‘แอโรมีเดีย’ตั้งเป้าผู้นำโฆษณาสนามบินอาเซียน

‘แอโรมีเดีย’ตั้งเป้าผู้นำโฆษณาสนามบินอาเซียน

สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณากว่าแสนล้านบาท อยู่ในภาวะถดถอย แต่พบว่าสื่อนอกบ้าน (Out of Home media หรือ OOH) กลับยังมีอัตราการเติบโตกว่า 36% ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

ฑัตชัย ปฏิโภคสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอโร มีเดีย กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการสื่อโฆษณารูปแบบใหม่ๆ ครบวงจร ภายในสนามบินในประเทศกว่า 13 แห่งทั่วประเทศ  กล่าวว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสื่อโฆษณาในสนามบินเติบโตกว่า 313% สวนกระแสสื่ออื่นๆ อีกทั้งขยายตัวสูงกว่าสื่อที่มาแรงอย่าง อินเทอร์เน็ต ที่เติบโตราว 26% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโฆษณาบนระบบขนส่งมวลชน (Mass Transit) ภาพรวมที่เติบโตราว 103%

ปัจจัยหลักที่ทำให้สื่อในอุตสาหกรรมการบินขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ การเติบโตของธุรกิจการบินโลว์คอสท์ ทำให้ราคาตั๋วถูกลง เที่ยวบินเพิ่มมากขึ้นเพื่อสนองความต้องการผู้โดยสาร ใน 5 ปีที่ผ่านมา ฝูงบินโลว์คอสท์เติบโตกว่า 467% หรือจากทุกสายมี 21 ลำเพิ่มเป็น 136 ลำ และผู้โดยสารโลว์คอสท์เพิ่มถึง 461% จาก 6.86 ล้านคนต่อปี เป็น 38.49 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา และทำให้แอโร มีเดีย สามารถสร้างการเห็นสื่อผ่านผู้โดยสารถึง 120 ล้านคนต่อปี จากการมีจอโฆษณาทั้งหมดกว่า 348 จอ

บุกสื่อสนามบินอาเซียน

แผนการขยายธุรกิจขั้นต่อไป เตรียมใช้องค์ความรู้ที่มีเปิดตลาดสนามบินหลักในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) คาดว่าไตรมาส 4 นี้จะเริ่มได้ก่อน 1 สนามบิน ก่อนจะเพิ่มเป็น 3 ประเทศในปีหน้า 

ทั้งนี้ ประเทศที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่ อินโดนีเซีย ที่มีสนามบินเป็นร้อยแห่งแต่กำลังศึกษาเฉพาะ 20 แห่ง, เวียดนาม ที่มี 20 แห่งจะโฟกัสใน 5 เมืองก่อน เช่น โฮจิมินห์, ฮอยอัน และดานัง, เมียนมา พิจารณา 2 แห่งที่ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ ซึ่งทุกสนามบินดังกล่าว มีผู้โดยสารเติบโต ฐานประชากรในประเทศสูง แต่ยังขาดระบบการวางสื่อโฆษณาในสนามบิน   เหมาะกับการเข้าไปเปิดตลาด 

“มีเป้าหมายระยะยาว ด้วยการกระจายความเสี่ยงสร้างรายได้จากในและต่างประเทศ สัดส่วน50:50 ในระยะเวลา 3 ปี และเป็นผู้นำของการให้บริการโฆษณาสนามบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ปรับภาพลักษณ์ดันรายได้โต30%

ฑัตชัย กล่าวว่าแอโร มีเดียฯ เริ่มปรับแผนดำเนินธุรกิจสร้างภาพลักษณ์ให้บริการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบินโดยเฉพาะ ตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ “วีจีไอ”เข้าถือหุ้น 30% มีเป้าหมายเพื่อเป็นผู้ให้บริการที่แบรนด์ต่างๆ ต้องคิดถึงเป็นรายแรกเมื่อจะทำการโฆษณาในอุตสาหกรรมนี้ 

