'ต่างชาติ' ห่วงเอ็นพีแอลทะลัก

'ต่างชาติ' ห่วงเอ็นพีแอลทะลัก

“ต่างชาติ” ห่วงเอ็นพีแอลทะลัก ประเมินคุณภาพบจ.ยังเข้มแข็ง มองปัญหาเบี้ยวหนี้บีอีเกิดขึ้นเฉพาะบจ.กลางและเล็ก

ซีแอลเอสเอ เผย ต่างชาติกังวล หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้พุ่ง ขณะที่กำลังซื้อรากหญ้าชะลอตัว กระทบพื้นฐานเศรษฐกิจ มองบจ.เล็กเบี้ยวหนี้ เป็นปัญหาเฉพาะกลุ่ม ไม่ลุกลามภาพรวม ด้านบล.ทิสโก้กังวลไม่เห็นปัจจัยการหนุนเศรษฐกิจไทยอีก 2 ปีข้างหน้า

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าขณะนี้นักลงทุนต่างชาติเริ่มมีความกังวลปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นซึ่งปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าหนี้ดังกล่าวจะดีขึ้นเมื่อใด และขณะเดียวกันการบริโภคในพื้นที่ต่างจังหวัดยังอยู่ในภาวะซบเซา

“นักลงทุนต่างชาติเริ่มกังวลกับปัญหาเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินที่เกิดขึ้น สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ว่า จะสูงสุดในช่วงใด ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเพราะปัญหาหนี้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจไทยในอนาคตมีความเสี่ยงมากขึ้น จากสถานการณ์กำลังซื้อรากหญ้ายังอ่อนตัว"

สำหรับความเข้มแข็งของบริษัทจดทะเบียนไทย บล.มองว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบีอีที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จะทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่ไม่มีสินทรัพย์ในการค้ำประกันหนี้แต่ยังมีช่องทางหาแหล่งระดมทุนอย่างการกู้เงินจากสถาบันการเงินส่วนบริษัทขนาดใหญ่มีเข้มแข็งอยู่แล้วและไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ เปิดเผยว่า ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กนั้นเป็นปัญหาเฉพาะบริษัทและยังไม่กระทบกับภาพรวมของระบบ แม้ภาวะตลาดของตั๋วบีอีในปัจจุบันจะไม่เอื้ออำนวยกับการระดมทุน แต่บริษัทยังมีช่องทางการกู้เงินจากสถาบันการเงินหากพิจารณาในภาพรวมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะพบว่ามีความเข้มแข็งที่สูงและไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต

อย่างไรก็ตามทิศทางของเศรษฐกิจไทย ช่วงครึ่งปีหลัง มองว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยน่าขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่น่าห่วงว่าการขยายตัวกระจุกเฉพาะกลุ่มการส่งออกและการท่องเที่ยว มีผู้ที่เกี่ยวข้องเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น ส่วนเศรษฐกิจฐานรากยังชะลอตัวการลงทุนภาครัฐบาลในช่วงครึ่งปีแรกยังล่าช้า และคาดหวังว่าจะสามารถออกมาได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

สิ่งที่น่าห่วงของเศรษฐกิจไทยอีก 2-3 ปีข้างหน้า คือ จะไม่มีปัจจัยใดเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ ซึ่งการส่งออกจะขยายตัวลดลง ขณะที่การท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ในกรอบจำกัด ส่วนการลงทุนภาครัฐยังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2561 มองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะลดลงจากเหลือ 3.4 % จากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 3.6%

ส่วนภาวะของตลาดหุ้นไทยช่วงที่ผ่านมาแกว่งตัวในกรอบแคบที่ 1,520 -1,590 จุด หรืออยู่ในกรอบประมาณ 70 จุดเท่านั้น ซึ่งมีค่าความผันผวนต่ำมากที่สุดในรอบหลายปี ทั้งนี้บล.ทิสโก้ ยังคาดหวังว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นเม็ดเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยจากต้นปีอยู่ในระดับ 2.6 % เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอยู่ในระดับ 20-30 % ซึ่งนักลงทุนน่าจะปรับพอร์ตเพื่อลงทุนในตลาดหุ้นที่มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยให้ดัชนีเป้าหมายของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ที่ 1,650 จุด

นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการและประธานบริหารการลงทุนตราสารทุนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทยจำกัด เปิดเผยว่า บลจ.กสิกรไทย มองว่าความน่าสนใจลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ยังมีไม่มากนัก เนื่องจากยังไม่พบปัจจัยที่สร้างการเติบโตที่ชัดเจน และอาจต้องรอถึงไตรมาสที่ 4 ที่เป็นช่วงเม็ดเงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) เข้ามาช่วยผลักดันตลาด และนักลงทุนจะมีการปรับพอร์ตการลงทุนก่อนเข้าสู่ปี 2561

อย่างไรก็ตามในด้านคำแนะนำนักลงทุนนั้น ควรจะเลือกกองทุนหุ้นที่เน้นลงทุนเป็นรายกลุ่ม และมีกลยุทธ์เฉพาะตัวจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า

ข้อมูลเบื้องต้น จากการรายงานงบการเงินของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในส่วนของเอ็นพีแอลงวดไตรมาส 2 ของปีนี้ของแต่ละแบงก์ ประกอบด้วย แบงก์กรุงเทพ (BBL) มีสัดส่วนเอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.76% แบงก์กรุงไทย (KTB) อยู่ที่ 4.24% แบงก์ไทยพาณิชย์ (SCB) อยู่ที่ 2.65% แบงก์กสิกรไทย (KBANK) อยู่ที่ 3.22% แบงก์กรุงศรีอยุธยา (BAY) อยู่ที่ 1.92% แบงก์ทหารไทย (TMB) อยู่ที่ 2.55% แบงก์ทิสโก้ (TISCO) อยู่ที่ 2.01% แบงก์เกียรตินาคิน (KKP) อยู่ที่ 4.94% แบงก์แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHBANK) อยู่ที่ 2.01% แบงก์ซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) 5.40%