ตอบทุกโจทย์นายหน้าอสังหาฯ ‘FindYourSpace’

ตอบทุกโจทย์นายหน้าอสังหาฯ  ‘FindYourSpace’

ความตั้งใจแรกจะเป็นเว็บไซต์ให้คนทั่วไปใช้ค้นหาบ้าน ผู้ร่วมก่อตั้ง “Jostein Aksnes” (โจสไตน์ อาคส์เนส) ซีอีโอและ “สัมพันธ์ พจนโสภณากุล” ซีทีโอ จึงใช้ชื่อแบรนด์ว่า “FindYourSpace” (ไฟด์ยัวร์สเปซ) ซึ่งน่าจะสื่อถึงธุรกิจที่ทำได้ตรงมากที่สุด

แต่ทำไปทำมากลับพบว่าบริษัทนายหน้า โบรกเกอร์ หรือเอเยนต์ต่างๆ ยังขาดระบบบริหารจัดการหลังบ้านที่ดี กระทั่งมีการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจทำระบบที่ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ ยอมรับว่าไฟด์ยัวร์สเปซในอนาคตก็อาจต้องมีการรีแบรนด์กันใหม่


รวมถึงเดิมทีไฟด์ยัวร์สเปซก็ไปจดทะเบียนตั้งบริษัทที่ต่างประเทศตามสไตล์ของสตาร์ทอัพที่มองไกลว่าจะเอื้อไปถึงชอตการขยายตัวไปต่างประเทศ แต่สุดท้ายต้องก็มาตั้งบริษัทในประเทศไทย ทั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการจ่ายค่าบริการให้กับลูกค้าที่ส่วนใหญ่แล้วยังนิยมโอนเงิน หรือเขียนเช็คให้ เพราะยังไม่วางใจกับการจ่ายผ่านระบบออนไลน์


สัมพันธ์เล่าว่า ย้อนกลับไปเมื่อสามปีที่ผ่านมา แนวคิดไฟด์ยัวร์สเปซเกิดจากปัญหาที่ โจสไตน์ อาคส์เนส ซึ่งเป็นชาวนอร์เวย์และต้องเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องประสบพบเจอ คือไม่สามารถค้นหาที่พักในเมืองไทยได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทันใจ เลยปิ๊งไอเดียและได้ชักชวนเขาซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานมาร่วมกันพัฒนาเว็บไซต์ให้มีระบบที่ดี มีประสิทธิภาพกว่าที่มีอยู่ในท้องตลาด


"พอเราเริ่มไปติดต่อลูกค้าที่เป็นนายหน้า โบรคเกอร์ เพื่อไปขอข้อมูลที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เขาต้องการจะประกาศเช่าหรือขายเอามาลงในเว็บของเรา แล้วให้คนได้เข้ามาเสิร์ซหาเพื่อเช่า เพื่อซื้อกัน ซึ่งทุกรายต่างก็ยินดีให้ข้อมูลเพราะเราลงให้ฟรี ๆไม่คิดตังค์ แต่ก็พบว่าข้อมูลส่วนใหญ่ที่ได้มาเป็นกระดาษ เป็นไฟล์เอ็กเซล หรือเวิร์ด มันเลยลำบากที่จะแปลงข้อมูลเอามาลงในเว็บของเราอีกที เพราะข้อมูลของนายหน้าบางรายมีมากเป็น 4-5 พันรายการ"


โชคดีที่พอคิดเปลี่ยนคอนเซ็ปต์เปลี่ยนกลุ่มทาร์เก็ตเป็นนายหน้า พวกเขาก็ได้ลูกค้ารายแรกเป็น “รีแมกซ์” แฟรนไชส์อสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากอเมริกาที่ขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทย


