กล่องดูดกลิ่น-แผ่นเคลือบยืดสุก แบ็กอัพส่งออกทุเรียนไทย 

กล่องดูดกลิ่น-แผ่นเคลือบยืดสุก แบ็กอัพส่งออกทุเรียนไทย 

“บรรจุภัณฑ์ดูดซับกลิ่น-วัสดุเคลือบยืดอายุผลสุก” สองนวัตกรรมจากรั้วธรรมศาสตร์เพื่อการส่งออกทุเรียนไทย สามารถแก้ปัญหากลิ่นให้กับผลสุกรวมถึงเนื้อทุเรียนตัดแต่งพร้อมบริโภคตามโจทย์ของผู้ประกอบการ ส่วนผลงานวัสดุเคลือบยังไม่มีการขายสูตรในเชิงพาณิชย์

ทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการส่งออกผลทุเรียนสดสูงขึ้นในทุกๆ ปี โดยปี 2559 มูลค่าการส่งออกสูงถึง 1.74 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 31.87% โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองได้รับความนิยมจากจีน ฮ่องกงและไต้หวัน ขณะที่ปัญหาสำคัญในการส่งออกคือ กลิ่นไม่พึงประสงค์ของผลทุเรียนสุก และผลแตกขณะขนส่งหรือวางจำหน่าย ณ ประเทศปลายทาง


ผักและผลไม้สดตัดแต่งเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่ตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้บรรจุภัณฑ์เพื่อเก็บผักผลไม้สดตัดแต่งพร้อมบริโภคนั้นต้องออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อคงความสดไว้ให้ยาวนาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่มีสิ่งเจือปนหรือสารพิษตกค้าง ได้มาตรฐานสากลและรองรับตลาดผู้ซื้อที่มีความสามารถในการซื้อสูง จึงเป็นเรื่องยากและท้าทายความสามารถนักวิจัยมากขึ้น หากผลไม้ชนิดนั้นมีคุณสมบัติเฉพาะตัว เช่น ทุเรียนที่มีกลิ่นรุนแรง

รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูง อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนากล่องบรรจุทุเรียนไร้กลิ่น ประกอบด้วย ตัวกล่องสำหรับบรรจุทุเรียนแกะเป็นพู ซองบรรจุสารดูดกลิ่นที่ออกฤทธิ์เฉพาะกับกลิ่นทุเรียนเท่านั้นในรัศมี 1 ตารางฟุตรอบกล่อง แถบสีบ่งชี้สภาพความสดใหม่ ถ้าเป็นสีเขียวก็คือสดมากเหมาะแก่การบริโภค ตรงข้ามกับสีส้มแดง บ่งชี้ว่าหมดอายุการบริโภคไปแล้ว ไม่ควรซื้อ

ล่าสุดได้เปิดตัวนวัตกรรมการเคลือบผลทุเรียนสด ทั้งในรูปแบบแผ่นและสารเคลือบ โดยใช้เทคนิค active coating ชะลอการสุกของผลทุเรียนแก่ขณะขนส่งได้นานถึง 2 สัปดาห์ ทั้งยังต่ออายุการเก็บรักษาบนชั้นวางสินค้าได้นานเท่าตัว มุ่งขจัดปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ของผลสุก และปัญหาผลแตกขณะขนส่งหรือส่งออกต่างประเทศได้ 100% ทั้งยังคุณภาพและรสชาติเนื้อภายในได้อย่างดี โดยมีต้นทุนเฉลี่ย 2-3 บาทต่อผล

ทั้งนี้ การออกแบบภาชนะต้องอาศัยการเชื่อมโยงข้อมูลสรีรวิทยาของพืช ระยะสุก แก่ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุภายใต้สภาพบรรยากาศดัดแปลง การเก็บรักษา ระยะเวลา วิธีการขนส่ง ตลอดจนชนิดของฟิล์ม ความหนา พื้นที่ อัตราซึมผ่านของก๊าซ น้ำหนักผลไม้ อัตราการหายใจ ความดันย่อยก๊าซในภาชนะ สภาพอุณหภูมิการเก็บรักษาและวางจำหน่าย ล้วนเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการออกแบบบรรจุภัณฑ์แทบทั้งสิ้น

ความสนใจในการออกแบบกล่องบรรจุภัณฑ์สำหรับทุเรียนนี้ ก็เพื่อเน้นงานวิจัยเชิงพาณิชย์ที่ตอบโจทย์ปัญหาของผู้ประกอบการไทยที่มาติดต่อให้ศึกษาและทำวิจัย ให้สามารถต่อยอดธุรกิจส่งผลไม้ขายในตลาดระดับบนที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันระดับเวทีโลกได้มากขึ้น

“ก่อนที่จะพัฒนานั้นได้ทดลองใช้สารสมุนไพรดับกลิ่นหรือจับคู่ปฏิกิริยาเพื่อให้กลิ่นทุเรียนหายไป แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสารที่ใส่ซึมลงในเนื้อทุเรียนทำให้เสียรสชาติ จึงต้องเปลี่ยนวิธีการทดลองใหม่โดยใช้การดูดซับด้วยวัสดุที่มีความสามารถดูดซับได้ดี แต่ประสิทธิภาพของสารดูดซับนี้จะลดลงเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนไปมีความแตกต่างเกิน 10 องศาเซลเซียส” นักวิจัย กล่าว

สูตรแอคทีฟฟิล์มสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาด เช่น ซื้อแล้วรับประทานทันที หรือซื้อแล้วรับประทานภายใน 4-6 ชั่วโมง ซึ่งต้นทุนจะต่ำกว่าชนิดที่ยืดอายุความสดไว้นานกว่า 12 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น การปรับสภาพโครงสร้างเพื่อดูดซับกลิ่นจะมีต้นทุนที่สูงกว่ามาก จึงต้องวิจัยให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายหรือตลาดของผู้ประกอบการ หากทำวิจัยแล้วมีคุณภาพสูงเกินไปก็แข่งขันลำบากเนื่องจากต้นทุนสูง

กล่องบรรจุทุเรียนได้รับรางวัลเหรียญทองจากงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ 2557 ณ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ นอกจากจะสามารถเก็บรักษาความสดใหม่ได้นานให้คุณภาพเหมือนทุเรียนที่ปอกสดใหม่ๆ แล้วยังมีคุณสมบัติพิเศษในการเก็บรักษากลิ่นได้ด้วย