แผ่อาณาจักร 'ธุรกิจรถเช่า' ยุทธศาสตร์ทัพใหม่ ASAP

แผ่อาณาจักร 'ธุรกิจรถเช่า' ยุทธศาสตร์ทัพใหม่ ASAP

'ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์' มูฟแผนธุรกิจตามเทรนด์ 'ท่องเที่ยว-ลงทุน' ต่อจิ๊กซอว์อวดความงาม ด้วยการเร่งฝีเท้าดันรายได้ 'รถเช่าระยะสั้น' เป็น 20% ภายใน 5 ปี ยกพอร์ตรถเช่ายาวเป็นขึ้นแท่นสร้างรายได้ประจำ

พฤติกรรมการเดินทางของ 'นักท่องเที่ยวทั่วโลก' เปลี่ยนไป นิยมการเดินทางด้วยตัวเองในลักษณะครอบครัว ลดการพึ่งพาใช้บริการทัวร์ ยิ่งเป็นการเอื้อให้กิจกรรมความต้องการใช้บริการ 'ธุรกิจรถยนต์ให้เช่า' ผ่านเส้นทางทางบกเพิ่มมากขึ้น บมจ.ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ หรือ ASAP ถือเป็นผู้ประกอบการรถยนต์ให้เช่าระยะสั้นและยาว ภายใต้แบรนด์ 'ASAP' เดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ตามการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี
สอดคล้องกับ 'การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)' ที่คาดการณ์ว่าปี 2560 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยกว่า 35 ล้านคน และสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านล้านบาท และโอกาสการเข้ามาลงทุนของ 'ทุนข้ามต่างชาติ' ผ่านโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC

ขณะที่ นักท่องเที่ยวชาวไทยมีการเดินทางโดยสายการบินต้นทุนต่ำ (low cost) เพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านให้เห็นภาพการเติบโตของสายการบินโลว์คอสต์ในเมืองไทย และอนาคตยังมีลงทุนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเข้ามาเป็นอีกหนี่งทางเลือก ถือเป็น 'โอกาสทางการตลาดของธุรกิจรถเช่าระยะสั้น'

ความโดดเด่นเหล่านั้น นอกจากจะผลักดันตัวเลขกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2560 ขยายตัว 83% อยู่ที่ 33 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 18 ล้านบาท

'ทรงวิทย์ ฐิติปุญญา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ หรือ ASAP เล่าแผนธุรกิจให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ความต้องการของบริการรถยนต์ให้เช่าระยะสั้น-ยาว ในปัจจุบันมีอัตราเติบโตกว่า 50% จากอดีตแค่ 10% และอนาคตโอกาสสูงถึง 80-90% ยิ่งเฉพาะรถยนต์ให้เช่าระยะสั้น บริษัทจึงตัดสินใจวางเป้าแผนธุรกิจ 5 ปี (2560-2564) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรมการเดินทาง
ด้วยการเพิ่มน้ำหนักสัดส่วนรายได้ของพอร์ต 'รถให้เช่าระยะสั้น' ขึ้นมาเป็น 20% จากเดิม 5% ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทเป็นรถยนต์ให้เช่าระยะยาว 95%

เจาะลึกลงในแผนธุรกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย พบว่าบริษัทต้องการให้พอร์ต 'รถเช่าระยะยาว' เปรียบเสมือนเป็นพอร์ต 'รายไดประจำ' หรือ Recurring Income ที่สร้างความมั่นคงด้านรายได้สม่ำเสมอต่อเนื่อง ไม่สวิงตามความผันผวนของเศรษฐกิจมากนัก ส่วน 'รถให้เช่าระยะสั้นและรถเช่าพร้อมคนขับ' เปรียบเสมือนเป็นพอร์ตเพื่อไว้ 'การกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ' หรือ Diversify เข้าไปในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้เข้ามาเสริม หลังพบว่าเป็นพอร์ตที่มีมาร์จิ้นระดับสูง

รวมทั้ง มีโอกาสเห็นรายได้รวมของบริษัทแตะ 5,000 ล้านบาท จากฐานปีนี้ที่คาดว่าอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเติบโตปีละ 25-30% แบ่งตาม 3 รูปแบบให้บริการ ได้แก่ รถยนต์ให้เช่าระยะยาว (Operating Lease) รถยนต์ให้เช่าระยะสั้น และรถยนต์ให้เช่าพร้อมคนขับ (Limousine)

ธุรกิจ 'รถยนต์ให้เช่าระยะยาว' ปัจจุบันเทรนด์ของลูกค้าบริษัทต่างๆ มีการเปลี่ยนจากการซื้อรถยนต์มาเป็นการเช่าแทนในรูปแบบการเอาท์ซอร์ส (Outsource) เพราะว่าลูกค้าไม่ต้องแบกรับต้นทุนและซ่อมบำรุง ฉะนั้น สามารถบริหารต้นทุนและคาดการณ์เรื่องค่าใช้จ่ายได้แม่นยำ สะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนจากการความต้องการ (ดีมานด์) ของลูกค้าที่เติบโตขึ้นมาตามเทรนของโลก

