Gii ฉีกกฎทูน่าด้วยวิทย์ฯ

Gii ฉีกกฎทูน่าด้วยวิทย์ฯ

‘แฮมทูน่า-ไส้กรอกทูน่า’ ผลิตภัณฑ์จากแล็บในศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน (Gii) สร้างเซกเมนต์ใหม่ให้กับปลาทูน่าด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

‘แฮมทูน่า-ไส้กรอกทูน่า’ สองผลิตภัณฑ์จากแล็บในศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน (Gii) สร้างเซกเมนต์ใหม่ให้กับปลาทูน่าตอบโจทย์สุขภาพและความสะดวกด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งเป้าปีหน้าคืนทุน


ในขวบปีที่ 3 หลังจาก บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่นส์ (TUF) ลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาทตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน” หรือ “Gii” (Global innovation incubator) วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากปลาทูน่า เป็นแห่งแรกในโลก ทีมนักวิจัยได้ส่ง 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดคือ แฮมทูน่าและไส้กรอกทูน่า


ผลิตภัณฑ์แฮมทูน่าเปิดตัวในสหรัฐอเมริกา เมื่อปลาย มิ.ย.ที่ผ่านมา สร้างความฮือฮาในวงการทูน่าและตลาดแฮมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเนื้อสัมผัสและรสชาติไม่แตกต่างจากแฮมสุกร/ไก่ แต่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงจึงตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่สองคือ ไส้กรอกทูน่า ซึ่งจะเปิดตัวในประเทศไทยผ่านฟู้ดเซอร์วิส


นวัตกรรมทะลุกฎเกณฑ์


“ความท้าทายของการคิดค้นสองผลิตภัณฑ์ใหม่นี้คือ การสร้างความต่างจากทูน่ากระป๋องซึ่งเนื้อยุ่ยง่ายและรับประทานสะดวก แม้จะได้รับความนิยมมากแต่ก็มีแนวโน้มการบริโภคลดลงเพราะขาดความแปลกใหม่ ไม่ตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องการความสดใหม่ นักวิจัยจึงต้องหาวิธีที่ทำให้ทูน่าตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยปรับปรุงเนื้อสัมผัสใหม่ที่มีลักษณะเหมือนแฮม” นายธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน กล่าว


หลังจากเปิดตัวแฮมทูน่าในสหรัฐและกระแสตอบรับดีมาก จึงมีแผนการที่จะขยายสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก เนื่องจากคุณสมบัติเด่นที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ เนื่องจากนำมาบริโภคแทนแฮมสุกร/ไก่ อีกทั้งเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแฮมซึ่งไม่ใช่อาหารเพื่อสุขภาพให้กลายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้ เพราะผลิตจากปลาทูน่า และไม่ใช้สารเคมีใดๆ ในกระบวนการผลิต ทั้งยังเป็นเหตุให้บริษัทต้องลงทุน 200-300 ล้านบาทสร้างกระบวนการผลิตใหม่ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากผลงานวิจัยของศูนย์นวัตกรรมฯ นี้


“ส่วนเหตุผลที่ต้องเปิดตัวในอเมริกา เพราะเป็นตลาดใหญ่สำหรับการบริโภคแฮม ขณะที่ตลาดไทยยังมีขนาดเล็กจึงต้องรอจังหวะเวลาและกำลังซื้อที่เหมาะสม ส่วนผลิตภัณฑ์ไส้กรอกทูน่าจะเปิดตัวในไทย เพราะตลาดมีความพร้อมและคนไทยชอบกินไส้กรอก แม้ว่าหน่วยงานด้านสุขภาพจะรณรงค์ไม่ให้รับประทานตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก” ขณะที่ไส้กรอกทูน่าของไทยยูเนี่ยนสามารถการันตีถึงคุณภาพ โดยผลิตจากเนื้อปลาที่มีปริมาณโปรตีนสูง ไขมันแค่ 1% ซึ่งก็เป็นน้ำมันโอเมก้า-3 และไม่ใส่สารเคมีใดๆ ที่ก่อมะเร็ง" นายธัญญวัฒน์ กล่าว


ไส้กรอกทูน่าจึงเป็นการปฏิวัติวงการไส้กรอก จากที่หน่วยงานด้านสุขภาพรณรงค์ไม่ให้รับประทาน แต่ไส้กรอกทูน่าของเราจะกลายเป็นไส้กรอกสุขภาพที่สามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ที่สำคัญรสชาติและเนื้อสัมผัสไม่แตกต่างจากไส้กรอกที่ผู้บริโภคคุ้นเคย เพราะคอนเซ็ปต์การทำนวัตกรรมของ Gii คือ รสชาติต้องดี รับประทานแล้วอร่อยไม่ใช่แค่เป็นอาหารสุขภาพเท่านั้น


“คิดต่าง” สร้างแต้มต่อธุรกิจ


“ขณะนี้มีผลงานในแล็บอีกหลายรายการที่อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียด แต่จุดมุ่งหมายของศูนย์ฯคือ รายได้รวมของบริษัทต้องเพิ่ม 10% จากนวัตกรรมของศูนย์ฯ โดยในอีก 3 ปีข้างหน้าบริษัทวางเป้าหมายไว้ที่ 8 พันล้านดอลลาร์ หมายความว่า รายได้จากนวัตกรรมอยู่ที่ 800 ล้านดอลลาร์” ผู้อำนวยการศูนย์ Gii กล่าวและว่า


“เราหวังว่าปีหน้าจะสามารถคืนทุน และอยากทำให้ทุกคนเห็นว่า การลงทุนด้านนวัตกรรมเกิดประโยชน์แก่อุตสาหกรรม เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไทยยังลงทุนด้านนวัตกรรมไม่มาก ทำให้สร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ได้น้อยมาก และสุดท้ายจะแข่งขันที่ราคา แต่ต้องยอมรับว่า การลงทุนมีความเสี่ยง นวัตกรรมก็มีความเสี่ยง ฉะนั้น ต้องศึกษาก่อนว่าจะลงทุนตรงไหนและจะลงทุนอย่างไรถึงจะกำไร”


ทิศทางการวิจัยนวัตกรรมเริ่มจากอาหาร เพราะเป็นกิจการด้านซีฟู้ดส์มี ปลา เป็นวัตถุดิบหลัก ส่วนที่เหลือ 10% เดิมส่งไปโรงงานปลาป่นเพื่อทำอาหารสัตว์แต่ในอนาคตจะนำส่วนที่เหลือไปผลิตเป็นสินค้านวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น น้ำมันปลารวมทั้งใช้เป็นวัตถุดิบในเครื่องสำอางและอาหารเสริม จะส่งผลให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจได้หลากหลายตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงไฮเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนของธุรกิจในอนาคต