สธ.ชู 'น้องนิว' อุทาหรณ์สร้างความปลอดภัยผู้ป่วย

สธ.ชู 'น้องนิว' อุทาหรณ์สร้างความปลอดภัยผู้ป่วย

"รมว.สาธารณสุข" ชี้กรณี "น้องนิว" เป็นอุทาหรณ์ ให้สธ.-คนไข้ร่วมสร้างความปลอดภัยผู้ป่วยขณะเข้ารับการรักษา ระบุโรคนี้หายากมาก ในชีวิตเคยเจอเพียง 2-3 คน

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข ครั้งที่ 2/2560 วันที่ 24 ก.ค.2560 จัดโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กรณีเสียชีวิตของน้องนิว วัย 15 ปี ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ดูแลและให้การรักษาผู้ป่วยทุกคนให้มีสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุขด้วยหรือที่เรียกสั้น ว่า 2P SAFETY ให้ประเทศไทยมีระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัย

"กรณีน้องนิว ที่เกิดขึ้นถือว่าไม่ปกติ เป็นโรคที่หายากในชีวิตของแพทย์ที่ศิริราช เคยเจอ 2-3 ราย ยากที่จะให้การรักษา พอเกิดเรื่องเนื่องจากขาดประสบการณ์ทำให้การรักษาช้าลง ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ ถือเป็นอุทาหรณ์ซึ่งจะนำไปเป็นบทเรียนและรูปแบบการดูแลผู้ป่วย พร้อมกันนี้ก็เสียใจกับครอบครัวน้องนิว" รมว.สาธารณสุข กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาตั้งแต่การเข้ารับการรักษา การคัดกรอง ต้องมีการรอ เพราะแพทย์และพยาบาลมีจำนวนจำกัด ทางออกสำหรับเรื่องนี้คือ ผู้ป่วย และ บุคลากรทางการแพทย์ต้องร่วมมือกัน ถ้าผู้ป่วยรอนานต้องแจ้งให้พยาบาลทราบ ในขณะเดียวกันพยาบาลก็ต้องคอยดูแลสังเกตอาการผู้ป่วยด้วย เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

น.พ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผอ.สรพ. กล่าวว่า สรพ.รับรองคุณภาพสถานพยาบาล หรือ มาตราฐาน HA ในประเทศไทยแล้ว จำนวน 747 แห่ง เป็นเครื่องหมายการันตีว่าสถานพยาบาลนั้นมีคุณภาพ ขณะที่สรพ.ได้วางแนวทางการรักษาโดยรวบรวมจากเหตุไม่พึงประสงค์แจกจ่ายให้กับรพ.ทั่วประเทศ กับอีกประเภทคือโรคพบยาก ละเอียดอ่อน มีความไม่แน่นอนสูง ต้องเอากรณีนั้นมาศึกษา และวิเคราะห์ว่าจะป้องกันอย่างไร ถ้ามีโรงพยาบาลหนึ่งทำแล้วแบ่งปันโรงพยาบาลต่างๆ ก็จะมีแนวทางป้องกันความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ

ผอ.สรพ.กล่าวว่า นอกจากความปลอดภัยที่เน้นย้ำเป็นหัวใจหลัก ยังมีการสนับสนุนบุคคลากรให้รับมือทุกสถานการณ์ และลดการสูญเสียจากการรักษา รวมถึงย้ำในเรื่องของการปรับระบบให้รัดกุม เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยยึดหลักวัฒนธรรมที่เป็นธรรม ที่เป็นการพิจารณาการดำเนินการกับข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นเป็น3 ระดับคือ

1.เกิดความผิดพลาดเพราะประมาทจงใจ จะมีบทลงโทษที่เด็ดขาด
2.เกิดความผิดพลาดเพราะคิดว่าไม่เป็นไร ทำพฤติกรรมเหล่านั้นจนชินแล้วไม่เกิดปัญหา แต่ผิดหลักวิชาการ ก็จะมีการอบรมเพื่อปรับพฤติกรรม
3.เกิดความผิดพลาดจากภาวะแวดล้อม ออกแบบระบบไม่รัดกุม ก็ต้องดำเนินการแก้ไขระบบ

น.พ.อนุวัฒน์ ย้ำอีกว่า ในอนาคตหลังการมีมาตราฐาน 2P SAFETY จะทำให้คนไข้ได้รับความปลอดภัยในทุกด้านมากยิ่งขึ้น