จากหมอเมืองถึงธรรมนูญสุขภาพ

จากหมอเมืองถึงธรรมนูญสุขภาพ

จากภูมิปัญญาโบราณถึงข้อตกลงสาธารณะว่าด้วยสุขภาพ...เมื่อร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมหลอมรวมเป็นเรื่องเดียวกัน

พิจารณาจากวันเดือนปีเกิด หมอเมืองท่านว่า ดวงชะตาผมตอนนี้คงตะกุกตะกักไปอีกระยะ แต่เชื่อเถอะไม่นานมันจะเข้าที่ ระหว่างนี้ควรเข้าวัดเคร่งครัดรักษาศีล พอจิตใจดีแล้วไอ้ที่โรยแรงจะฟื้นตัว

ส่วนอาการปวดล้าที่ค้างคามาเป็นปี หมอว่าให้บริหารร่างกายด้วยท่ายืดเส้นซึ่งสาธิตให้ดูสักครู่ จากนั้นต้องเลี่ยงกิริยาซ้ำๆ เป็นเวลานาน หากคิดปรับสมดุลร่างกายจริงๆ จังๆ เพราะวิถีการกินอันไร้แผนเริ่มส่งผลเสียถึงสุขภาพ จะลองเอาสมุนไพรไทย “รางจืด” ซึ่งมีสรรพคุณล้างพิษไปต้มดื่มดูก็คงเข้าท่า

ที่เก้าอี้นั่งพักข้างป้ายแผนกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลแม่สรวย จ.เชียงราย มนุษย์กรุงเทพอย่างผมประมวลคำสั่งหมอข้างต้นแล้วว่านี่ช่างเป็นเรื่องไม่คุ้นเคย กายภาพบำบัดหรือจะสู้ยาคลายกล้ามเนื้อ สมุนไพรหรือจะได้ผลเท่ายาพาราฯในร้านสะดวกซื้อ เราคุ้นชินกับการแพทย์ที่อธิบายความป่วยไข้คือการชำรุดของอวัยวะ...เพียงเท่านั้น?

ทว่า ภาพคุณลุงคนไข้ที่เพิ่งยิ้มออกหลังถูกตอกเส้น คุณน้าคนข้างๆ ซึ่งยอมนั่งรอเพื่อขอคุยกับหมออีกสักนิด นับไปถึงลูกประคบ กินอาหารตามธาตุ พิธีฮ้องขวัญ ฯลฯ และอีกสารพัดภูมิปัญญาว่าด้วยการดูแลสุขภาพซึ่งสืบต่อกันมา สิ่งที่ดำรงอยู่นี้บอกอะไรเราในโลกสมัยใหม่

หมอเมืองใช่แค่เรื่องหมอ

“หมอเมือง” ไม่ใช่แค่คำเรียกผู้รักษาคนไข้ แต่ใช้นิยามปราชญ์ชาวบ้านผู้สืบความรู้และภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ เน้นการรักษาสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Health) ที่มองว่าความไม่ปกติของร่างกายสัมพันธ์กันทั้งร่างกาย จิตใจ และสิ่งแวดล้อม

ในชุมชนล้านนา หมอเมืองคือสัญลักษณ์และเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์พื้นบ้านโบราณ ตัวอย่างจาก จ.เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่สืบสานและพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านไว้อย่างเหนียวแน่น มีการสร้างเครือข่ายกลไกสมัชชาสุขภาพในจังหวัด ส่งเสริมปลูกพืชสมุนไพร รวมถึงการขึ้นทะเบียนหมอเมือง ผู้ช่ำชองภูมิปัญญาโบราณว่าด้วยการแพทย์ ท่ามกลางโลกสมัยใหม่ที่การสืบค้นข้อมูลอาการป่วยเบื้องต้นเริ่มที่ www.google.com

“หมอเมืองพัฒนาและเชื่อมต่อกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้ เป็นที่ยอมรับและมีที่ยืนในสังคม ปัจจุบันนี้สภาหมอเมืองเชียงรายมีสมาชิก 670 คน ใน 18 ตำบล ดูแลสุขภาพคนในชุมชนทั้งที่บ้านหมอ บ้านผู้ป่วย หรือทำงานกับโรงพยาบาลชุมชน การแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน จึงเป็นทางเลือกของการรักษาคู่ขนานไปกับการแพทย์ปัจจุบัน” ดารณี อ่อนชมจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาการแพทย์แผนไทย สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.แม่ฟ้าหลวง ฉายภาพหมอเมืองในสังคมจ.เชียงราย และแถบภาคเหนือ

ย้ำเลยว่าหมอเมืองไม่ได้อยู่ตรงข้ามนายแพทย์ และวิธีการที่พวกเขาใช้ไม่ได้หักล้างกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่พวกเขาทำงานในมิติที่แพทย์ปัจจุบันอาจละเลยไป เป็นช่องว่างจากความรวดเร็วและปริมาณผู้ป่วย หมอเมืองเดินคู่ไปกับมิติชีวิต การกินและการอยู่ โดยจัดหมวดการรักษาได้หลักๆ 3 ทาง คือ 1.กายบำบัด เช่น นวด ตอกเส้น ประคบ ย่ำขาง 2.พิธีกรรมบำบัด ซึ่งว่าด้วยการสร้างขวัญกำลังใจ เช่น การฮ้องขวัญ ส่งเคราะห์ ดูดวงชะตา 3.อาหารบำบัด ซึ่งหมายถึงการกินอาหารให้ตรงกับธาตุเจ้าเรือน ถูกสุขลักษณะ ใช้สมุนไพร กินอาหารที่ตรงกับโรค

วิภารัตน์ ทัพขวา ประธานสภาหมอเมือง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ยกตัวอย่างว่า หากมีผู้ป่วยมารักษา เธอจะเริ่มที่การรับฟังแบบไร้เวลาจำกัดเพื่อให้ผู้ป่วยระบายออกมามากที่สุด จากนั้นจะพิจารณาหาสาเหตุว่ามีความผิดปกติใดเชื่อมต่อกับสภาพความเป็นอยู่ อาหารการกินหรือไม่ ก่อนบอกวิธีการแก้ไข

“ถ้าอยู่ใกล้กับขยะ บ้านเรือนสกปรก มันก็เป็นไปได้ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิแพ้ ระบบทางเดินหายใจ หรือถ้าปวดเมื่อยนั่นก็เพราะใช้ร่างกายหนัก ทำพฤติกรรมซ้ำๆ เป็นเวลานาน หลายกรณีมันดีขึ้นเพียงแก้พฤติกรรมที่เขามองข้ามไป บางทีเราไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือกินสมุนไพรด้วยซ้ำ เพียงแต่กินให้มันหลากหลาย ใช้ชีวิตสมดุล เราใส่ใจในทุกมิติ เป็นเพื่อน เป็นครอบครัว พูดคุยกันมากกว่าสั่งยา แล้วกลับมาดูผล”

ธวัชชัย ยอดแก้ว หมอเมืองสมุนไพร อายุ 69 ปี ซึ่งเปิดศูนย์รักษาที่บ้าน ใน ต.ป่าหุ่ง อ.พาน จ.เชียงราย บอกว่าเขาใช้เวลาทั้งชีวิตศึกษาการปรุงสมุนไพรที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ทั้งการคัดเลือกพืช การเลือกสถานที่ เลือกฤดูกาลเพาะปลูก และที่สำคัญคือต้องสะอาดไร้สารปนเปื้อน ทั้งนี้เพราะการได้สมุนไพรที่ดีล้วนมาจากการวางแผนแบบมีขั้นตอน เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับอานิสงส์จากพืชซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาอย่างเต็มที่

ภูมิปัญญาเก่าในโลกใหม่

ภาพหมอเมืองในชุดหม้อห้อมสีฟ้าซีดที่ตัดกับเครื่องแบบสีขาวของพยาบาล กระทั่งอยู่ท่ามกลางเสื้อหลากสีของคนไข้ เปรียบได้กับตัวแทนของภูมิปัญญาโบราณที่อยู่ในโลกการแพทย์สมัยใหม่

ใครบางคนเคยกล่าวไว้... ภูมิปัญญาที่ยังดำรงอยู่ย่อมหมายความว่าองค์ความรู้นั้นยังคงมีคุณค่าเกิดประโยชน์ ตรงข้ามกับความเชื่อบางประการที่ถูกศาสตร์ใหม่ลบล้างความน่าเชื่อถือ เพียงเพราะแค่เป็นสิ่งสืบทอดไร้ตรรกะ รั้งไว้แต่ความงมงาย

นพ.อริรุทธ์ หอเจริญ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สรวย โรงพยาบาลระดับอำเภอที่ได้มาตรฐาน HA (Hospital Accreditation) และเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่สนับสนุนการแพทย์พื้นบ้านล้านนา บอกว่า การผสมผสานระหว่างความรู้ระหว่างการแพทย์แบบใหม่และภูมิปัญญาโบราณคือทางเลือกที่ผู้ป่วยจะได้รับ ขณะที่โรงพยาบาลเองก็จะร่วมเติมเต็ม พัฒนาคุณภาพในเรื่องที่เกี่ยวข้อง อาทิ การแปรรูปสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน การใช้บรรจุภัณฑ์ ความสะอาดในขั้นตอนบำบัด การจัดสถานที่

“กว่าร้อยละ90 ของผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาแบบแพทย์พื้นบ้านมักมาจากโรคทางโครงร่างกาย เช่น ปวด เมื่อย ถัดจากนั้นก็เป็นโรค NCDs (Non-communicable diseases) เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งเรารักษาด้วยกระบวนแพทย์ปัจจุบันเป็นหลัก พร้อมๆ กับให้ศาสตร์แพทย์แผนไทยอีกทางหนึ่ง อย่างคนเป็นความดันก็จะรับประทานยาของหมอ และใช้สมุนไพรด้วย หรืออาการปวดกล้ามเนื้อ เมื่อเราเอ็กซ์เรย์หาสาเหตุแล้ว หากผ่านการเข้าเฝือก หรือการอักเสบทุเลาแล้ว เขาก็ไปนวดที่แผนแพทย์ไทยได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ทั้งแพทย์ เภสัชกร และแพทย์แผนไทยจะทำงานร่วมกัน ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกันระหว่างการรักษา ให้ทิศทางการรักษาเป็นไปในแนวเดียวกัน โดยเฉพาะยึดผลศึกษาที่รับรองแล้วว่าสมุนไพรไม่มีผลข้างเคียงกับยาหลักที่คนไข้ใช้รักษาอยู่”

มัตติกา นวลแพง แพทย์แผนไทยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.ป่าหุ่ง จ.เชียงราย บอกประสบการณ์ทำงานในสถานพยาบาลระดับตำบลว่า คนไข้ที่มารักษากับหมอเมืองหรือแพทย์แผนไทยมักป่วยเป็นโรคเรื้อรัง หรือเป็นโรคต้องใช้เวลารักษานาน มีปัญหาทางจิตใจ-ความเครียดควบคู่กับร่างกาย บางคนป่วยแล้วยังมีปัญหากับครอบครัวด้วย การมาพบกับหมอเมืองจึงเสมือนอีกกำลังใจ และเมื่อวัดผลของผู้เข้ารับการรักษาแล้วพบว่ามากกว่าร้อยละ 90 ต่างพอใจกับการใช้ศาสตร์แพทย์โบราณคู่กับแพทย์แผนปัจจุบันช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกันได้

ถึงเช่นนั้นก็ไม่ใช่ทุกโรคที่แพทย์แผนไทยจะรับรักษาทั้งหมด โรงพยาบาลในทุกระดับต่างมีข้อตกลงและรับทราบกันดีว่า หากผู้เข้ารับการรักษามีอาการไข้สูง ติดเชื้อ อักเสบ นั่นต้องผ่านการรักษาจากการแพทย์ปัจจุบันก่อนเท่านั้น ทั้งนี้เพราะมีผลการศึกษาที่ชัดเจนมากกว่า ขณะที่ในสภาหมอเมืองจ.เชียงราย ก็มีกติกาข้อบังคับในการทำงาน โดยผู้ใดกระทำผิดระเบียบ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง จะถูกแจ้งความ เพิกถอนใบอนุญาติสมาชิกจากสภา ขาดการยอมรับและไม่สามารถร่วมงานกับสถานพยาบาลได้

