Daily Market Outlook (20 ก.ค.60)

Daily Market Outlook (20 ก.ค.60)

ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณดีขึ้นอีก

คาดหุ้นไทยวันนี้เดินหน้าต่อได้ตามทิศทางตลาดหุ้นหลักของโลก หลังจากผลประกอบการไตรมาส 2 ของสหรัฐ ยุโรป และไทยที่ประกาศออกมาส่วนใหญ่เข้มแข็งแถมมีดีกว่าคาดด้วย ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นเป็นบวกต่อหุ้นพลังงานในขณะที่ ดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทรงตัวก่อนการประชุม BOJ และ ECB จะมีผลสรุป ตัวเลขการค้าญี่ปุ่นที่แข็งแกร่งมาต่อเนื่องบ่งชี้การฟื้นตัวการค้าของโลก มีเสถียรภาพมากขึ้น ปัจจัยภายในประเทศวันนี้เป็นลบ ยอดขายรถในประเทศเพิ่มขึ้นแต่ส่งออกยังลดลงในครึ่งปีแรกความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมลดลงในเดือน มิ.ย. 2 ธนาคารส่วนใหญ่ KBANK กับ KTB ประกาศกำไรลดลงในไตรมาส 2 ตามคาดจากการตั้งสำรอง แต่เรามีมุมมองว่าน่าจะเป็นไตรมาสสุดท้ายแล้ว ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไปแนวโน้มของธนาคารโดยรวมจะดีขึ้น

หุ้นเด่นวันนี้: TCAP (ราคาปิด 46.75 บาท; ซื้อ; ราคาเป้าหมายปี 60 ของ AWS 55.00 บาท)

บมจ.ทุนธนชาต เป็นหุ้นเด่นในวันนี้จากผลการดำเนินงานที่ออกมาดี สินเชื่อที่กลับมาฟื้นตัว และแนวโน้มที่ดูสดใส โดย TCAP รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2/60 ที่ 1.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.2% YoYหนุนโดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ดีขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลงและสินเชื่อที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงระดับการตั้งสำรองที่ลดลง ซึ่งในไตรมาสดังกล่าว สินเชื่อของธนาคารกลับมาฟื้นตัว 0.6% YTD หลังจากหดตัวมา 3 ปีติดต่อกัน หนุนโดยสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มเช่าซื้อ เรามองว่าอุปสงค์สินเชื่อนับจากนี้จะเร่งตัวขึ้นไปอีกตามอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังฟื้นตัว การบริโภคในครัวเรือนที่กำลังขยายตัว และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เราคาดการณ์สินเชื่อของ TCAP ปีนี้จะเติบโต 5% ในแง่ของคุณภาพสินทรัพย์ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 2.26% ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (coverage ratio) อยู่ที่ 142.7% ปัจจุบัน หุ้น TCAP น่าสนใจมากเนื่องจากยังซื้อขายกันที่อัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีที่ถูกที่ 0.9 เท่าและมีอัตราเงินปันผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีที่ 4.7% เราคาดการณ์กำไรสุทธิจะเติบโต 10.9% ในปี 60 และ 5.9% ในปี 61 Price Pattern ของ TCAP ยังคงมีความแข็งแกร่งอย่างมากในแนวโน้มหลักที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) จากการเกิดทั้ง Daily, Weekly, & Monthly Buy Signal เมื่อพิจารณา Price Pattern ของ TCAP ที่ได้สามารถ Break ด้วยการปิดตลาดเหนือเป้าหมายแรกที่ 40.25 บาทไปได้แล้ว จึงมีเป้าหมายเบื้องต้นอยู่ที่ 63.75 บาท ทั้งนี้ TCAP มีจุด Stop Loss ระยะสั้นอยู่ที่ 45.50 บาท (Resistance: 47.00, 47.25, 48.25; Support: 46.25, 45.75, 45.00)

ปัจจัยสำคัญ

ประเด็นในประเทศ:

• ยอดขายรถในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ส่งออกลง โดยที่ยอดขายรถในประเทศเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 5.7% YoYอยู่ที่ 69,794 คัน หนุนโดยการออกโมเดลรถรุ่นใหม่ ขณะที่ยอดขาย 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 11.2% YoYอยู่ที่ 409,976 คัน อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกรถเดือน มิ.ย.ลดลง 13% YoYเนื่องจากการหดตัวในทุกทวีป และส่งออก 6 เดือนแรกลดลง 9.8% YoYอยู่ที่ 536,406 คัน (บางกอกโพสต์)

• ดัชนีอุตสาหกรรมไทยเดือน มิ.ย. ลดลง อยู่ที่ 84.7 จาก 85.5 ในเดือน พ.ค. ลดลง 3 เดือนติดต่อกัน และนับว่าเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอ บวกกับยังมีความกังวลในเรื่องกฎแรงงานใหม่ (บางกอกโพสต์)

• KBANK (ราคาปิด 198.50 บาท; ซื้อ; ราคาเป้าหมายปี 60 ของ AWS 217.00 บาท) รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2/60 ที่ 9.0 พันล้านบาท ลดลง 11.7% QoQและ 4.7% YoYเนื่องจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น โดยอัตราส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อเฉลี่ยไตรมาส 2/60 อยู่ที่ 243bps เพิ่มขึ้นจาก 215bps ในไตรมาส 1/60 และ 210bps ในไตรมาส 2/59 แม้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมจะคงที่ที่ 3.31% ก็ตาม (SET)ความเห็น: ผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามประมาณของเราแต่ต่ำกว่าประมาณการเฉลี่ยบลูมเบิร์ก 9%

• KTB (ราคาปิด 18.50 บาท; ถือ; ราคาเป้าหมายปี 60 ของ AWS 22.00 บาท) รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2/60 ที่ 3.2 พันล้านบาท ลดลง 62.2% QoQและ 62.9% YoYเนื่องจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น 86% QoQและ 79% YoYอย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 4.33% จาก 4.36% ในไตรมาส 1/60 (SET) ความเห็น: ผลการดำเนินที่อ่อนแอเป็นไปตามคาดการณ์ สาเหตุหลักมาจากกรณีของ EARTH

ต่างประเทศ:

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปิดเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเมื่อวันพุธ หลังจากวุฒิสภาประสบความล้มเหลวในการยกเลิกโอบามาแคร์ในขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุม ECB ซึ่งจะเสร็จสิ้นในวันนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีอยู่ที่ 2.266% ลงต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากราคาปิดเมื่อวันอังคาร (Reuters)

• ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบกับเงินยูโรแต่อ่อนค่าเทียบกับเงินเยนเมื่อวันพุธ ขณะที่นักลงทุนรอผลการประชุม ECB และ BOJ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ปิดบวก 0.2% ที่ระดับ 94.791 ไม่ไกลจากระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือนที่ 94.476 เมื่อวันอังคาร (Reuters)

สหรัฐ:

• ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่เมื่อวันพุธ โดยมีแรงหนุนบางส่วนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจากรายงานผลประกอบการที่เป็นบวก อย่างไรก็ตาม การปรับตัวขึ้นของดัชนีดาวโจนส์ถูกสกัดจากหุ้น IBM ที่ร่วงลงอย่างหนักหลังมีรายงานกำไรรายไตรมาสต่ำกว่าที่คาด (Reuters)

• คาดกำไรของบริษัทจดทะเบียนใน S&P500 จะเพิ่มขึ้น 8.7% YoYโดยเพิ่มขึ้นจากที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8% ในช่วงต้นเดือนก.ค. (Thomson Reuters I/B/E/S)

• ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านของสหรัฐพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือนในเดือนมิ.ย. โดยเพิ่มขึ้น 8.3% MoMสู่ระดับ 1.22 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. และเพิ่มขึ้น 2.1% YoYในขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.16 ล้านยูนิตในเดือนมิ.ย. (Reuters)

ยุโรป:

• หุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นวานนี้ โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวดีขึ้นในรอบ 10 เดือน และกลุ่มอื่นๆ ปรับตัวขึ้นเช่นกัน (Reuters)

• คาดกำไรบริษัทไตรมาส 2/60 ปรับตัวขึ้น 7.9% YoYถ้าไม่รวมกลุ่มพลังงาน คาดว่าเพิ่มขึ้น 5.6% (Thomson Reuters I/B/E/S estimates)

• ECB ประชุมวันนี้ โดยตลาดคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงท่าที รวมถึงการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางพร้อมที่จะขยายการเข้าซื้อพันธบัตร (Reuters)

เอเชีย:

• ประชุม BOJ จะเสร็จสิ้นในวันนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าในการประชุม BOJ จะคงนโยบายตามเดิม (Reuters)

• ตัวเลขส่งออกของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 7 เดือนในเดือนมิ.ย. จากการส่งออกรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ยอดส่งออกเพิ่มขึ้น 9.7% YoYในเดือนมิ.ย. ในขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 9.5% โดยยอดส่งออกเพิ่มขึ้น 14.9% ในเดือนพ.ค. ทั้งนี้ยอดส่งออกเพิ่มขึ้น 15.5% เมื่อนับจากต้นปีถึงเดือนมิ.ย. ในขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 14.6% นำโดยถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีดุลการค้าเกินดุลอยู่ที่ 4.399 แสนล้านเยน (Reuters)

• ดัชนีตลาดหุ้นจีนดีดตัวขึ้นมาปิดบวกสูงสุดในรอบ 18 เดือนเมื่อวันพุธ โดยนักลงทุนเข้าเก็บหุ้นบลูชิปและหุ้นกลุ่มพลังงานหลังรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีการคาดการณ์ว่าจีนกำลังพยายามอย่างหนักในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่อุ้ยอ้ายและไม่มีประสิทธิภาพ (Reuters)

สินค้าโภคภัณฑ์:

• น้ำมันปรับตัวขึ้น 2% สูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์เมื่อวันพุธ หลังสต็อกน้ำมันดิบลดลงมากกว่าที่คาดในสัปดาห์ที่แล้ว EIA เผยว่า สต็อกน้ำมันดิบลดลง 4.7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 3.2 ล้านบาร์เรล ราคาเบรนท์เพิ่มขึ้น 86 เซนต์ (+1.8%) อยู่ที่ 49.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 72 เซนต์ (+1.6%) อยู่ที่ 47.12 ดอลลาร์ (Reuters)

• ราคาทองปรับตัวลงเมื่อวันพุธ เนื่องจากดอลลาร์ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือนหลังจากที่แข็งค่าติดต่อกัน 3 วัน ราคาทองคำแท่งลดลง 0.1% อยู่ที่ 1,240.55 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนราคาทองล่วงหน้ากำหนดส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 1.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์อยู่ที่ 1,240.70 ดอลลาร์ (Reuters)