'ได้รับปัจจัยบวกจากกระแส Outsource ส่งผลดีต่อธุรกิจรถเช่าระยะยาวของ asap ทำให้ ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากความต้องการของภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่หันมาใช้บริการเพิ่มขึ้น'

และ 'ดาวเด่น' ต้องยกให้ 'ธุรกิจรถเช่าระยะสั้น' ที่เปิดให้บริการปลายปี 2558 เพราะมองเห็นช่องทางการเติบโตของธุรกิจ เป็นไปตามปริมาณนักท่องเที่ยวเข้ามาเมืองไทยสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี จึงเป็นโอกาสเหมาะสมสำหรับการขยายกิจการ ประกอบกับตลาดรถยนต์ให้เช่าในประเทศไทยมีผู้ใช้บริการสูงและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

โดยเริ่มต้นขยายกิจการเข้าไปเปิดเคาน์เตอร์ ASAP เพื่อให้บริการเช่ารถยนต์ระยะสั้นในพื้นที่ท่าอากาศยานต่างๆ ภายใต้การบริหารงานของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT ในจำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย สนามบินสุวรรณภูมิ ,สนามบินกรุงเทพ (ดอนเมือง) ,สนามบินภูเก็ต ,สนามบินเชียงใหม่ ,สนามบินเชียงราย และสนามบินหาดใหญ่

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างเข้าไปตั้งเคาน์เตอร์ให้บริการในสนามบินอู่ตะเภา และคาดว่าในอนาคตจะเข้าไปเจรจากับสนามบินที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. เพื่อเข้าไปตั้งสาขาบริการรถยนต์เช่าเพิ่มเติม

'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' ตอกย้ำการเติบโตของตลาดรถเช่าระยะสั้น ด้วยการลงทุนพัฒนาโครงการศูนย์รวมการให้บริการเกี่ยวกับรถยนต์แบบครบวงจรภายใต้ชื่อ 'asap Auto Park' ย่านถนน บางนา–ตราด ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ บนพื้นที่ขนาด 4 ไร่ 60 ตารางวา โดยใช้เงินลงทุน 150-160 ล้านบาท คาดว่าจะพร้อมให้บริการภายในไตรมาส 1 ปี 2561

สำหรับศูนย์รวมการให้บริการดังกล่าว จะมีพื้นที่สำหรับให้บริการรถยนต์ให้เช่าระยะสั้น พื้นที่จอดรถเสริมสำหรับรถยนต์ให้เช่ารายวันของสาขาสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงจะใช้เป็นพื้นที่จำหน่ายรถยนต์ใช้งานแล้วที่ครบกำหนดสัญญาจากการให้เช่าระยะยาวและรถยนต์ให้เช่ารายวันที่ปลดระวาง ซึ่งคาดว่ายอดขายต่อคันจะดีกว่าการนำไปขายที่ลานประมูล

ด้านพื้นที่เหลือจะทำเป็นพื้นที่ให้เช่าสำหรับบริการเสริมอื่น ๆ เช่น ศูนย์ซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์ ร้านจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับรถยนต์ เป็นต้น

เขาเล่าต่อว่า สเต็ปต่อไปปี 2561 บริษัทจะขยายสาขา asap Auto Park ออกไปตามหัวเมืองในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว จำนวน 4-6 จุด ได้แก่ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น ภูเก็ต หัวหิน และพัทยา เป็นต้น ซึ่งเป็นเมืองที่จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เช่นโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือสนามบิน ส่งผลให้ความต้องการรถยนต์เช่าระยะสั้นมากขึ้น

โดย asap Auto Park จะขยายธุรกิจผ่านการขายแฟรนไซส์ให้กับนักลงทุนที่สนใจในหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ในทำเลมีศักยภาพ ในส่วนของบริษัทจะใช้ความเชี่ยวชาญด้านการบริการ และเป็นผู้รับผิดชอบจัดหารถยนต์ให้เช่ามาบริการ รวมทั้งนำรถยนต์มือสองเข้ามาจำหน่ายภายในโครงการด้วย เพราะว่า ลูกค้าในต่างจังหวัดนิยมรถยนต์มือสองมากกว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ

'ปัจจุบันระบบขนส่งมวลชนของเมืองไทยก็ขยายตัวมากขึ้น เครื่องบินโลว์คอสต์ ,รถไฟความเร็วสูง เข้ามาเป็นทางเลือกให้กับนักเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น จึงทำให้ธุรกิจรถเช่าขยายตัวมากขึ้น เพราะต้องการบริการรถยนต์ให้เช่าภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น'

'รถยนต์ให้เช่าพร้อมคนขับ' เป็นอีกธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตสูง ตอนนี้บริษัทมีให้บริการกับธนาคารเอกชนขนาดใหญ่ 1 แห่ง มีรถเช่าให้บริการจำนวน 128 คัน และมีแผนว่าจะให้กับธนาคารขนาดใหญ่ของไทยอีก 2-3 แห่ง ถือว่าเป็นธุรกิจที่เติบโตระดับที่ดี เพียงแต่ว่าบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมในการสร้างศูนย์ฝึกอบรมพนักงานขับรถ