โดยประเมินทิศทางรายได้ว่าปีนี้ยังมีโอกาสเติบโตกว่า 25-30% หรือราว 350 ล้านบาท เป็นผลมาจากการวางกลยุทธ์การแข่งขันให้แตกต่างจากคู่แข่งหลักที่มีอยู่ ได้แก่ ความหลากหลายครบวงจรผ่าน 3 ช่องทางได้แก่ สื่อดิจิทัล, สื่อภาพนิ่ง (Static) และสื่อออนไลน์

ทั้งนี้ออนไลน์ ถือเป็นช่องทางที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ซึ่งคู่แข่งยังไม่มี โดยเริ่มต้นจากการรับสัมปทานพัฒนาเว็บไซต์ให้กับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ทุกสนามบิน เป็นเวลา 10 ปี ทำให้เพิ่มอัตราการเข้าชมเว็บไซต์เป็น 2 แสนต่อคนต่อวัน และปรับปรุง SEO (Search Engine Optimization) ให้ติดอันดับการค้นหาที่ 1 ใน 3 อันดับแรก เมื่อค้นหาเกี่ยวกับสนามบินในไทย จากเดิมที่เคยขึ้นมาอยู่ในหน้า 3 ของการค้นหาด้วยคำสำคัญดังกล่าว รวมถึงพัฒนาแอพพลิเคชั่นโดยมียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 1 แสนครั้ง

หลังจากที่มีทราฟฟิคเพิ่มขึ้น กำลังเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปด้วยการเปิดลงโฆษณาผ่านแบนเนอร์ มีกลุ่มคู่ค้า เช่น ออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ (โอทีเอ) ขายที่พักและตั๋วเครื่องบิน มาร่วมลงในเว็บเพื่อทำให้เกิดการลิงค์เชื่อมสู่การจอง โดยเชื่อว่าช่องทางออนไลน์ จะมีส่วนหนุนการเติบโตด้านการขายเป็นเครือข่ายกับสื่อออฟไลน์ได้อย่างครบวงจรเหนือคู่แข่ง

โฆษณาสนามบินแตะ1.5พันล้าน

ปัจจุบัน แอโร มีเดีย มีส่วนแบ่งการตลาดของบริการสื่อในสนามบินอยู่ที่ 20% โดยมีสัมปทานสื่อจอโฆษณาในสนามบิน 13 บิน แบ่งเป็นสัมปทาน 6 แห่งของ ทอท.และอีก 7 แห่งของสนามบินใต้สังกัดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งในรอบ 2 ปีที่มีการมุ่งกลยุทธ์ให้บริการที่สนามบิน และขยายสู่ความร่วมมือกับสายการบิน ทำให้มีการเติบโตถึงกว่า 200% และด้วยการขยายช่องทางครอบคลุมออนไลน์ มั่นใจว่าจะช่วยผลักดันโฆษณาเข้าถึงสายตาผู้โดยสารมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีการเข้าถึงราว 140 ล้านคน/ปี

ทั้งนี้ รายได้หลักของบริษัท ยังมาจากการให้บริการที่สนามบิน ส่วนรายได้จากออนไลน์มีสัดส่วนราว 15% นอกจากนั้นยังมีรายได้อีก 30% มาจากการให้บริการโฆษณากับสายการบินโลว์คอสท์สายหลักในไทยทั้งหมด ได้แก่ แอร์เอเชีย, นกแอร์ และไทยไลอ้อน แอร์ รวมถึงสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ และไทยสมายล์ ที่จะเริ่มดำเนินการในไตรมาสสุดท้ายปีนี้

อย่างไรก็ตามคาดว่ามูลค่าของสื่อโฆษณาสนามบินทั่วประเทศน่าจะอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท จากการคาดการณ์ของ ทอท.ที่จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 20% ต่อปีจากการขยายสนามบินในเครือ จึงคาดว่าเม็ดเงินในการโฆษณาจะเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อธุรกิจให้บริการโฆษณาเช่นกัน