‘อีไอซี’ ห่วงสินค้าเกษตรทรุด ฉุด ‘กำลังซื้อ’

‘อีไอซี’ ห่วงสินค้าเกษตรทรุด ฉุด ‘กำลังซื้อ’

"อีไอซี" ห่วงสินค้าเกษตรทรุด ฉุด "กำลังซื้อ" ครึ่งปีหลัง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจไทยพาณิชย์มองกำลังซื้อในประเทศส่อชะลอ หลังราคาสินค้าเกษตรกลับมาตกต่ำ พร้อมประเมินค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าคู่แข่งเป็นความเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง เผยเศรษฐกิจที่โตช้า บวกกำลังซื้อที่ลดทำให้เอกชนไทยออกไปลงทุนซื้อธุรกิจควบรวมกิจการในต่างประเทศมากขึ้น

พชรพจน์ นันทรามาศ” ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหาภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ช่วงครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่ต้องจับตา 3 ประเด็น คือ กำลังซื้อภาคครัวเรือนชะลอตัว จากรายได้เกษตรกรที่มีแนวโน้มลดลงตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และรายได้นอกภาคเกษตรที่ไม่ได้ถูกปรับขึ้น เพราะตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัว กระทบการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายน้อยและปานกลางที่มีภาระหนี้ครัวเรือนสูงอยู่แล้ว

กำลังซื้อในประเทศเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองมากที่สุด โดยเฉพาะกำลังซื้อภาคเกษตร เพราะต้นปีราคาสูง แต่ปัจจุบันปรับลดลงมาก โดยเฉพาะยางพารา ถ้าราคาไม่กลับมา กำลังซื้อก็ชะลอ ขณะที่การส่งออกยังไม่ได้ส่งผล ให้เกิดการลงทุนใหม่ ยังใช้กำลังการผลิตเดิม ทำให้ตลาดแรงงานซบเซา โดยการจ้างงานในช่วง 6 เดือนแรกลดลง 0.2%”

ทั้งนี้จากกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว บวกกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวที่เติบโตน้อยลง ทำให้มีช่องว่างระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจไทยกับต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ภาคเอกชนโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่จึงมองหาโอกาสการลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการซื้อและควบรวมกิจการ หรือเอ็มแอนด์เอ (M&A)

เห็นได้จากสัดส่วนเงินลงทุนเพื่อควบรวมกิจการต่อเงินลงทุนระยะยาวทั้งหมดของธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมาก จากที่เคยอยู่ที่ระดับ 11% เพิ่มขึ้นมาเป็น 42% ณ สิ้นปี 2559 โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในธุรกิจการผลิตใช้เงินเพื่อลงทุนควบรวบกิจการเกินกว่าครึ่งของเงินลงทุนทั้งหมด หรืออยู่ที่ 63% ส่วนภาคบริการก็มีสัดส่วนเงินทุนในเอ็มแอนด์เออยู่ที่ 45% ขณะที่ธุรกิจพลังงานมีสัดส่วนเงินลงทุนในเอ็มแอนด์เอประมาณ 19% ของเงินลงทุนทั้งหมด

เอกชนไทยมีการลงทุน แต่ไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าการลงทุนในประเทศ เพราะยังมีกำลังการผลิตในประเทศเหลืออยู่ และมองว่าความสามารถในการเติบโตในประเทศมีน้อย จากกำลังซื้อที่ลดลง จึงออกไปเติบโตข้างนอก ด้วยการซื้อและควบรวมกิจการ ทำให้การลงทุนเอกชนไม่ค่อยมีการเติบโต ส่วนการลงทุนในต่างประเทศนั้น ไม่ได้ถูกนับรวมในจีดีดี ผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจในประเทศ เพราะสูตรการคำนวณเศรษฐกิจนั้น จะนับการลงทุนภาคเอกชน ก็ต่อเมื่อมีการซื้อเครื่องจักร หรือ สร้างโรงงานใหม่”

อย่างไรก็ตามมองว่า การลงทุนในประเทศที่ยังมีโอกาสเติบโตยังมีอยู่บ้าง แต่เป็นภาคบริหาร การสร้างโรงแรม การขยายตัวของค้าปลีก ค้าส่งในต่างจังหวัด ตามเทรนด์การขยายตัวของเมือง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมนั้น โอกาสการลงทุนใหม่ๆ มีข้อจำกัด เนื่องจากกำลังการผลิตที่เหลืออยู่มาก จึงต้องหวังพึ่งการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา และเป็นแรงขับเคลื่อนให้จีดีพีไทย คือ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี

ปัจจัยที่ต้องจับตาอีกคือ การแข็งค่าของค่าเงินบาท ที่แข็งค่ามากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ทำให้ไทยอาจจะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน หรือถูกตีตลาดจากประเทศคู่แข่งที่ค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่าไทย ทั้งจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งหากค่าเงินบาทแข็งค่าในลักษณะนี้ต่อไป อาจทำให้การส่งออกบางสินค้า เช่น ข้าว ยางพารา และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โทรศัพท์มือถือ มีความเสี่ยงที่จะเสียเปรียบในเรื่องราคาได้ โดยในช่วง 5 เดือนแรก ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปแล้วประมาณ 5%

อีกประเด็นคือ ความเปราะบางที่เพิ่มขึ้นของตลาดการเงินโลก โดยราคาสินทรัพย์ทางการเงินที่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งพันธบัตร หุ้น และสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งเงินบาทอาจจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มนโยบายการเงินสหรัฐที่ตึงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การเริ่มลดขนาดงบดุลในอนาคต และความเสี่ยงจากปัญหาการเมือง นโยบายการบริหารรัฐบาลและนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี และความไม่สงบในตะวันออกกลาง

เขากล่าวต่อว่า อีไอซีได้ปรับประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นเป็น 3.4% จากเดิม 3.3% หลังการส่งออกฟื้นตัวชัดเจน จากแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่ฟื้นตัวชัดเจน ทำให้ปรับประมาณการการส่งออกของสินค้าไทยเพิ่มเป็น 3.5% จากเดิมมองไว้ที่ 1.5% ส่วนค่าเงินบาทปรับเป็น 35-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมมองว่าเงินบาทสิ้นปีอยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สาเหตุที่เราปรับการส่งออกต่ำกว่าตัวเลขของทางการ เพราะมองว่ามีความเสี่ยงเรื่องราคา จากราคาสินค้าภาคเกษตรที่ยังไม่ได้ปรับขึ้น และราคาน้ำมันที่ปรับลดลง อาจทำให้ตัวเลขการส่งออกในครึ่งปีหลังไม่ได้สูง และยังมีความเสี่ยงเรื่องผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐด้วย โดยมองว่าการส่งออกครึ่งปีหลังจะโตประมาณ 1-2%เท่านั้น

“แม้แนวโน้มกำลังซื้อชะลอตัว การส่งออกไม่ได้เติบโตสูงเหมือนครึ่งปีแรก แต่ในครึ่งปีหลังจะได้แรงหนุนจากการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากงบกลางปีของภาครัฐ ซึ่งจะกระจายตัวไปยังต่างจังหวัดได้ดี”