วิเคราะห์แนวโน้มครึ่งปีหลังผลการดำเนินงานจะเติบโตมากกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากประเมินว่ากำลังซื้อเริ่มกลับมาฟื้นตัวมากขึ้นแล้วจากการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมีสภาพคล่องมากขึ้น

โดยคาดรายได้ปีนี้อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท เติบโต 25-30% จากปีก่อน 1,400 ล้านบาท สาเหตุจากการขยายกองรถยนต์ให้เช่าเพิ่มขึ้นเป็น 20-30% จากปีก่อนที่มีจำนวนรถยนต์ 8,400 คัน ในช่วงครึ่งปีแรกมีรถในกองมากกว่า 1 หมื่นคัน ซึ่งคาดว่าจะใช้งบลงทุนสำหรับขยายกองรถยนต์ให้เช่าในปีนี้ 3,900 ล้านบาทใกล้เคียงกับปีก่อน โดยในช่วงครึ่งปีแรกใช้แล้วราว 1,900 ล้านบาท และจะใช้ในช่วงที่เหลือของปีอีก 2,000 ล้านบาท

ล่าสุด บริษัทได้เปิดตัวแอพลิเคชั่น asap Go เป็นบริการให้เช่ารถยนต์รายชั่วโมงคิดค่าบริการตามการใช้งานจริง มีเป้าหมายคือลูกค้าองค์กรบริเวณตึกออฟฟิศในกรุงเทพฯ โดยจะเปิดให้บริการ 5 แห่งในเดือน ก.ค.นี้ ได้แก่ อาคารคอลัมน์ทาวเวอร์ อาคารอินเตอร์เชนจ์ อาคารศุภลัยแกรนด์ อาคารจัสมินอโศก และ อาคารเมโทรโพรลิสทาวเวอร์ โดยบริษัทมีรถให้บริการจุดละ 2 คัน ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ราว 20,000 บาทต่อคันต่อเดือน โดยจะขยายครบ 30 แห่งภายในสิ้นปีนี้

'หุ้นใหญ่ASAP' ทิ้งท้ายไว้ว่า แม้ว่าธุรกิจของบริษัทจะมีปัจจัยความไม่ชัดเจนภายในประเทศกระทบ สะท้อนผ่านการเข้ามาลงทุนของต่างชาติและการเดินทางของนักท่องเที่ยว หากมีการลงทุนถือเป็นโอกาสให้ธุรกิจรถยนต์ให้เช่าเติบโตสูง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแม้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว แต่ภาพของการท่องเที่ยวยังสดใส นั่นคือเหตุผลที่ทำให้บริษัทเติบโตในระดับ 20% ขึ้นไป

'เรามีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจให้บริการรถยนต์ให้เช่าอย่างครบวงจร ทั้ง ยาว สั้น และรถยนต์พร้อมคนขับ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกกลุ่ม' 

ดีลเลอร์โตโยต้าสู่บริการรูปแบบใหม่

'ทรงวิทย์ ฐิติปุญญา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ หรือ ASAP เล่าประวัติฉบับย่อให้ฟังว่า มาจากครอบครัวครอบที่คุณพ่อแม่ 'สุรินทร์-สุภาณี ฐิติปุญญา' ที่ยึดอาชีพเป็นตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกมาเป็นระยะเวลากว่า 50 ปีแล้ว

ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นรถยนต์และวิ่งเล่นในศูนย์รถยนต์ 'ผมนั้นซึมซับในธุรกิจรถยนต์มาตลอด' ทว่า ด้วยธุรกิจครอบครัวนั้นอยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนตัวไม่อยากอยู่ต่างจังหวัด ฉะนั้น เมื่อเรียนจบปริญญาตรีจึงสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อนิสันเป็นสิ่งแรก

ต่อมา โตโยต้าเปิดรับสมัครดีลเลอร์ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรปราการ ไม่รอช้ายื่นใบสมัครของเป็นตัวแทนทันที เมื่อเข้ามาเป็นดีลเลอร์รถยนต์โตโยต้าเริ่มมองเห็นช่องทางและโอกาสทางธุรกิจที่เมืองไทยยังเติบโตได้มากกว่าการเป็นเพียงดีลเลอร์รถยนต์ นั่นคือ 'ธุรกิจรถยนต์ให้เช่า' หลังจากทำธุรกิจดีลเลอร์โตโยต้ามา 4 ปี

แม้ว่าตอนนั้นตลาดรถยนต์ให้เช่าจะมีขนาดเล็กเติบโตเพียง 10% แต่เชื่อว่าแนวโน้มจะเติบโตได้มาก โดยเริ่มแรกให้บริการรถยนต์เช่าในธุรกิจขนส่ง (โลจิสติกส์) และค้าปลีก ถือว่าลูกค้าให้การตอบรับที่ดี สะท้อนภาพให้เห็นชัดเจนจากการที่ลูกค้าเก่ายังใช้บริการรถยนต์ให้เช่าของ ASAP อย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน