หนี้เสีย ‘นาโนไฟแนนซ์’ พุ่ง

หนี้เสีย ‘นาโนไฟแนนซ์’ พุ่ง

"หนี้เสีย" นาโนไฟแนนซ์พุ่ง ผู้ประกอบการเร่งปรับโมเดลธุรกิจ อยุธยาแคปปิตอล ชูกลยุทธ์คืนเงินลูกค้าวินัยดี

ผู้ประกอบการ “นาโนไฟแนนซ์” เร่งปรับโมเดลธุรกิจ หลังพบหนี้เสียพุ่ง “ศรีสวัสดิ์” สั่งคุมเอ็นพีแอลไม่เกิน 10% เน้นเช็กประวัติลูกค้า ด้าน “อยุธยาแคปปิตอล” ชูกลยุทธ์คืนเงินลูกค้าวินัยดี ส่วนหนี้เสียแตะ 7% ขณะ “แมคคาเล” ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปีนี้ 50 ล้าน ยอมรับเอ็นพีแอลพุ่งแตะ 10-20% เผยผู้ประกอบการบางรายยอดเบี้ยวหนี้เกิน 50%

ภายหลังกระทรวงการคลัง เปิดให้ผู้ประกอบการขอใบอนุญาตเพื่อทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพ(นาโนไฟแนนซ์) โดยกำหนดวงเงินปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 100,000 บาท ต่อราย และกำหนดอัตราดอกเบี้ยปรับ และค่าดำเนินการรวมไม่เกิน 36% ต่อปี ล่าสุดดูเหมือนยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนัก โดยมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ค่อนข้างสูง

นางสาวธิดา แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทยังพยายามปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เพื่อดูแลลูกค้าให้ได้มากขึ้น โดยยังพยายามปรับโมเดลให้สอดคล้องกับธุรกิจและ หาช่องทางปล่อยสินเชื่อที่เหมาะสม

เนื่องจากสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เป็นการกู้ไม่มีหลักประกัน โอกาสเกิดหนี้เสียจะสูงกว่าสินเชื่อปกติ บริษัทจึงต้องพยายามคุมหนี้เสียไว้ไม่เกิน10% ทำให้การขยายสินเชื่อดังกล่าวยังค่อยเป็นค่อยไป เพราะต้องรู้จักประวัติลูกค้าก่อน หากมีปัญหาสามารถติดตามทวงหนี้ได้ง่าย

"หลังจากไตรมาส 3 ปีก่อน บริษัทได้กลับมาปล่อยสินเชื่อดังกล่าวมากขึ้นจนถึงตอนนี้ก็ปล่อยแต่ไม่ได้เร่ง ซึ่งคุณภาพหนี้ดีขึ้น วงเงินสินเชื่อเฉลี่ยต่อราย 7,000-8,000 บาท เป็นยอดปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์แล้วประมาณ50-60ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเริ่มทำตลาดช่วง 2 ปีที่ผ่านมามียอดปล่อยกู้เพียง 5 ล้านบาท”

ในช่วงแรกยังพบหนี้เสียค่อนข้างสูง ทำให้ต้องระมัดระวังมาก แต่หลังจากนั้นบริษัทพยายามหารูปแบบที่เหมาะสมมาสนับสนุนตามนโยบายรัฐบาล และขณะนี้ก็อยู่ระหว่างศึกษาโมเดลใหม่ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้กับลูกค้าใหม่ด้วย

นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด กล่าวว่า บริษัทยังคงทดสอบตลาด และเรียนรู้ทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการรายย่อยอย่างต่อเนื่อง และต้องบริหารจัดการอย่างแตกต่าง เนื่องจากหนี้เสียมีแนวโน้มสูงขึ้นที่ 7%

ปัจจุบันบริษัทเริ่มใช้ข้อมูลลูกค้าที่เข้ามาสมัครทั้งหมด และวิเคราะห์เลือกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์มากขึ้น โดยยังคงใช้โมเดลปรับพฤติกรรมการชำระค่างวดที่มีวินัย ด้วยจุดเด่นผลิตภัณฑ์ คืนเงิน 10% ของยอดดอกเบี้ย เมื่อชำระตรง 6 เดือน

นายสมชาย โฆศิริมงคล บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ปีนี้ 50ล้านบาท โดยช่วง7เดือนมานี้ทำได้แล้ว20ล้านบาท และช่วงที่เหลือปีนี้ยังทำได้เข้าเป้า จากปีก่อนอยู่ที่ไม่เกิน10ล้านบาท

ปีนี้บริษัทได้ปรับรูปแบบการให้สินเชื่อ เป็นแบบรวมกลุ่มจาก5คนเหลือ2-3คน เพื่อลดหนี้เสีย แต่หากมีความจำเป็นต้องการเงินยังให้รวมกลุ่มที่ 5คนได้ รวมถึงขยายการติดต่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อผ่านสาขาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ขณะนี้เร่งขยายสาขาในต่างจังหวัดเพิ่มอีก50สาขาโดยเฉพาะในภาคอีสานจากปัจจุบันที่10สาขา

ทางด้านหนี้เสียสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ของบริษัท ปัจจุบันที่ 10-20% แต่จะปรับขึ้นไปสูงช่วงที่คนต้องใช้จ่ายมากเช่นช่วงเปิดเทอมหรือเทศกาลท่องเที่ยว ซึ่งบริษัทจะติดตามทวงหนี้กลับมาภายใน1-3เดือน สามารถลดการผิดนัดชำระจาก90วันเหลือ30-60วันได้ ทำให้คาดว่าสิ้นปีจะคุมหนี้เสียไว้ระดับนี้ได้จากทดลองทำตลาดช่วงแรกหนี้เสียสูง20-30% แต่ก็ยังต่ำกว่าบางรายที่พบว่ามีหนี้เสียสูงถึง50-70%

ปัจจุบันยอดอนุมัติสินเชื่อของบริษัทยังสูง 70% วงเงินสินเชื่อต่อราย 10,000-100,000 บาท มีสัดส่วนการอนุมัติวงเงินเต็ม 100,000 บาท ประมาณ20% แต่อย่างไรก็ตามหากภาครัฐสามารถช่วยเหลือ โดยผ่อนผันปล่อยสินเชื่อนี้กับผู้ที่มีหลักประกันหรือไม่มีก็ได้ จะทำให้คนที่เคยติดเครดิตบูโรแต่ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ซึ่งยังติดเครดิตบูโรอยู่ กลับมามีความสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อีกมาก