จาก "ขายฝาก" เป็น "ขายขาด" ชนวนฆ่า 8 ศพ?

 จาก "ขายฝาก" เป็น "ขายขาด" ชนวนฆ่า 8 ศพ?

จาก "ขายฝาก" เป็น "ขายขาด" ชนวนฆ่า 8 ศพ?

จากปัญหาการขายฝากที่ดินของครอบครัวผู้ใหญ่บ้านวรยุทธ กับนายซูริก์ฟัต หรือ “บังฟัต” จนกลายเป็นความขัดแย้งกันนั้น สะท้อนให้เห็นปัญหาในภาพใหญ่ คือเรื่อง “หนี้นอกระบบ” หรือการกู้ยืมเงินนอกสถาบันการเงิน โดยเลือกกู้กับคนที่ตนเองไว้วางใจ หรือนายทุนท้องถิ่น แล้วสุดท้ายก็มีการโกงกัน ซึ่งหลายๆ กรณีเป็นการโกงโดยถูกกฎหมาย คือใช้ความรู้ทางกฎหมายที่มีมากกว่าเป็นเครื่องมือ / ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะที่จังหวัดกระบี่เท่านั้น

หากเรานำข้อพิพาทระหว่างครอบครัวผู้ใหญ่บ้านวรยุทธ กับบังฟัต มาเป็นกรณีศึกษา จะพบว่าเจตนาที่แท้จริงของพ่อตาผู้ใหญ่บ้าน คือ นายจรีย์ บุตรเติบ ที่นำที่ดินไปขายให้บังฟัตนั้น นายจรีย์เข้าใจว่าเป็นการ “ขายฝาก” ไม่ใช่ “ขายขาด” ให้บังฟัต / และในความเข้าใจของนายจรีย์เอง จากการให้สัมภาษณ์หลายๆ ครั้ง เป็นไปได้ว่านายจรีย์คิดว่า “การขายฝาก” มีผลทางกฎหมายคล้ายๆ กับ “จำนอง” คือตนเองยังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ โดยที่บังฟัตไม่สามารถนำโฉนดไปทำนิติกรรมอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นการจำนองต่อ หรือขายต่อ

แต่แท้ที่จริงแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อมีการ “ขายฝาก” กรรมสิทธิ์ในที่ดินจะตกเป็นของผู้ซื้อฝากทันที ซึ่งกรณีนี้ก็คือบังฟัต โดยบังฟัตสามารถนำที่ดินไปจำนอง หรือขายต่อได้ เพียงแต่ผู้รับจำนอง หรือซื้อที่ดินต่อ จะต้องรับรู้ว่า ผู้ขายฝากเดิมสามารถมาไถ่ถอนคืนได้ ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาขายฝาก

ที่ร้ายไปกว่านั้น ข้อมูลที่ล่าความจริงได้จากทนายของครอบครัวผู้ใหญ่ฯวรยุทธ พบว่าที่ดินของพ่อตาผู้ใหญ่ฯ ถูก “ขายขาด” ให้บังฟัต โดยมีสัญญาปากเปล่ากันไว้ว่า เมื่อใช้หนี้ครบ ก็จะคืนโฉนดให้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว เมื่อเป็นการ “ขายขาด” บังฟัตก็จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยสมบูรณ์ ส่วน “สัญญาปากเปล่า” ไม่สามารถฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย

จากพฤติการณ์ของคดี น่าเชื่อว่าบังฟัต อาจจะให้ข้อมูลกับพ่อตาของผู้ใหญ่บ้านวรยุทธว่า ถ้าทำสัญญาขายฝาก จะมีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน หากใช้หนี้ไม่ทัน จะทำให้สูญเสียที่ดินไป จึงควรทำสัญญา “ขายขาด” ดีกว่า แล้วสัญญาปากเปล่า หรือสัญญาลูกผู้ชายกันว่า ถ้าใช้หนี้ครบตามจำนวนเมื่อไหร่ ก็จะคืนโฉนดให้ แต่สุดท้ายเมื่อไม่มีการคืน จึงกลายเป็นความขัดแย้งบานปลาย

ทนายของครอบครัวผู้ใหญ่ฯวรยุทธ บอกกับล่าความจริงว่า นี่เป็นการทำนิติกรรมอำพราง คือเจตนาจริงๆ ของพ่อตาผู้ใหญ่บ้าน ต้องการ “ขายฝาก” แต่บังฟัตทำนิติกรรมอำพราง ให้เป็น “ขายขาด” ฉะนั้นจึงนำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายซึ่งเป็น“นิติกรรมอำพราง” นั้นเสีย จุดนี้อาจทำให้บังฟัตไม่พอใจก็เป็นได้ เพราะตนเองก็รับซื้อที่ดินของชาวบ้านในอำเภออ่าวลึกไว้อีกหลายแปลง