เวียดนามเปิดศึก‘บินตรง’ชิงแชร์’ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้’จากไทย

เวียดนามเปิดศึก‘บินตรง’ชิงแชร์’ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้’จากไทย

“สายการบิน” เป็นตัวแปรที่ช่วยชี้ขาดการช่วงชิงส่วนแบ่งทางตลาดท่องเที่ยวของหลายประเทศ โดยเฉพาะ “ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้” ที่เป็นเป้าหมายหลักของไทยมานาน ที่ได้รับการท้าทายจาก “เวียดนาม” ที่มาพร้อมสายการบินโยงผู้โดยสารเข้าเมืองหลักและเมืองรองทั่วประเทศ

ขณะที่สายการบินสัญชาติไทยยังไม่สามารถขยายจุดบินหรือเพิ่มเส้นทางใดๆ สู่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มาแล้วกว่า 2 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่ระบบมาตรฐานการบินของไทยติด “ธงแดง” จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ)

สิริเกศอนงค์ ไตรรัตนทรงพล ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานโซล (เกาหลีใต้) กล่าวว่า เวียดนามเป็นคู่แข่งที่มาแรง อัตราตลาดญี่ปุ่นไปเยือนเติบโตกว่า 35% (สถิติเดือน ม.ค.-เม.ย.60) เพราะมีสายการบินที่นำสู่ 8-9 เส้นทาง และสามารถทำอัตราบรรทุกเฉลี่ผู้โดยสารได้สูง แต่ไทยมีเพียง 4 เส้นทาง และกระจุกตัวอยู่ในจุดหมายเดิม อาทิ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินของไทยยังอยู่ระหว่างแก้ไขธงแดงจากไอซีเอโอ

นอกจากนั้นการที่มีนักธุรกิจและอุตสาหกรรมจากเกาหลีใต้ไปลงทุนเวียดนามสูงสุดเป็นอันดับ 1 และเมื่อมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก โรงแรมต่อเนื่อง ยิ่งทำให้เกิดการบอกปากต่อปากนำมาซึ่งการขยายตัวของตลาดเกาหลีใต้ในเวียดนามระดับสูงดังกล่าว

สำหรับปี 2561 ททท.ตั้งเป้าตลาดเกาหลีใต้มาไทย 1.68 ล้านคน เพิ่ม 5.38% ขณะที่รายได้คาดการณ์ที่ 7.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 9%

ส่วน “ญี่ปุ่น” ซึ่งคาดว่าตลาดเอาท์บาวด์จะสูงถึง 17 ล้านคนในปีนี้ ภัทรอนงค์ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานโตเกียว กล่าวว่า ยังประเมินว่าจะมาไทยได้ตามเป้าหมาย 1.4 ล้านคนในปีนี้ ก่อนจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคนในปี 2561 แต่ทั้งนี้ในครึ่งปีหลังของ 2560 การเติบโตจะลดความหวือหวาลง เนื่องจากนักเรียนกำลังเข้าสู่ช่วงเปิดภาคเรียนเดือน ส.ค.นี้

แม้ว่าในเชิงเศรษฐกิจ รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้คำมั่นและทำให้กำลังซื้อของคนในประเทศยังขับเคลื่อนได้ดี แต่ยังมีปัจจัยต้องจับตาเพื่อนำไปสู่การปรับกลยุทธ์เชิงรุกและเชิงรับให้พร้อม ได้แก่ การแข่งขันจากคู่แข่งระยะใกล้ โดยเฉพาะเวียดนามที่แม้จะมีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นตามหลังไทยราว 6-7 แสนคน แต่มี “อัตราเติบโตรวดเร็ว” จากการที่มี “เที่ยวบินตรง” เข้าสู่จุดหมายหาดทรายชายทะเลได้สะดวก

“ชาวญี่ปุ่นชอบการเดินทางที่ประหยัดเวลา และชื่นชอบการท่องเที่ยวทางทะเล แต่ไทยยังไม่มีเที่ยวบินตรง ต่างจากเวียดนามที่มีเส้นทางกระจายตัวสู่เมืองที่มีชายหาด ทำให้ได้เปรียบด้านเดินทางมากกว่า”

ปัจจุบันเที่ยวบินตรงจากโตเกียวสู่ไทยมีจำนวน 112 เที่ยวบิน รวมกว่า 3.5 หมื่นที่นั่ง แต่ยังมีจุดหมายที่กรุงเทพฯ ทั้งสิ้น ขณะที่การเดินทางไปยังภูเก็ตต้องแวะเปลี่ยนเครื่องที่ฮับในประเทศอื่นๆ เช่น ฮ่องกง, จีน, เกาหลีใต้ เป็นต้น

และเมื่อสายการบินจากไทยอยู่ในภาวะที่ขยายจุดหมายในญี่ปุ่นไม่ได้ จึงส่งผลท้าทายต่อเนื่องถึงการเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวเดินทางครั้งแรก (First Visit) ที่มีสัดส่วนเพียง 20% เนื่องจากการนำนักท่องเที่ยวมาจากพื้นที่ใหม่ๆ ยังต้องพึ่งพิงสนามบินหลักต่อไป

