 4 หลังใช้งบก่อสร้างประมาณ 20 ล้านบาท