'คสช.' เล็งงัด 'ม.44' พักงาน70ขรก.ส่อทุจริต

'คสช.' เล็งงัด 'ม.44' พักงาน70ขรก.ส่อทุจริต

"พล.ท.สรรเสริญ" เผย "คสช." เตรียมออก "ม.44" พักงานข้าราชการส่อทุจริต 70 รายชื่อ ตามที่ศอตช.เสนอทั้งหมด 5 กลุ่ม

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า คสช.เตรียมจะออกคำสั่งคสช.หลังศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้ประมวลข้อมูลเพื่อนำเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. โดยมีบัญชีรายชื่อของผู้ได้รับการร้องเรียนหรือถูกกล่าวหาว่าใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งรวบรวมโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งมายังศอตช.เพื่อให้ร่วมกันพิจารณากับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นต้น และเมื่อกลั่นกรองเรียบร้อยแล้วบ่งชี้ว่ามีมูลให้ตรวจสอบก็เสนอต่อหัวหน้าคสช.เพื่อที่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ทั้งนี้ รายชื่อดังกล่าวแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มคือ 1.ผู้บริหารสถานศึกษาจำนวน 1 รายให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมชั่วคราวและได้รับเงินปกติ 2.ข้าราชการพลเรือนจำนวน 6 ราย 3.พนักงานอื่นๆ ของรัฐ 2 ราย โดยกลุ่มที่ 2 และ 3 ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมชั่วคราวและให้ไปปฏิบัติราชการตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย แต่ได้รับเงินเดือนตามเดิม 4.ผู้บริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 37 รายให้ระงับการปฏิบัติราชการที่ดำรงตำแหน่งชั่วคราวและไม่ได้ค่าตอบแทน และ 5.ข้าราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 24 รายให้ช่วยราชการที่ศาลากลางจังหวัดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ ตั้งอยู่หรือไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ กำหนด โดยไม่ได้รับประจำตำแหน่งและไม่ได้สิทธิเบิกค่าใช้จ่ายไปราชการชั่วคราว รวมรายชื่อทั้งสิ้น 70 คน

"ขั้นตอนการตรวจสอบจะให้ศอตช.ที่เป็นหน่วยงานต้นเรื่องเป็นผู้ชี้แจงมูลเหตุให้ตรวจสอบให้กับหน่วยงานต้นสังกัดรับทราบ จากนั้นผู้บังคับบัญชาจะต้องตั้งคณะกรรมการขั้นมาตรวจสอบข้อเท็จให้ปรากฏภายใน 30 วันหากไม่แล้วเสร็จก็ต้องขอขยายระยะเวลาออกไป หากไม่พบความผิดหรือไม่ถึงขั้นดำเนินการลงโทษทางวินัยก็ให้ผู้บังคับบัญชาสรุปผลพยานหลักฐานที่มีอยู่ให้ศอตช.ทราบ จากนั้นศอตช.จะมีระบบสอบสวนโดยการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ไม่ใช่ข้าราชการรวมถึงไม่มีข้อขัดแย้ง หรือได้เสียกับรายชื่อนี้มาตรวจสอบอีกครั้งจำนวน 3 - 5 คนระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน จากนั้นก็นำมาเปรียบเทียบกับการตรวจสอบของผู้บังคับบัญชาครั้งแรก ถ้าตรงกันก็ว่าไปตามการตรวจสอบ ถ้าไม่ตรงกันก็ให้คณะกรรมการที่ศอตช.ตั้งหารือกับผู้บังคับบัญชาเพื่อหาข้อสรุปต่อไป" พล.ท.สรรเสริญ