ดังนั้น กลยุทธ์ที่หันมาปรับคือ การเพิ่มยอดค่าใช้จ่ายจากจำนวนนักท่องเที่ยวเดิมที่มีอยู่ โดยเจาะรายเซกเมนต์ ได้แก่ กลุ่มผู้หญิง ซึ่งมีสัดส่วนมาไทยเพียง 35% เทียบกับผู้ชายที่สูงถึง 65% ทำให้ต้องเร่งสร้างการรับรู้สินค้าแนวใหม่ จากที่ผ่านมาตลาดผู้หญิงมองข้ามประเทศไทย เพราะคิดว่าสินค้าท่องเที่ยวอาจไม่ตรงความสนใจของตน

“ต้องการให้ตลาดชายและหญิงจากสมดุลกันมากขึ้น เพราะผู้หญิงมีศักยภาพด้านท่องเที่ยว หากมาไทยมากขึ้นก็สะท้อนภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยที่ดีขึ้นด้วย จึงจะนำเสนอเรื่องกิจกรรมประสบการณ์ท้องถิ่น แต่เพิ่มกิมมิคความหรูหราให้ เช่น เสนอทัวร์ชิมอาหารเยาวราช ด้วยการนั่งรถตุ๊กตุ๊กที่จัดเป็นบริการนำเที่ยวเฉพาะ”

นอกจากนั้น เจาะตลาดนักเรียนให้เข้าร่วมโปรแกรมฝึกอบรมในไทย โดยร่วมกับสถาบันภาษาจัดโครงการระยะสั้นอบรมภาษาอังกฤษ ซึ่งเหมาะกับนักเรียนญี่ปุ่นที่ต้องการท่องเที่ยวและเรียนรู้ แต่อาจจะไม่สะดวกสบายใจมากที่จะไปเยือนประเทศที่พูดอังกฤษเป็นภาษาถิ่น ซึ่งหลังจากจบโปรแกรมในไทยที่จัดควบคู่การอบรมภาษาพร้อมสันทนาการท่องเที่ยว จะมีการมอบใบประกาศนียบัตรด้วย

ต่อมาคือเจาะกลุ่มมาราธอนที่ญี่ปุ่นมีจำนวนการวิ่งสูงถึง 24 ล้านคนครั้งต่อปี โดยหลังจากที่นำเสนอมาราธอนรายการหลักของไทยติดตลาดแล้ว ในปีหน้าจะกระจายแพ็คเกจการขาย เจาะมาราธอนในต่างจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบ เช่น เมืองมรดกโลก สุโขทัย ที่เริ่มมีลูกค้าญี่ปุ่นเรียกร้องให้บริษัททัวร์จัดหาการแข่งขันมาราธอนขนาดเล็ก ที่มีเสน่ห์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นมานำเสนอมากขึ้น ซึ่งจะมาตรงกับกลยุทธ์การกระจายรายได้ด้านท่องเที่ยวของไทยพอดี

ด้าน สรัสวดี อาสาสรรพกิจ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานโอซาก้า กล่าวว่า ในแผนการเจาะกลุ่มมาราธอนจากญี่ปุ่นนั้น ฐานตลาดนักวิ่งผู้หญิงประเภท “Fun Runner” หรือการวิ่งระยะสั้น ถือว่าน่าสนใจเพราะมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน และเหมาะสำหรับการจับคู่ลงรายการมาราธอนขนาดเล็ก ที่กระจายในแหล่งท่องเที่ยวที่ตลาดญี่ปุ่นให้ความสนใจ เช่น สุโขทัย, อยุธยา และเขาใหญ่

ทั้งนี้ พื้นที่ตลาดญี่ปุ่นทางตอนใต้ก็มีสภาพการแข่งขันเช่นเดียวกับสำนักงานโตเกียว คือ มีคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม, ไต้หวัน, เกาหลีใต้ และจีน โดยไทยเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมของตลาดเอาท์บาวด์ญี่ปุ่นเป็นอันดับ 4 และหากเจาะจงแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลยังมี “ฮาวาย” ที่เป็นคู่แข่งตลอดกาล เนื่องจากเป็นจุดหมายที่ชาวญี่ปุ่นใฝ่ฝันจะไปเยือน เสมือนเป็นบ้านหลังที่สอง

ดังนั้น นอกจากการขายภูเก็ตซึ่งเป็นที่นิยมมานานแล้ว จะต้องนำเสนอพื้นที่ใหม่ๆ เช่น เกาะช้าง โดยใช้เครือข่ายการบินไทยและบางกอกแอร์เวยส์ที่มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ บินตรงให้บริการ รวมถึงฉีกแนวเสนอสินค้าเชิงวัฒนธรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น