'ฉะ-แฉ' ผ่านโซเชียลฯ...แก้ไขหรือขยายวง?

'ฉะ-แฉ' ผ่านโซเชียลฯ...แก้ไขหรือขยายวง?

"ฉะ-แฉ"ผ่านโซเชียลฯ...แก้ไขหรือขยายวง?

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นที่เราต้องมาขยายความกันอีกแล้วค่ะ เป็นประเด็นการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมี 2 ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในโลกโซเชียล

กรณีที่ที่หนึ่ง ญาติของผู้เสียชีวิตได้แชร์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัว กล่าวหาว่าโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี ปล่อยคนไข้ซึ่งเป็นเด็กชาย เส้นเลือดใหญ่ในกระเพาะแตก จนเด็กเสียชีวิต ปรากฏว่าเรื่องลุกลามบานปลาย แพทย์และพยาบาลเวรฉุกเฉินถูกโลกโซเชียลฯ ด่าทออย่างรุนแรง อีกเรื่องเกิดขึ้นในโรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร สามีของผู้ป่วยโวยวายใส่แพทย์โดยใช้ถ้อยคำหยาบคาย เพื่อให้แพทย์เร่งรักษาภรรยาของเขา ทั้งสองกรณีนี้ ถือว่าเป็นกรณีศึกษาเรื่องการเปิดเผยข้อมูลในโลกโซเชียลฯ จนกลายเป็นประเด็นบานปลายไปต่างๆ นานา

กรณีแรก หลังจากถูกกล่าวหาผ่านโซเชียลมีเดีย จนบุคลากรในโรงพยาบาลถูกโลกโซเชียลฯรุมถล่มอย่างเสียหาย ทางโรงพยาบาลก็ออกมาแถลงข่าว โดยชี้แจงว่า สาเหตุของการเสียชีวิตมาจากเส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่ร้ายแรงมาก และทางโรงพยาบาลไม่สามารถผ่าตัดเปิดทรวงอกเพื่อเปลี่ยนเส้นเลือดได้ จึงต้องประสานไปยังโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่า แต่ก็ไม่ทันการณ์

นอกจากแถลงชี้แจงแล้ว กลุ่มแพทย์และพยาบาลยังได้ไปโพสต์ข้อความขอให้เพจดังช่วยอธิบาย เพราะในความเป็นจริง แพทย์กับพยาบาลทำการรักษาอย่างเต็มที่ ปัญหาที่พบคือจำนวนแพทย์และพยาบาลไม่เพียงพอ ที่ผ่านมามีพยาบาลลาออกไปถึง 8 คนจากปัญหางานหนักและไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ โดยข้อความบางส่วนระบุเอาไว้แบบนี้ "กลายเป็นว่าตอนนี้ทุกเคสต้องด่วนหมด ขู่จะฟ้องกันตลอด 24 ชั่วโมง พยาบาลตัวเล็กๆ 3 คนถูกถีบกลางลำตัว อีกคนโดนชกที่จมูก อีกคนถูกข่วนตามแขน" นี่คือข้อเท็จจริงอีกมุมหนึ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเจอ แต่ผู้รับบริการที่ไม่พอใจกลับไม่ทราบ หรือไม่พูดถึงเวลาโพสต์โซเชียลฯ

ขณะที่เหตุการณ์ที่สอง สามีไปโวยวายด่าแพทย์และพยาบาลด้วยถ้อยคำหยาบคาย โดยมีเพจดังนำคลิปไปเผยแพร่ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ถูกตีตราว่าเป็นคนผิด ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบ จะเห็นได้ว่า ปัญหานี้เกี่ยวโยงกับเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย และการร้องเรียน ร้องขอความเป็นธรรม จนบายปลายกลายเป็นเหมือนสงครามในโลกไซเบอร์ บางกรณีก็มีปรากฏการณ์ “ล่าแม่มด” เกิดขึ้น ซึ่ง “ล่าความจริง” ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเพื่อวิเคราะห์เรื่องนี้

เริ่มจาก ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นเพราะพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปมาก คนส่วนใหญ่หันไปเสพสื่อผ่านโซเชียลมีเดีย เพจดังๆ จึงกลายเป็นสื่อทางเลือกที่มีอิทธิพล และทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดวาระข่าวสารแทนสื่อกระแสหลัก

ดร.มานะ ยังบอกอีกว่า ในทางกลับกัน แม้ว่าการร้องเรียนผ่านเพจดังจะได้ผลรวดเร็วกว่าการวิ่งเข้าหากระบวนการยุติธรรมหรือสื่อกระแสหลักโดยตรง แต่ก็ก่อปัญหาตามมา บางกรณีกลายเป็นการตีตราความผิดให้กับผู้ถูกร้องเรียน เพราะการนำเสนอข่าวในโซเชียลมีเดีย เลือกนำเสนอเพียงแค่ด้านเดียวก่อน ฉะนั้นกว่าที่ข้อเท็จจริงอีกด้านของผู้ถูกร้องจะถูกหยิบขึ้นมานำเสนอ จนบางเรื่องกลายเป็นหนังคนละม้วน ปรากฏว่าผู้ถูกร้องเรียนก็กลายเป็นฝ่ายเสียหายไปแล้ว บางกรณีก็เป็นกระแสดราม่าที่ลุกลาม

ฉะนั้นปัญหานี้ ผู้เสพสื่อเองต้องมีภูมิคุ้มกันสื่อ เช่น เมื่อรับข่าวสารมา ก่อนแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนั้นๆ ควรตั้งคำถามก่อนว่าความจริงอีกด้านเป็นอย่างไร มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ใช้หลักการพินิจพิเคราะห์ให้รอบคอบก่อนเข้าไปมีส่วนร่วมกับข่าวนั้น

"ล่าความจริง" ยังมีอีกหนึ่งมุมมองจากตำรวจไซเบอร์ พล.ต.ต.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้บังคับการกองสนับสนุนทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มองว่า ในยุคนี้ ผู้โพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดียสามารถทำได้ทุกอย่าง แต่การโพสต์อะไรก็ตามจะต้องไม่ละเมิดกฎหมาย ถ้าการพูดพาดพิงถึงบุคคลอื่นทำให้บุคคลที่สามเกิดความเสียหาย หรือถูกเกลียดชัง ก็จะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว และหากการโพสต์ข้อมูลนั้น พิสูจน์ได้ว่าเป็นข้อมูลเท็จ ก็จะผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ด้วย

การร้องเรียนหรือแฉความเดือดร้อนผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งระยะหลังทำกันอย่างกว้างขวางนั้น สาเหตุประการหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ เป็นเพราะหน่วยงานรัฐที่รับเรื่องร้องเรียน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ผู้เดือดร้อนได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ แต่ปัจจุบันในยุค คสช. ก็มีความพยายามเปิดช่องทางการร้องเรียนที่หลากหลาย

พันเอกวินธัย สุวารี โฆษก คสช. บอกกับ “ล่าความจริง” ว่า ฝากแนะนำไปถึงประชาชนว่า หากต้องการร้องเรียนเรื่องอะไร ขอให้ร้องเรยีนไปยังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจะดีกว่า โดยส่งเอกสารหลักฐานให้ครถ้วน เพราะหากไปโพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดีย แม้จะสื่อถึงหน่วยงานทีรับผิดชอบอย่างรวดเร็ว แต่หากข้อความที่โพสต์ไม่เป็นความผิดทั้งหมด ก็สุ่มเสี่ยงกระทำผิดพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์