"ตอนนั้นเขามองหาระบบบริหารจัดการสำหรับแฟรนไชส์ของเขา เพราะระบบของเขาบางอย่างมันไม่โลคัลไรซ์สำหรับประเทศไทย เขาเลยตกลงมาเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา คือเป็นลูกค้าด้วยและยังช่วยมาไกด์ มาให้คำปรึกษาเกี่ยวกับด้านอสังหาฯ รวมถึงระบบที่ธุรกิจนี้มีความต้องการใช้ เพราะเราเองไม่ได้อยู่ในธุรกิจนี้มาก่อน มีข้อจำกัด"


เมื่อให้อธิบายการทำงานของระบบ สัมพันธ์บอกว่า ระบบของไฟด์ยัวร์สเปซสามารถจัดการข้อมูลรายการอสังหาฯ ให้นายหน้าหรือโบรคเกอร์อัพโหลดรูปภาพและจำแนกว่าบ้านหรือสินค้าตั้งอยู่ที่ไหน มีขนาดเป็นอย่างไร มีกี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ อัพโหลดรูปภาพไว้ในที่เดียวกัน และสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา


"เมื่ออัพโหลดข้อมูลแล้วเวลาที่เขามีลูกค้าติดต่อว่าอยากได้คอนโดย่านอโศก ที่มีสองห้องนอนขึ้นไป ราคาเช่าเดือนละ 6 หมื่นบาทแต่ไม่เกิน 8 หมื่นบาท เขาก็สามารถใช้ระบบเสิร์ซของเราค้นว่าบริษัทของเขามีสินค้าในมือมีตัวไหนที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าบ้าง และด้วยระบบเป็นออนไลน์ เขาก็สามารถแชร์ผ่านเฟซบุ๊คหรือส่งอีเมลให้ลูกค้าดูได้ทันทีว่าสนใจสินค้ารายการนี้หรือไม่"


ซึ่งจะต่างไปจากยุคที่เป็นออฟไลน์ที่มีความยุ่งยาก ต้องทำหลายขั้นตอน คือกว่านายหน้า โบรคเกอร์ หรือเอเยนต์จะค้นเจอรายการบ้านที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าเจอ และกว่าจะต้องจัดทำเป็นเอกสารเพื่อส่งให้ลูกค้าดู ฯลฯ


"หากรายการสินค้าที่เขามียังไม่แมตซ์ตรงกับความต้องการของลูกค้า เขาก็สามารถเสิร์ซข้อมูลรายการของตัวแทนรายอื่นๆที่อยู่ในระบบของเราได้อีกด้วย เพื่อหารายการที่ตรงและก็ขอร่วมเป็นตัวแทน ร่วมแชร์ค่าคอมมิชชั่นกันกับตัวแทนรายอื่น ๆได้ ซึ่งมันจะช่วยทำให้รายได้บริษัทของเขาเพิ่มมากยิ่งขึ้น"


ประการสำคัญ ไฟด์ยัวร์สเปซยังสามารถลิงค์ข้อมูลให้ไปอยู่บนเว็บไซต์ยักษ์ใหญ่อสังหาฯของไทย เช่นดีดี พร็อพเพอร์ตี้ ,ฮิพแฟลต และไทยแลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ อีกด้วย


“และเรายังช่วยเชื่อมไปที่เว็บอสังหาฯในประเทศจีน เพราะมีบริษัทนายหน้าบางรายก็มีความต้องการหาลูกค้าจีนด้วย ซึ่งเขาก็ไม่ต้องไปโพสต์ข้อมูลลงบนเว็บเอง เพียงแค่จัดการข้อมูลที่เราที่เดียว เราก็ช่วยจะซิงค์ข้อมูลไปให้ได้เลย”


ปัจจุบัน นายหน้า โบรคเกอร์ และเอเยนต์ที่อยู่บนระบบของไฟด์ยัวร์สเปซมีอยู่กว่า 30 ราย ซึ่งจะต้องจ่ายค่าบริการจัดการข้อมูลเป็นรายเดือนราคาเริ่มต้นที่เดือนละ 2 พัน


ถามว่ามีแผนพัฒนาระบบต่ออย่างไร สัมพันธ์บอกว่า กำลังพยายามทำให้แพลตฟอร์มมีความครอบคลุมการทำงานของลูกค้า สามารถมาทำงานบนระบบไฟด์ยัวร์สเปซเพียงที่เดียว


"ยกตัวอย่างเช่น เราจะให้เขาบริหารจัดการคอนแท็กลูกค้าของเขาจากแพลตฟอร์มของเราด้วย เราจะขอและพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลลูกค้าที่ติดต่อผ่านเขามาไว้ในระบบของเรา เพื่อเราจะนำมาวิเคราะห์และให้คำแนะนำเขาได้ ว่าลูกค้าของเขามีแนวโน้มจะสนใจอสังหาฯรูปแบบใด หรือมีแนวโน้มจะลงทุนอย่างไร"


ต้องบอกว่าไฟด์ยัวร์สเปซผ่านการระดมทุนในระดับ Seed Round มาแล้ว เบื้องต้นได้รับจากแองเจิ้ล ฟันด์ จากนั้นก็ได้เงินทุนของวีซีจากประเทศสิงคโปร์


“เราอยู่ในสเตทของการเติบโต เวลานี้เราก็มีการขยายทีมงานโดยเฉพาะทีมการตลาดและเซลล์”


“วิชิตา โขมรัตน์” ซึ่งเพิ่งเข้ามาร่วมทีมหมาดๆในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาดบอกว่า ในความเป็นจริงนั้นไฟด์ยัวร์สเปซยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ดังนั้นแผนที่เธอคิดว่าก็คือ จำเป็นต้องบิวด์แบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยหลักๆก็จะใช้โซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางในการสื่อสารกับผู้บริโภค


สัมพันธ์บอกว่า ความตั้งใจของเขากับโจสไตน์ อาคส์เนส ผู้ร่วมก่อตั้งไม่ได้ต้องการให้ธุรกิจเติบโตแบบรวดเร็วหวือหวา แต่มองเรื่องความยั่งยืน ค่อยเป็นค่อยไป


"แผนการเติบโตของเรามีสองด้าน หนึ่ง เราจะขยายฐานลูกค้าไปกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ และตลาดบีทูซีด้วย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของ ฟรีแลนซ์เอเย่นต์ สอง เรามีแผนจะเอาโซลูชั่นนี้ไปให้ลูกค้าต่างประเทศลองใช้ดู เรากำลังมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งทำธุรกิจ ทำเว็บแบบนี้อยู่แล้วในตลาดต่างประเทศเพื่อขอเป็นพารทเนอร์กับเขา ซึ่งทางรีแมกซ์เขาก็มีแผนไปเปิดธุรกิจในประเทศใกล้เคียงกับไทย เราก็จะผูกติดไปกับเขาด้วย ก็อยู่ในระหว่างพูดคุย"


ส่วนในเรื่องของการแข่งขัน เขามองว่า แน่นอนบริการที่มีอยู่อาจมีบางส่วนอาจมีไปเหมือนของธุรกิจบางราย แต่เชื่อว่าไฟด์ยัวร์สเปซน่าจะถือเป็นรายแรกที่ทำได้ครอบคลุมและครบวงจรกว่า


"ยังมองไม่เห็นมีคนที่ทำได้ครบอย่างเรา แต่ก็ได้ยินมาว่ามีคนพยายามทำแต่ก็ยังทำไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีใครครองส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างมีนัยยะสำคัญ เราก็คิดว่าคู่แข่งมีอยู่ แต่ยังมีโอกาสจะเข้าไปแย่งส่วนแบ่งการตลาดได้เยอะกว่า"


ที่มีความเชื่อมั่นอย่างนี้ก็เพราะไฟด์ยัวร์สเปซมีความโดดเด่นตรงเทคโนโลยีที่ค่อนข้างทันสมัย ล้ำยุค ทุกอย่างสร้างอยู่บนคลาวด์เซอร์วิสที่รองรับการเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี