ไขรหัสเกมยาวในวงสตาร์ทอัพ 'AddVentures’

ไขรหัสเกมยาวในวงสตาร์ทอัพ 'AddVentures’

มองในหลักการ ทุกอย่างต้อง Win-Win

หากเป็นในแวดวงอุตสาหกรรมต้องยกให้ เอสซีจี เป็นหนึ่งในองค์กรที่โลดเล่นในเส้นทางธุรกิจมากว่า 100 ปี สั่งสมองค์ความรู้ เน็ตเวิร์คที่กระจายอยู่ในหลายประเทศ และบุคลากรจำนวนมาก เฉพาะที่ทำงานอยู่ในประเทศต่างๆ มีมากถึง 16,000 คน แต่ในสนามธุรกิจยุคใหม่ ตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเป็นปัจเจกมากขึ้นเป็นแรงผลักดันสำคัญให้องค์กรขนาดใหญ่ต้องขยับ

วันนี้ เอสซีจี ลุกขึ้นมาสร้างแพลตฟอร์มใหม่ วิธีคิดและการทำงานแบบใหม่ เน้นการทำงานที่เปิดกว้าง เพื่อดึงนวัตกรรมและไอเดียสดใหม่เข้าสู่องค์กรผ่านการทำงานในรูปแบบของ Corporate Venture Capital ในชื่อ AddVentures

Add คือ การบวก, เสริมเข้าไป นัยหนึ่งก็สื่อถึง แอดเวนเจอร์ ด้วย ส่วน Venture แน่นอนว่าเป็นเรื่องของการลงทุน

“เราไม่ใช่แค่ลงทุน แต่เป็นการทำงานที่บวก และเสริมในหลายๆ เรื่องที่สตาร์ทอัพต้องการ อาทิ ทุน เน็ตเวิร์ค และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ

โดยวิสัยทัศน์ไว้ที่ You Innovate, We Scale เราและสตาร์ทอัพจะเป็นพาร์ทเนอร์ เดินไปด้วยกัน และโตไปไปด้วยกัน” ดร.จาชชัว แพส กรรมการผู้จัดการ กล่าว

หลังระดมสมองกันภายในและวางโปรเซสการทำงานมาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนที่ผ่านมา AddVentures วางจังหวะการเดินในแนวรุกทีละก้าว และมองเกมยาวถึงการเป็นผู้นำ CVC ตลาด SEA ในสนามที่ตัวเองลงเล่น นั่นก็คือ “Enterprise-Industrial-B2B”

ดร.จาชชัว แพส กรรมการผู้จัดการ และ ดุสิต ชัยรัตน์ Corporate Venture Capital Fund Manager ร่วมกันมองภาพการเดินทางของ AddVentures นับจากนี้

การมาของ Adventures ไม่ได้ช้าเกินไปในมุมมองของผู้บริหารทั้งสอง แต่ในทางตรงกันข้ามเป็นจังหวะรุกที่ถูกต้องแล้วในท่ามกลาง Ecosystem ของสตาร์ทอัพในไทยที่กำลังขยายตัว

“ผมว่า เราไม่ช้าเลย มองในฝั่งอาเซียน เราเป็น CVC เจ้าแรกๆ ที่ดูทั้ง 3 ส่วน ทั้ง ตลาดEnterprise Industrial และ B2B”

สิ่งที่ “พร้อม”ในลำดับแรกๆ ไม่ใช่เงินทุน แต่เป็นกระบวนการทำงาน วิสัยทัศน์ และการสร้างทีม

“ไดเร็คชั่น” สำคัญมาเป็นลำดับต้นๆ กว่าจะมาเป็น Addventures ได้ต้องผ่านการศึกษาการทำงานของ CVC จากต่างประเทศมาไม่น้อย

“CVC เท่าที่เราไปคุยหลายเจ้า มองในหลายมุม บางรายมองเรื่อง การลงทุน ก็จะมองเรื่องผลตอบแทนเป็นหลัก อีกกลุ่ม โฟกัสเรื่อง Strategic return

สำหรับเราแล้ว มองว่าทั้งสองอย่างต้องไปด้วยกัน Strategic return ก็เป็นสิ่งแรกๆ ที่ให้ความสำคัญไปพร้อมกัน” ดร.จาชชัว กล่าว

ด้าน ดุสิต มองในเชิง Financial เราจะไม่ Maximize return แต่ให้น้ำหนักกับการทำงานร่วมกันในเชิงกลยุทธ์มากกว่า เช่น สตาร์ทอัพหลายๆ รายอยากจะได้เอสซีจีไปเป็นลูกค้า เป็นต้น

แต่จากการศึกษาการทำงาน CVC ในหลายๆ ที่ พบว่า สุดท้ายแล้ว Top Management เป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของการทำงาน

ลำดับแรกต้องเข้าใจการทำงานของ VC ว่าต้องใช้เวลาสำหรับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ดุสิต ขยายความว่า บางครั้งการลงทุนต้องใช้เวลา บ้างก็มีโอกาสล้มเหลวสูง ในสตาร์ทอัพบางตัวที่ลงทุนไปกว่าจะรู้ว่าเวิร์คก็กินเวลาไป 2-3 ปี หากผู้บริหารไม่เข้าใจและหวังผลสำเร็จในระยะสั้น ก็เป็นเรื่องยากในการทำงานของ CVC

“ถ้าผู้บริหารไม่เข้าใจก็จะเป็นปัญหา มีให้เห็นใน CVC บางราย ที่ตั้งขึ้นมาแล้วไม่ได้ทำต่อ ซึ่งจะส่งผลต่อ Ecosystem ทั้งระบบด้วย เพราะเงินที่ลงไปในสตาร์ทอัพเมื่อถึงเวลาหนึ่งจะต้องระดมทุนต่อแต่ไม่มีใครช่วย ก็จะกลายเป็นปัญหาได้ เช่นที่เห็นในอเมริกา CVC ทำไป 2-3 ปี แล้วเปลี่ยนทีมผู้บริหารจากนั้นก็หยุดทำ

โชคดีที่พี่ ๆในบริษัท ไม่พยายามจะเห็นอะไรที่ Quick wins แต่มองเป็น Direction มากกว่า”

นอกจาก ไดเร็คชั่น แล้วลักษณะการทำงานในแบบองค์กรใหญ่ที่คุ้นเคยก็คงต้องปรับเปลี่ยน

Addventures ใช้รูปแบบการทำงานที่ Lean และคล่องตัวกับทีมงานที่เล็กแต่เน้นประสิทธิภาพ ซึ่งจะอยู่ภายใต้ของ Digital Transformation ในภาพใหญ่ของเอสซีจี อีกทีเพื่อให้การขับเคลื่อนทำโดยเร็วและตอบโจทย์โลกธุรกิจปัจจุบันให้ทัน

การตัดสินใจลงทุนทำโดยทีมบริหารกลุ่มเล็กๆ ที่พร้อมจะพูดคุยและเคาะสรุปการลงทุน ประกอบด้วย ชลณัฐ ญาณารณพ  กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี เคมิคอลส์, ยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี, กรรมการผู้จัดการ Addventures และผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนหนึ่ง

ถัดจากเรื่องโครงสร้างการทำงานที่กระชับ เร็ว และเน้นประสิทธิภาพแล้ว ยังมีเรื่องของ ไดเร็คชั่นที่ชัดเจน เป็นอีกปัจจัยสำคัญ

Addventures วางกรอบชัดถึงการทำงานใน 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การลงทุนโดยตรง และการลงทุนผ่านกองทุน ที่จะทำหน้าที่เฟ้นหาสตาร์ทอัพและลงทุนใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.Enterprise 2.Industrial และ 3.B2B  โดยมองถึงเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างโอกาสใหม่ๆให้ธุรกิจและ เป็นเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจหลัก 3 กลุ่มของเอสซีจี คือ ธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง , ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในรูปแบบสั้นๆ กรอบเวลา 1 ปี ที่เปิดกว้างสำหรับความร่วมมือเชิงพาณิชย์ (Commercial Deal) ทั่วไป และ การอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

ในปีแรกนี้โฟกัสการลงทุนและพัฒนาความร่วมมือกับสตาร์ทอัพในอาเซียน และในไทยเป็นหลัก จากนั้นในปีถัดไปมองถึงขอบเขตงานที่กว้างขึ้น เช่นการลงทุนใน Global Technology Hub อย่างเช่น Silicon Valley ประเทศสหรัฐอเมริกา, Tel Aviv ประเทศอิสราเอล และ Shenzhen ประเทศจีน เป็นต้น 

การทำงานในไทยถึงตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับสตาร์ทอัพหนึ่งรายเพื่อผลักดันให้เกิดดีลที่น่าพอใจ โดยมองในระดับ Post seed และ Serie A ซึ่งจะประกาศดีลได้ภายในปีนี้

ในภาพรวมของการลงทุนปีนี้จะเห็นการลงทุนโดยตรงในสตาร์ทอัพ 3 รายและลงทุนโดยกองทุนอีก 2 ราย ในจำนวนเงินลงทุนทั้งหมดตั้งไว้ที่ 85 ล้านเหรียญยูเอส ภายใน 5 ปี (ประมาณ 2-3 พันล้านบาท)

"เราอยากได้สตาร์ทอัพที่ผ่าน seed มาแล้วและพร้อมจะสเกล เพราะมองว่า การเร่งสเกลเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดี แต่จะเป็นการดีกว่าที่จะสเกลไปเมื่อพร้อม รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่มองประกอบกันในเรื่องของทีม ขนาดตลาดและการเติบโต

โดยตั้งเป้าว่าในทุก ๆปีจากนี้จะมีการลงทุนในสตาร์ทอัพประมาณ 5 ราย ซึ่งใน 5 ปีน่าจะมีสตาร์ทอัพในพอร์ตจำนวน 25-35 ราย ขณะที่การลงทุนผ่านกองทุนคิดไว้น่าจะอยู่ที่ 4-5 fund" ดุสิต กล่าว 

ในขณะที่ ภาพรวมจังหวะก้าวของ Addventures ดร.จาชชัว มองในหลักการ ทุกอย่างต้อง Win-Win  

“เรา Win สตาร์ทอัพก็ต้อง Win ด้วย หากใครได้มากกว่าแล้วทุกอย่างจะไม่ยืนยาว เพราะไม่ใช่เราที่เลือกสตาร์ทอัพ แต่สตาร์ทอัพต้องเลือกเราด้วย เมื่อตัดสินใจว่าลงทุนแล้วก็มองถึงการเป็นพาร์ทเนอร์กันยาวๆ”