คาด 'เกณฑ์ใหม่' คุมหนี้ครัวเรือนกระทบน้อย

คาด 'เกณฑ์ใหม่' คุมหนี้ครัวเรือนกระทบน้อย

เกณฑ์ใหม่คุมก่อหนี้ครัวเรือน โบรกฟันธง "กระทบน้อย"

โบรกเกอร์ ประเมินเกณฑ์ใหม่ “แบงก์ชาติ” คุมหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล กระทบผู้ให้บริการทั้งแบงก์-นอนแบงก์จำกัด ยกกรณี “อิออน” ปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 2 เท่าของรายได้อยู่แล้ว แต่อาจกระทบการเติบโตระยะยาว เหตุเป็นข้อจำกัดการทำธุรกิจในอนาคต

ในเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะประกาศใช้กฎเกณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีหน้าเป็นต้นไป

สำหรับกฎเกณฑ์ใหม่ของ ธปท. ในเบื้องต้นแบ่งออกเป็น สินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งมีรายงานข่าวว่า ธปท. จะควบคุมการก่อหนี้ตามฐานรายได้ โดยกำหนดให้คนที่มีรายได้ระหว่าง 15,000-30,000 บาทต่อเดือน ได้รับวงเงินบัตรเครดิตสูงสุดไม่เกิน 1.5 เท่า

ส่วนผู้มีรายได้ 30,000-50,000 บาทต่อเดือน ได้รับวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตไม่เกิน 3 เท่า และ 50,000 บาทขึ้นไป ได้รับวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตไม่เกิน 5 เท่า โดยยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการจำกัดจำนวนบัตรเครดิตหรือไม่ จากเดิมที่ทั้งหมดจะได้รับวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตไม่เกิน 5 เท่า ในทุกฐานรายได้

ขณะที่ สินเชื่อส่วนบุคคล มีกระแสข่าวว่า ธปท. จะกำหนดให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท จะได้รับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1.5 เท่า และจำกัดสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกิน 3 แห่ง ส่วนผู้มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาท ขึ้นไป ยังคงได้รับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ยังคงไม่ได้รับการยืนยันจากทาง ธปท. โดยก่อนหน้านี้ ธปท. ระบุว่ากฎเกณฑ์ใหม่จะออกเป็นแพ็คเกจ

ด้าน ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส ระบุว่า หลังปรากฏข่าวว่า ธปท. เตรียมควบคุมการปล่อยสินเชื่อครัวเรือนที่ไม่มีหลักประกัน พบว่าราคาหุ้นกลุ่มบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ที่เน้นการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มนี้ปรับลดลงแรง เช่น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี ซึ่งปรับลดลงไปราว 16% และ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ อิออน ลดลงราว 11% จากจุดสูงสุดเมื่อปลายเดือนมิ.ย. จึงคาดว่าน่าจะสะท้อนเกณฑ์ใหม่ที่เตรียมบังคับใช้ปีหน้า

บล.เอเซียพลัส ประเมินผลกระทบเป็น 3 ลักษณะ คือ 1.ดอกเบี้ยรับที่หายไปทันที จากที่เคยกำหนดเพดานที่ 20% เหลือ 18% ของยอดคงค้าง และ 2. จำกัดการปล่อยสินเชื่อ จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือน ซึ่งเกณฑ์ใหม่จะเป็นขั้นบันไดตามฐานเงินเดือน คือ ได้สูงสุด 1.5 เท่า กรณีเงินเดือนไม่เกิน 3 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 3 เท่า กรณีเงินเดือนไม่เกิน 5 หมื่นบาท และ 5 เท่า กรณีที่เงินเดือนเกินกว่า 5 หมื่นบาท และ 3.เกณฑ์ใหม่ยังกำหนดให้สถาบันการเงินหรือนอนแบงก์ ที่ออกบัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลแก่ลูกค้ารายใดรายหนึ่งรวมกันไม่เกิน 3 ราย

บล.เอเซียพลัส ระบุว่า หากพิจารณาผลกระทบรายบริษัทพบว่าน่าจะได้รับผลกระทบจำกัด เริ่มจากกลุ่มนอนแบงก์ เพราะแม้มีการปล่อยสินเชื่อทั้งบุคคลและบัตรเครดิตรวมกันเกือบทั้ง 100% แต่คาดว่าการปล่อยสินเชื่อมีความระมัดระวังพอสมควร เช่น อิออน ปล่อยไม่เกิน 2 เท่าของเงินเดือนอยู่แล้ว แต่ผลกระทบน่าจะมีผลต่อการเติบโตในระยะยาว ทำให้เป็นอุปสรรคในการขยายธุรกิจเชิงรุก

ขณะที่การแข่งขันโดยตรงกับธนาคารพาณิชย์จะมีมากขึ้น แต่ระยะสั้นถือว่าราคาหุ้นได้ลดลงตอบรับข่าวนี้แล้ว เช่นเดียวกับ เคทีซี น่าจะได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน แม้ บล.เอเซียพลัส ไม่ได้ทำการศึกษา แต่ราคาที่ลดลงแรงดังกล่าวข้างต้นน่าจะสะท้อนข่าวลบไปแล้วเช่นกัน

ส่วนกรณีของ ธนาคารพาณิชย์ น่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดเช่นกัน เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล รวมกันคิดเป็นเพียง 8% ของสินเชื่อรวม และได้ชะลอการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้มาระยะหนึ่ง และมีนโยบายปล่อยสินเชื่อไม่ถึง 5 เท่าของเงินเดือน ซึ่งเน้นฐานลูกค้าระดับกลาง-บนที่มีฐานเงินเดือน 3-5 หมื่นบาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเป็นรายธนาคาร พบว่า ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารกรุงศรี น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มฯ เพราะมีสัดส่วนสินเชื่อประเภทนี้คิดเป็น 19% และ 11% โดย ธนาคารกรุงไทย เน้นสินเชื่อบุคคลที่เป็นข้าราชการ โดยหักยอดชำระหนี้ผ่านบัญชีเงินเดือน ซึ่งจะกระทบในกลุ่มที่มีฐานเงินเดือนต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ส่วน ธนาคารกรุงศรี มีฐานลูกค้าบัตร First Choice, Tesco Card ที่มีฐานเงินเดือนขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท