เจนวายเอเชีย40%แห่ตามเคป๊อบทัวร์ไทย

เจนวายเอเชีย40%แห่ตามเคป๊อบทัวร์ไทย

ททท.ชี้แนวทางเจาะกลุ่มเจนวายเอเชียถูกทาง ต่างชาติ 40% แห่ตามรอย “ก๊อตเซเว่น”ทัวร์ 4 ภาคในไทย คาดสร้างรายได้สะพัด 360 ล้านบาท เผยอานิสงส์เคป๊อบส่งอิทธิพลตลาดจีนเข้ามาสูงสุด 12% “โชว์ดีซี” เร่งสานแผนรับ FIT ต่อเนื่อง

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการวางกลยุทธ์ขยายการรับรู้ด้านท่องเที่ยวไทยสู่กลุ่มเป้าหมายเจนเนอเรชั่นวายมากขึ้น และได้ร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรม “ก๊อตเซเว่น ไทยแลนด์ ทัวร์ 2017” เพื่อทดสอบตลาด ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการจัดทัวร์ 5 ครั้งใน 4 ภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ นครราชสีมา ภูเก็ต สอดคล้องกับกลยุทธ์การกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปยังภูมิภาคของ ททท. ผลจากการเก็บข้อมูลผู้ซื้อบัตรกิจกรรมดังกล่าวว่า พบว่ามีผลในด้านการช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะสัดส่วนแฟนคลับต่างชาติที่มีสัดส่วน 40% จากยอดขายทั้งหมดกว่า 4.5 หมื่นใบผ่านทางไทยทิกเก็ตเมเจอร์ ส่วนอีก 60% เป็นผู้ซื้อจากในประเทศ

ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของ บริษัท โฟร์โนล็อค จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดงานดังกล่าว ระบุว่า ตลาดต่างชาติที่ซื้อบัตรมาชมมากที่สุดได้แก่ จีน 12% ตามด้วยเกาหลีใต้ 8%, เวียดนาม 6%, ฮ่องกง 5%, มาเลเซีย 4%, สิงคโปร์ 3% และอื่นๆ อีกราว 2% ขณะที่กิจกรรมเฉพาะในกรุงเทพฯ มีแฟนคลับต่างชาติซื้อบัตรเป็นจำนวน 1.2 หมื่นใบ เป็นจำนวนมากที่สุด ส่วนที่ได้รับความนิยมรองลงมาตามลำดับ ได้แก่ ภูเก็ต, นครราชสีมา และเชียงใหม่

นอกจากนั้น จากการสำรวจพฤติกรรมของแฟนคลับที่เดินทางมาครั้งนี้พบว่า มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมในไทย รวมค่าตั๋ว, ที่พัก, อาหาร และค่าเดินทาง ราว 2 หมื่นบาท/คน/ทริป หรือสร้างรายได้รวมด้านท่องเที่ยวสะพัดราว 360 ล้านบาท

ขณะเดียวกันจากการจัดกิจกรรมทางสื่อออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์ เพื่อสร้างการรับรู้ในฐานแฟนคลับชาวไทยผ่านบัญชีผู้ใช้ “อะเมซิ่งไทยแลนด์” ด้วย เนื่องจากพบว่าเป็นช่องทางสัมคมออนไลน์ที่เติบโตมากที่สุดในกลุ่มวัยรุ่นไทย ข้อมูลจากงานไทยแลนด์ โซเชียล อวอร์ส 2017 พบว่าในไทยมีผู้ใช้ทวิตเตอร์กว่า 10 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 70% ซึ่งแบ่งเป็นผู้ใช้อายุต่ำกว่า 30 ปีสูงถึง 60% และผู้ใช้อายุ 16-24 ปี ราว 35%

ดังนั้น หลังจากนี้เตรียมต่อยอดกลยุทธ์ใช้คนดังเป็นสื่อในการท่องเที่ยว (เซเลบริตี้ มาร์เก็ตติ้ง) เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจเฉพาะต่อไป เช่น นำรายการที่มีผู้ติดตามชมจำนวนมากในเอเชียมาถ่ายทำเพื่อแสดงให้เห็นความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะกลุ่มเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) ที่เติบโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นอกจาก ททท.แล้ว ผู้ประกอบการที่ใช้กลยุทธ์ด้านบันเทิงมาเจาะตลาดท่องเที่ยว ได้แก่ บริษัทโชว์ ดีซี คอร์ป จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าโชว์ดีซี ที่ใช้การจัดคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีมาใช้เจาะตลาดนำนักท่องเที่ยวเข้ามา พร้อมกับการสร้างเครือข่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวครบวงจรร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกกลุ่มนักท่องเที่ยว FIT ที่เป็นเป้าหมายสำคัญ

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า มีแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งระบบโดยร่วมมือกับบริษัท โชว์ ดีซี คอร์ป จำกัด และกลุ่มเรือด่วนเจ้าพระยา ในการพัฒนาการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการเดินทาง ด้วยการเชื่อมโยงรถบัส-เรือ จากสนามบินสู่ “แบงค็อก ทัวริสต์ เทอร์มินัล” ที่ตั้งบริเวณศูนย์การค้าฯ ซึ่งวางตำแหน่งเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวระหว่างสนามบินไปแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ โดยในความร่วมมือครั้งนี้ จะมีบริการเชื่อมไปสู่แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำอีกต่อ ผ่านบริการของเจ้าพระยา ทัวริสต์ โบ้ท ที่มีการเตรียมระบบดิจิทัลมาให้บริการ เช่น การจองล่วงหน้าและรับชำระเงินผ่านออนไลน์, มีระบบจีพีเอส ควบคุมการเดินทางและให้ข้อมูลบรรยายแหล่งท่องเที่ยวระหว่างการล่องเรือเป็นภาษาต่างๆ

นอกจากนั้น จากการร่วมประชุมกับกระทรวงวัฒธรรม และวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็น 1 ใน 26 วัดริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่กระทรวงฯ จะส่งเสริมในการท่องเที่ยวทางเรือทั้งกลางวัน และกลางคืน (ไนท์ทัวริสซึ่ม) ให้ได้รับความนิยมมากขึ้นนั้น ในโอกาสการบูรณะแล้วเสร็จ และมีการปลดนั่งร้านลงทั้งหมด จะมีการจัดงานสมโภชน์พระปรางค์วัดอรุณในช่วงปลายเดือน ธ.ค.ด้วย โดยจะมีการประดับตกแต่งไฟอย่างสวยงาม และกระทรวงฯ เตรียมร่วมขอนัดหารือกับชุมชนรอบวัด เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมต้อนรับนักท่องเที่ยว ร่วมทั้งดูแลด้านความปลอดภัยร่วมกัน

จากการประชุมร่วมกับคลัสเตอร์ท่องเที่ยวอันดามันเพื่อติดตามความร่วมมือในการทำงานเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินการต่อในด้านการศึกษาวิจัยเพื่อทำแบรนดิ้งภาพลักษณ์ของกลุ่มคลัสเตอร์อันดามันในแต่ละจังหวัด เพื่อทำให้เกิดการสื่อสารและวางกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นการต่อยอดจากที่ดำเนินการมาสำเร็จแล้วขั้นหนึ่ง เช่น บริเวณตัวเมืองภูเก็ต ที่ได้รับการส่งเสริมภาพลักษณ์เมืองเก่าจนมีความนิยมท่องเที่ยวมากขึ้น จากเดิมที่นักท่องเที่ยวมักกระจายตัวออกไปตามชายหาดต่างๆ เป็นหลัก

“ต้องทำการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดการแบรนดิ้งที่ชัดเจนอีก 1 ปี เช่น หากภูเก็ต ต้องการจะเป็นเมืองด้านกีฬา ก็ต้องมีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะส่งเสริมในทิศทางใด และมีกีฬาชนิดใดเป็นแม่เหล็ก เช่น กอล์ฟ เรือใบ ไตรกีฬา ที่จะช่วยสร้างความโดดเด่นด้านท่องเที่ยวได้ โดยมองว่าการทำแบรนดิ้งให้ชัด จำเป็นต่อการแข่งขันในปัจจุบัน ที่ประเทศคู่แข่งในอาเซียนพยายามผลักดันตัวเองขึ้นมา ด้วยการตั้งไทยเป็นตัวชี้วัดมากขึ้น”