เบื้องหลังภาคสนาม ...ถึงสกลนคร “จมน้ำ”

เบื้องหลังภาคสนาม ...ถึงสกลนคร “จมน้ำ”

บทบันทึกเบื้องหลังรายงานเหตุน้ำท่วมอีสานผ่านสายตา "สื่อมวลชน" ที่เป็นตัวกลางประสานข้อมูล และความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ให้สังคมได้รับรู้

วันนี้ ถึงจะเป็นวันที่ 3 แล้ว ของเหตุการณ์น้ำท่วม จ. สกลนคร แต่ทีมข่าว "ล่าความจริง" ยังคงปักหลักเกาะติดสถานการณ์ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของพี่น้องดินแดนพระธาตุเชิงชุม 

เพราะหลังจากเหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2516 พี่น้องเราก็ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดแบบนี้ซ้ำขึ้นอีก! 

ทีมข่าวเดินทางมาที่นี่ ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม เพื่อเจาะลึกเรื่องความขัดแย้งกรณีการสำรวจเหมืองแร่โปแตซ และการก่อสร้างโรงน้ำตาล ใน อ.วานรนิวาส ที่ยังเป็นข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับบริษัทที่ได้รับสัมปทาน โดยมีฝนตกลงมาอยู่ตลอดการเดินทาง

จนกระทั่งเช้าวันที่ 28 กรกฎาคม สัญญาณความผิดปกติก็เกิดขึ้น!!!

เมื่อฝนที่ตกกระหน่ำไม่ขาดสายได้เทลงมาคล้ายฟ้าจะแตก จนช่วงเวลาประมาณ 12.00 น.ระดับน้ำเริ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทีมข่าวสังเกตเห็นระดับที่ท่วมพื้นผิวถนนเริ่มท่วมขึ้นมาถึงล้อรถข่าว เราจึงไปเลื่อนรถขึ้นมายังลานจอดรถโรงแรมที่เป็นพื้นที่สูงกว่าถนน

แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนแตะที่ระดับ 50 เซนติเมตร ทีมข่าวไม่สามารถออกไปสำรวจพื้นที่โดยรอบได้ เราจึงสอบถามไปทางสำนักข่าวเพื่อขอลงพื้นที่เก็บภาพด้วยวิธีการ “เดินลุยน้ำ” ไป

หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ ตั้งแต่ ทางโรงแรมแจ้งว่าไม่สามารถให้บริการอาหารได้ เนื่องจากน้ำเริ่มทะลักเข้ามาในครัว

หลังจากนั้นระดับก็เริ่มทยอยเพิ่มสูงขึ้นอีกจนไปแตะที่ระดับ 70 เซนติเมตร น้ำเริ่มไหลเข้ามายังชั้น 1 ซึ่งเป็นล็อบบี้และห้องอาหารของโรงแรม 

รถยนต์ที่จอดบริเวณหน้าโรงแรมถูน้ำท่วมจนมิดล้อ บางคันถูกน้ำทะลักเข้าไปในรถ

ทีมข่าวสำรวจพื้นที่ต่อไป โดยเราเลือกไปที่โรงพยาบาลสกลนคร เนื่องจากเป็นจุดสำคัญ เพราะมีผู้ป่วยเข้าทำการรักษาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับข้อมูลที่แจ้งว่า ทางโรงพยาบาลต้องการขอบริจาคน้ำมันดีเซลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงกับเครื่องปั่นไฟสำรอง สถานการณ์ก็ถือว่ายังไม่รุนแรงมากนัก ทางโรงพยาบาลยังให้บริการกับผู้ป่วยได้ตามปกติ

แต่สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตได้ก็คือ มีชาวบ้านหลายคนเดินลุยน้ำเพื่อมุ่งหน้าที่โรงพยาบาล

"ป้าครับ ไปโรงพยาบาลเหรอ ไม่สบายเหรอครับ" ทีมข่าวสอบถามหญิงชราวัย 50 ปีเศษที่เดินฝ่ากระแสน้ำมาเพียงลำพัง

"ป่าวลูก แม่สิไปนอนที่โรงพยาบาล เพราะที่บ้านน้ำท่วมหมดแล้ว"

