แบรนด์แฟชั่นชูไทยขุมทองเจาะทัวริสต์

แบรนด์แฟชั่นชูไทยขุมทองเจาะทัวริสต์

ศักยภาพประเทศไทยทั้งด้านภูมิศาสตร์ศูนย์กลางอาเซียน และการขยายตัวของชนชั้นกลาง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เจนเนอเรชั่น วาย หรือ “มิลเลนเนียลส์” 

ซึ่งให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง นั่นหมายถึงความต้องการสินค้าและบริการที่ “ยกระดับ” หรือ แตกต่างจากทั่วไป  ซึ่งเป็นฐานกำลังซื้อหลักของกลุ่มสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนม ขณะเดียวกันยังมีกำลังซื้อจาก “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” ที่หลั่งไหลมาเยือนเมืองไทยปีละกว่า 30 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งขนาดของตลาดและวิถีการบริโภค คือ ขุมทองของบรรดาแบรนด์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์จากทั่วโลกมุ่งหน้าปักหมุดไทยเป็นฮับสร้างฐานรายได้ใหม่ทั้งสิ้น

 มิโนรุ อิชิกุโระ กรรมการและรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ไซโกว็อทช์ คอเปอร์เรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ไทยเป็นตลาดศักยภาพของไซโก ที่จะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต จากการเติบโตของชนชั้นกลาง และการเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

ชาวต่างชาติในไทยขยายตัวมากขึ้น มีทั้งกลุ่มที่มาเยี่ยมเยือนจากภาคองค์กรธุรกิจ กลุ่มที่มาทำงาน และนักท่องเที่ยว ทำให้เกิด “ดีมานด์” ขึ้นในตลาด 

ไทยเป็นตลาดที่มีอิทธิพลสูงในอาเซียน และดีที่สุดในอาเซียนเวลานี้”  

ฮารุมิตซึ อากาชิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซโก (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายนาฬิกาแบรนด์ไซโก และอัลบา จากประเทศญี่ปุ่น กล่าวเสริมว่า สินค้าในกลุ่มพรีเมียมของไซโก ระดับราคา 1.5-2.5 หมื่นมียอดขายมากสุด สะท้อนดีมานด์ของตลาดที่ให้ความสำคัญกับ “คุณค่า” สอดคล้องกับแนวทางการทำตลาดของไซโก และเทรนด์ของแบรนด์ต่างๆ มุ่งสู่ตลาดอัพสเกล 

ปีนี้ ไซโก เปิดตัวแคมเปญ “Explore The Unexpected”  ซึ่งหมายถึงการเดินทางครั้งใหม่กับสิ่งท้าทายและเร้าใจกว่าเดิมเพื่อให้เป็นวินาทีที่น่าจดจำ เจาะตรงกลุ่มเป้าหมาย เจนวาย ที่มีไลฟ์สไตล์สนุกกับชีวิต รวมทั้งการทำตลาดรุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่น รวมทั้งการโปรโมทคอลเลคชั่น พรีเมียร์ (PREMIER) ที่ได้รับความนิยมทั้งตลาดเมืองไทยและทั่วโลก เจาะกลุ่ม Young Executive ที่มีการเติบโตสูงเช่นกัน  

ชัยโรจน์ ศรีเดชะรินทร์กุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟชั่น แบรนด์ รีเทล บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า 

ไทยนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงด้านแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ที่มีการเติบโตอย่างมากจากการขยายตัวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และความเป็น “ทัวริสต์ เดสทิเนชั่น” ของประเทศไทยที่มีฐานกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกกว่า 30 ล้านคนต่อปี  

เป็นโอกาสในการทำตลาด ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรแบรนด์สินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ทั่วโลก ทั้งโซนยุโรป สหรัฐ และเอเชีย เพื่อขยายตลาดในเมืองไทย”

กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทยเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นตลาด นอกเหนือจากการเดินทางท่องเที่ยวธรรมชาติ มีกลุ่มท่องเที่ยวเพื่อ “ชอปปิง” ซึ่งไทยมีความสมบูรณ์ของแหล่งชอปปิงที่หลากหลายได้เปรียบเพื่อนบ้านหรือคู่แข่งในอาเซียนไม่น้อย โดยนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อโดดเด่น ได้แก่ ชาวจีน รวมทั้งนักท่องเที่ยวแถบอาเซียนที่มีแนวโน้มการบริโภคสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  

จักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสบริหารสินค้า วอทช์ แกลอเรีย บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ตลาดเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยได้รับความสนใจจากบรรดาแบรนด์แฟชั่น และ “นาฬิการะดับโลก” อย่างมาก จากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการบริโภคที่เรียกว่าเป็น “ฐานใหม่” เทียบตลาดยุโรป สหรัฐ  เริ่มอิ่มตัว และเศรษฐกิจอยู่ในสภาพชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

จะเห็นว่ามีการผลิตสินค้าตอบรับชาวเอเชีย หรือลิมิเต็ดเอดิชั่นเฉพาะประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นทั้งตลาดผู้ใช้ นักสะสม นักลงทุน” 

บรรดาแบรนด์ต่างๆ เริ่มปรับตัวเอง ทั้งด้านดีไซน์ วัตถุดิบ และโครงสร้างราคาที่ “ไม่โด่ง” เหมือนสมัยก่อน เพื่อเจาะตลาดระดับกลางภายในประเทศ และสินค้าลิมิเต็ดรองรับกลุ่มนักเดินทางและนักสะสม 

ทั้งนี้ ปัจจุบันยอดขายนาฬิกาจากทั่วโลกกระจุกตัวอยู่ในทวีปเอเชียถึง 49% ตามด้วย ยุโรป 36%  อเมริกาเหนือ 15% และอื่น ๆ 2%

สำหรับ ตลาดนาฬิกา ในประเทศไทย มูลค่า 4.59 หมื่นล้านบาท เติบโตสูงจากกลุ่ม “นักท่องเที่ยว” และ “นักสะสม”

โดยตลาดลักชัวรี ระดับราคา 5 แสนบาทขึ้นไป มีสัดส่วน 20% หรือราว 9,180 ล้านบาท ตลาดไฮเอนด์ ราคา 1-5 แสนบาท สัดส่วน 42.22% ราว 1.93 หมื่นล้านบาท มิดเดิล มาร์เก็ต ราคา 2 หมื่น-1 แสนบาท สัดส่วน 22.67% มูลค่า 1.04 หมื่นล้านบาท ตลาดแฟชั่น-เทรนด์ ราคา 5 พัน-2 หมื่นบาท สัดส่วน 15.11% มูลค่า 6.93 พันล้านบาท

ทั้งในเชิงปริมาณ มูลค่า และจำนวนแบรนด์ ปัจจุบัน “ไทย” เป็นรองเพียงตลาดจีนและญี่ปุ่น เท่านั้น ทำให้ดึงดูดบรรดานักสะสมมุ่งหน้าสู่ไทย