พิชิตสมการธุรกิจ เกมหมื่นล้าน

พิชิตสมการธุรกิจ เกมหมื่นล้าน

เติบโตมากับเกมจนเป็นเซียนเกมรู้ใจคนเล่น “ปริญญา เผือนพิพัฒน์” เจ้าของเอ็น กรุ๊ป เริ่มธุรกิจเกมตั้งแต่ขายออนไลน์ ผ่านไป 12 ปี ตลาดโตหลักหมื่นล้าน ก่อนรุกวางตัวเป็นผู้ไขรหัสลับอุตสาหกรรมเกม “ครบวงจร”

ปริญญา เผือนพิพัฒน์ ประธานบริษัทในเครือ เอ็น กรุ๊ป ผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจเกมครบวงจร อดีตเขาคือนักแก้โจทย์เกม เจ้าตัวย้ำว่าไม่ใช่เด็กติดเกม แต่การเป็นเกมเมอร์ (Gamer) นักพิชิตด่านเกม ไขรหัสฝ่าด่านอรหันต์ในเกม จนหลังๆเริ่มจับเทรนด์รสนิยมขอคนเล่นเกมได้ ก่อนรุกสู่ธุรกิจนี้

เขาเล่าย้อนว่า เมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา หลังเรียนจบและทำงานได้เพียง 4-5 ปี ยังคงเล่นเกมเป็นงานอดิเรก จนรู้ว่าสาวกเกมในเมืองไทยมีความใฝ่ฝันอันแรงกล้า (Passion) ที่จะเป็นคนแรกในการ“พิชิตเกมใหม่ๆ”จากเมืองนอกในตั้งแต่วันแรกที่เกมถูกปล่อยสู่ตลาดไทย 

จึงเริ่มต้นธุรกิจจากการเป็น ตัวกลางเชื่อมแพสชั่นของพวกเขาเหล่านั้น ในวัย26ปี

“เริ่มอาชีพขายเกมออนไลน์ตอนเป็นลูกจ้างประจำ เมื่อเครื่องเล่นเกมรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดสดๆร้อนๆ กำลังเป็นกระแสฮิตและขาดตลาด ก็จะสั่งเพื่อนไปซื้อเครื่องเล่นเกมมาจากญี่ปุ่น 10 เครื่อง เดินสายเปิดกระโปรงรถ ขายหมดเกลี้ยงภายในไม่กี่วัน” 

เขารู้ดีว่าคนเล่นเกมนอกจากจะมีแพสชั่น ยังเป็นสายเปย์ ยอมจ่ายเพื่อแลกกับการได้ครอบครองเกมใหม่ ที่สำคัญปัญหาของคนเล่นเกมในยุคนนั้นคือ เจ็บมาเยอะ โดนมาเยอะ โดยเฉพาะมือใหม่ในเกมไม่มีความรู้เพียงพอ จึงถูกหลอกง่าย ในยุคนั้นหลายคนมักไปซื้อที่แหล่งสะพานเหล็ก แหล่งรวมของเล่น เกม ที่มีทั้งของจริงและก็อปปี้ปะปนกันไป

ช่องว่างคือ คอเกมต้องหาใครสักคนมีความรู้ ไว้ใจได้มาแนะนำแบบไม่หลอกลวงกัน

“6เดือนแรกทำให้คนรู้จักและพูดปากต่อปาก 1 ปีก็เริ่มได้รับความไว้ใจ จนทำมา 2-3ปีกำไร 2-3แสนบาท จึงออกมาทำธุรกิจอย่างเต็มตัว” เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นหลังตัดสินใจลาออกจากงานมาจับธุรกิจขายเกมเต็มตัว 

เปิดหน้าร้านแรก ชื่อ “แนดซ์ โปรเจ็คท์ (NAZT Project)” ขายอุปกรณ์เกี่ยวกับเกมครบวงจร สาขาแรกที่สยามเซ็นเตอร์พอยท์ ตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันขยายมาเป็นอีก 5 สาขา คือ เซ็นทรัลลาดพร้าว เทอมินัล 21 เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า และ พัทยาเวลคัม ทาวน์ และกำลังจะขยายไปในที่นครราชสีมา ภายในปีนี้  

หลังจากตลาดเติบโตแบบก้าวกระโดดทุกปี มาเจอจังหวะสูงสุดในปี 2557  จากคนเล่นเกมที่มากขึ้น เมื่อเกมก็อปปี้เริ่มถูกห้ามขายอย่างเข้มงวด ผู้ผลิตเกมต่างแดน จึงส่องสปอร์ตไลท์มายังตลาดไทยอย่างจริงจัง 

เปิดทางให้แนดซ์ ขยายธุรกิจจากแค่ค้าปลีก หน้าร้านจำหน่ายเกม มาสู่ การเป็นตัวแทนจำหน่ายเกมลิขสิทธิ์เครื่องเล่นเกม จากต่างแดนแบบครบเครื่องทุกเรื่องของเกม ตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ ทั้งค้าส่ง ค้าปลีก ซอฟท์แวร์และอุปกรณ์เกม รวมถึงทำตลาดให้กับเจ้าของเกม 

เปิดธุรกิจมากกว่า 12 ปี ตลาดธุรกิจเกมในไทยเติบโตรวดเร็ว ประเมินว่าในปัจจุบันมูลค่าตลาดสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย แบ่งเป็น ตลาดเกมในคอมพิวเตอร์(PC) 50% ตลาดเกมบนมือถือ(Mobile)30% สัดส่วนที่เหลือเป็นตลาดเกมจากเครื่องเล่นเกมเฉพาะ โดยมีบริษัทเป็นผู้นำตลาดเกมเฉพาะ มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 45% ยอดขายประมาณ 600 ล้านบาท 

อดีตเซียนเกมผู้ผันตัวเองมาเป็นนักธุรกิจ ยังเล่าถึงสิ่งสำคัญที่ทำให้เป็นผู้นำตลาดเกมว่า ต้องเป็นนักสอดส่ายคอยส่องข่าวความเคลื่อนไหวของตลาดเกมเมืองนอก ทั้งจากญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา รวมถึงตลาดอื่นๆ อย่างเกาหลี น้องใหม่ของตลาดเกมที่เติบโตแรง

ขณะที่ในปัจจุบันเมืองไทย เกมถือเป็นสิ่งบันเทิงออนไลน์อันดับ 3 รองจาก รองจากเฟซบุ๊ค และ ยูทู้บ เขาเชื่อเช่นนั้น

เราต้องคอยคิดต่อยอดหาอะไรใหม่ๆ เสมอ สิ่งสำคัญเราเป็นจุดที่ครบวงจรไม่ได้มีเฉพาะเกม แต่มีความหลากหลายให้เลือก มาที่เราเรียกว่าจบตอบคำถาม และซื้อขายเกมเกิดขึ้น เราอยู่ในตลาดนี้มานานจนลูกค้าผูกพันและไว้ใจ

เขายังบอกด้วยว่า พฤติกรรมของนักเล่นเกม ทั้งโลกมีหัวใจเดียวกัน พูดและสื่อสาร วัฒนธรรมเดียวกัน แตกต่างกันแค่เรื่องภาษาเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่ฮิตและบูมตลาดในตลาดต่างประเทศ ก็ไม่แคล้วที่จะฮิตในตลาดเกมเมืองไทย

จากประสบการณ์คนรบในสนามเกมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี เขาจึงเรียกว่า จับถูกทิศตลาดเกมได้ถูกทาง ถูกจังหวะรู้เทรนด์โลกไปไกลถึงขั้นเกมเป็นอุตสาหกรรมมูลค่ามหาศาลใหญ่กว่าตลาดหนังฮอลลิวูด เมืองไทยก็คงไม่ต่างกัน 

คนไทยเริ่มใช้จ่ายเงินเกี่ยวกับเกมมากขึ้น อยู่บ้านเล่นเกมเป็นงานอดิเรก แทนออกนอกบ้านปาร์ตี้” 

นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ธุรกิจของเขาไม่หยุดแค่ร้านค้าปลีก เพราะคอยคิดอ่านใจหาอะไรใหม่เข้ามาเอาใจคอเกมตลอดเวลา ด้วยกลยุทธ์ แก้ เพิ่ม เติม ต่อ” 