หมอเมืองถึงธรรมนูญสุขภาพ

คงไม่ใช่แค่ศาสตร์แพทย์พื้นบ้านเท่านั้นที่ทำให้การรักษาแบบองค์รวมยังมีที่ทางในโลกสมัยใหม่ แต่คงเป็นเพราะกระบวนการชุมชนอันเข้มแข็งมากกว่าที่สนับสนุนให้การรักษาสุขภาพแบบชุมชนมีส่วนร่วมไปต่อได้

ถึงตรงนี้ใครๆ ก็มักพูดถึง'เชียงรายโมเดล' ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกลไกพัฒนาระบบสุขภาพมายาวนาน ร่วมผลักดันพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เกิดความร่วมใจทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ประชาชน มีสมัชชาสุขภาพจังหวัดที่สามารถร่วมเสนอประเด็นสุขภาพจากพื้นที่เข้าไปเป็นมติในระดับประเทศ รวมไปถึงการมีธรรมนูญสุขภาพซึ่งหมายถึงข้อตกลงร่วมที่คนในชุมชนแต่ละแห่งร่วมออกแบบขึ้น

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวภายหลังศึกษาดูงานกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วมที่ วัดหัวฝาย ต.สันกลาง อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการใช้กระบวนการชุมชนสร้างสุขภาพ นั่นเพราะความเข้มแข็งของชุมชนจะไม่จำกัดแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อชุมชนออกแบบเอง เขาจะรู้บริบท และมองไกลถึงมิติทางสังคม ภูมิปัญญา เกิดธรรมนูญในหลายประเด็น เช่น ธรรมนูญผู้สูงอายุที่โรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝาย ซึ่งครอบคลุมถึงการใช้ชีวิตของคนชราอย่างมีคุณค่า สอดคล้องกับสังคม Aging Society เช่นปัจจุบัน

แม้ไม่ใช่กฎหมายที่ีมีบทลงโทษและข้อบังคับชัดเจน แต่การมีธรรมนูญข้อตกลงร่วมนั่นก็เปรียบเสมือนการมีรากฐานของแผนพัฒนาสุขภาพที่คนในชุมชนสร้างขึ้นมาเอง แบบที่ นิรันดร์ แปงคำ ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชน ต.ป่าหุ่ง นิยามว่า ธรรมนูญสุขภาพซึ่งทำขึ้นเมื่อ 3-4ปีก่อน เป็นกติการ่วมที่ทุกคนต้องการ มีลายเซ็นผู้นำระดับตำบลกำกับ และแม้ผู้บริหารจะเปลี่ยนไปแต่ธรรมนูญข้อตกลงยังอยู่ รากฐานเช่นนี้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมตามมา เช่น การส่งเสริมพืชสมุนไพร การงดเหล้าในพิธีกรรมศาสนา การคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ไฟป่า หมอกควัน ซึ่งถึงทุกวันนี้ผู้คนตระหนักและปฏิบัติตาม อันมาจากข้อตกลงที่ชมชนเห็นพ้องกัน

"ธรรมนูญไม่มีบทลงโทษ ไม่มีบทบังคับ แต่คือสิ่งที่ชาวบ้านตกลงกันแล้ว จากแค่เรื่องสุขภาพ ธรรมนูญจะโยงถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพราะถ้าชุมชนดีสุขภาพร่างกายก็ดีด้วย การเจ็บป่วยไม่ได้มาจากเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่สัมพันธ์กันทั้งหมด" อดีตเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่เห็นพ้องกับงานส่งเสริมสุขภาพชุมชนเน้นย้ำ

ผมรับฟังคำพูดของเขาและย้อนทบทวนเรื่องตัวเอง อาจจริงอย่างที่หมอเมืองว่า พอได้เข้าวัดทำบุญและเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมกินนอนจริงจัง เพียงไม่กี่วันที่ผ่านมาพลังใจทำร่างกายมีเรี่ยวแรงขึ้นเป็นกอง