ถึงจะรู้ว่า 3 กิโลเมตรในชุมชนแออัดที่แกจากมาจะเป็นความหดหู่ของวินาทีนั้น แต่มันเป็นคำตอบที่สะท้อนความรู้สึก และบอกเล่าสถานการณ์ที่ชาวสกลนครต้องเจอได้อย่างหมดจด

หลังจากเดินไปส่งป้าที่โรงพยาบาล สังเกตว่าสายไหลที่ไหลผ่านมาเริ่มมีความแรง และไหลเชี่ยวเพิ่มขึ้นพอสมควร โดยระหว่างที่ยืนรายงานข่าวนั้น จะต้องคอยเกร็งตัวต้านแรงดันของน้ำที่ถาโถมเข้ามาตลอดเวลา 

นอกจากที่พักอาศัย กระแสไฟฟ้า “ปากท้อง” กลายเป็นอีกความเดือดร้อนที่เพิ่มขึ้นมาทันที ร้านค้าหลายร้านข้าวของเริ่มขาดเพราะถูก “รุมทึ้ง” ไปกักตุนไว้รอรับน้ำ

มันจึงเป็นห้วงเวลาของชีวิต และการเอาตัวรอดอย่างแท้จริง

เราลงพื้นที่เก็บภาพถึงช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนเศษๆ แต่สายฝนก็โปรยปรายลงมาอย่างไม่ขาดสาย 

ค่ำนั้น ในใจเราก็คงเหมือนใครหลายๆ คนที่ต้องเผชิญกับน้ำ ได้แต่ขอให้ฝนหยุดตก เพราะไม่อยากให้ระดับน้ำ “สูงไปกว่านี้” แล้ว 

รุ่งขึ้น ดูจะมีเรื่องดีๆ อยู่บ้าง เมื่อเราพบว่า ระดับน้ำลดลงเล็กน้อย ทีมข่าวจึงตัดสินใจออกมาหาที่พักใหม่ เพราะตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ไฟฟ้าในโรงแรมดับสนิท และเราก็มีเพียงขนมขบเคี้ยวที่พอหาซื้อได้ก่อนหน้านี้ประทังให้พอมีแรงเท่านั้น 

สำหรับการช่วยเหลือประชาชนของทางภาครัฐ เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงบ่ายของเมื่อวาน เรียกได้ว่าค่อนข้างรวดเร็ว โดยมีทหารเข้ามาช่วยเหลือเป็นหน่วยแรก และหน่วยงานอื่นก็ค่อยๆ ทยอยเข้ามาในช่วงเย็นถึงดึก ตลอดทั้งคืนจนถึงช่วงเช้า

ภาพ : กอบภัค พรหมเรขา

สิ่งหนึ่งที่ทีมข่าวมองเห็น ผ่านเหตุน้ำท่วมใหญ่สกลนครครั้งนี้ อาจเป็นความชะล่าใจที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินสถานการณ์ความเร็วของน้ำผิดไปหรือไม่

เนื่องจากที่ผ่านมา สกลนครแทบจะไม่เคยเกิดน้ำท่วม!

ประกอบกับสภาพภูมิประเทศในบางจุดเป็นที่ลุ่ม บางแห่งเป็นที่สูง น้ำที่ไหลมาเร็วจึงท่วมหนักในบางจุด และบางจุดไม่ท่วมเลย

จุดอ่อนของการเตือนภัยจึงกลายมาเป็น “แผลใหญ่” ที่ทำให้พี่น้องสกลนครเดือดร้อนจากมวลน้ำมหาศาลที่ทะลักเข้ามาจากทุกทิศทุกทาง

แน่นอนว่า ภัยพิบัติจากธรรมชาติเป็นเรื่องยากที่จะป้องกัน แต่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบอย่างรวดเร็ว น่าจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ

รวมถึงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะต้องพิจารณาและทำการบ้านเพิ่มขึ้น เพื่อคืนความสุขให้กับประชาชนในเหตุวิกฤตครั้งนี้ด้วย

เรื่อง : อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์

ภาพ : สุรเดช พลอยมุข

ภาพมุมสูง : กอบภัค พรหมเรขา