เราหาปัญหา แก้ไขปัญหาที่ลูกค้าเจอตลอด และเพิ่มสิ่งใหม่ๆ ให้นักเล่มเกมได้พบบริการใหม่ๆ เติมประสบการณ์ใหม่ และต่อยอดสิ่งเก่า” 

วิธีคิดที่ว่า ทำให้แตกโมเดลธุรกิจมาเป็น 5 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย

  1. แนดซ์(NADZ)หน้าร้านเกมครบวงจร
  2. บริษัท เอ็นจิ้น (NGIN-Next Generation Innovation) ตัวแทนโซนี่จำหน่ายซอฟต์แวร์เกมส์ ธุรกิจค้าส่งที่กระจายไปยังหน้าร้านกว่า200 แห่งทั่วประเทศ(เปิดมา 4 ปี) 
  3. บริษัท ซอฟท์ซิลล่า ตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์เกมระดับท็อปของโลกกว่า 10 แบรนด์ อาทิ EA, Bandai Namco, Warner Bros, 2Kgame, Sega Game,Take2 รวมถึงขายทั้งอุปกรณ์และซอฟท์แวร์ให้กับทุกค่าย เช่น เกมมิงเกียร์ เกมการ์ด Figure Play Arts Kai 
  4. บียอนด์ (Beyond Manga)ตัวแทนกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์ของมังงะ จำหน่ายหนังสือการ์ตูนยอดฮิตที่แฝงความรู้ ชื่อเข้าใจอายุรกรรมทางจิตเวชด้วยมังงะ
  5. ธุรกิจใหม่ล่าสุด แวลู (Vaaluu) ตลาดเกมมือสอง รองรับคนเบื่อเกม เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนเกมได้ แม้ตลาดนี้ในเมืองไทยยังไม่โตนัก แต่ในเมืองนอก ตลาดนี้ใหญ่พอสมควร

ปัจจุบันฐานข้อมูลสมาชิกลูกค้าของแนดซ์ มีกว่า 3 หมื่นราย และมีแฟนเพจที่คอยส่องโปรโมชั่นลดสินค้า เล่มเกมตอบคำถาม และแชร์ข้อมูลประมาณเกือบ 1 แสนไลค์ 

ปริญญา เล่าว่า จะไม่หยุดเพียง 5 กลุ่มธุรกิจ ฝันของเขากำลังทำงานร่วมกับคนไทยที่เป็นนักผลิตเกม ที่ส่งออกไปในหลายประเทศ ร่วมกันคิดเกมร่วมกัน พร้อมทั้งบินไปคุยกับพันธมิตรเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาซอฟต์แวร์เกม หากเป็นรูปร่างขึ้นมาจะมีธุรกิจภายในเอ็น กรุ๊ปเกิดขึ้นใหม่อีกบริษัท ที่มีโอกาสขยายตลาดเกมที่ผลิตในไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ 

“สิ่งที่ได้จากเกมคือเป็นนักวางแผน บริหารจัดการคน และนักแก้ไขปัญหา และจัดวางคนให้ถูกกับงาน อย่างที่เคยเล่นในเกมซิม แต่เกมโปรดในปัจจุบันคือ เกมล่าสมบัติ โจรสลัด"

เขาบอกว่า ตลาดเกมจะพลิกก้าวกระโดดอีกระลอก หากมีการปรับเปลี่ยนภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่ายเกมหลายคนกำลังเข้ามาพัฒนาเรื่องนี้ หากเกิดขึ้นซึ่งคาดว่าภายใน1-2 ปีนี้ จะเป็นจุดพลิกอีกครั้งของวงการเกมให้มีความเป็นแมสมากขึ้น ส่งผลให้ประชากรคนเล่นเกมก็ล้นหลามมากขึ้น 

กลายเป็นโอกาสของคนที่โดดมาเล่นในธุรกิจนี้ 

----------------

รหัสลับสนามธุรกิจเกม

-ประสบการณ์คนคลั่งเกม รู้ใจคอเกมด้วยกัน

-สอดส่องเทรนด์เกมต่างแดน

-แก้ปัญหา ต่อบริการ เติมประสบการณ์ ต่อยอดสิ่งเดิม

-นักวางแผน แก้โจทย์ และวางคนให้ถูกกับงาน

-เป็นนักผจญภัยแสวงหาสิ่งใหม่เสมอจากวงการเกม