ความจริงที่ไม่เคยได้พูด

ความจริงที่ไม่เคยได้พูด

ถ้าเมื่อใดที่มีคนในครอบครัวป่วยหนักและต้องตัดสินใจเลือก มีปัจจัยมากมายที่คุณต้องไตร่ตรองให้รอบด้าน

.......................

Happy Deathday งานที่เปลี่ยนความตายให้เป็นความสุข ซึ่งเวทีนี้ทุกคนสามารถพูดเรื่องความตายให้เป็นเรื่องปกติได้ เนื่องจากเครือข่ายพุทธิกาและภาคีร่วม อยากให้คนเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น แม้กิจกรรมนี้จะผ่านไปหลายสัปดาห์ แต่ยังมีอีกหลายประเด็นน่าบอกเล่า

ความจริงที่ไม่เคยได้พูด เรื่องเล่าจากคนที่มีประสบการณ์เรื่องความตาย ตั้งแต่พยาบาลวิชาชีพ ผู้คร่ำหวอดในการนำทางผู้ใกล้ตาย, วิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการระงับปวด และอาจารย์ประจำศูนย์จิตตปัญญา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ผ่านการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

ตายที่บ้านอัปมงคล?

“ผมบอกพ่อว่า เราออกแบบชีวิตเองได้ ผมอยากเขียนชีวิตร่วมกับพ่อ อยากให้พ่อไปดี ผมก็บอกเจตจำนงตัวเองไว้ในสมุดเบาใจด้วย ผมถามพ่อว่า ในช่วงสุดท้ายเรื่องใดที่พ่ออยากให้ผมทำให้" ดร.สุปรียส์ กาญจนพิศศาล อาจารย์ประจำศูนย์จิตตปัญญา มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงช่วงที่พ่อของเขาป่วยเป็นมะเร็งตับ ตอนนั้นหมอบอกว่า จะอยู่ได้อีก 3 ปี แต่ในที่สุดพ่อของเขาดูแลตัวเองอย่างดี จึงอยู่ได้นาน 17 ปี โดยดูแลแบบแพทย์แผนปัจจุบัน ออกกำลังกาย สวดมนต์ และนั่งสมาธิ

ในช่วงจังหวะที่พ่อของเขายังพูดคุยได้บ้าง ดร.สุปรียส์ พยายามทำความเข้าใจกับพ่อในเรื่องการเตรียมตัวตาย

“ตอนคุณย่าทวดป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ตอนนั้นผมอายุ14 ท่านยื่นมือมาจับผม แล้วบอกว่า ให้ผมพาแกกลับบ้าน แต่ผมยังเด็ก ซึ่งตอนนั้นญาติๆ ไม่มีใครฟังแก จนผมมีโอกาสดูแลคุณพ่อ เมื่อ17ปีที่แล้ว เมื่อพ่อทรุดหนัก และญาติบอกให้ไปรักษาที่โรงพยาบาล ท่านสั่งเสียไว้ว่า ขอเสียชีวิตที่บ้าน และได้เขียนไว้ว่า ไม่อยากถูกเจาะคอ ไม่อยากทรมานจากการรักษา ซึ่งตอนนั้นต้องเจาะช่องท้อง เพราะคนในครอบครัวอยากยื้อชีวิตเอาไว้ ตอนนั้นผมไปต่างจังหวัด พ่อก็เลยถูกเจาะท้อง ทั้งๆ ที่แม่เป็นพยาบาลในห้องผ่าตัด พอพ่อป่วย แม่ก็ไม่รู้จะตัดสินใจยังไง 

ครอบครัวคนจีนของผมจะรู้สึกว่า การเสียชีวิตที่บ้านเป็นเรื่องอัปมงคล ซึ่งผมต้องคุยกับญาติๆ ว่าเป็นความสุขสุดท้ายของพ่อ และพ่อก็ได้กลับบ้าน ตอนพ่อจากไปท่านยื่นมือมาจับทุกคน แล้วจากไปด้วยรอยยิ้ม”

ความตายพูดไม่ได้ ?

ต้องทำความเข้าใจสักนิดว่า เรื่องความตายไม่ใช่เฉพาะคนสูงวัย แต่เป็นเรื่องของคนทุกเพศทุกวัย ดังนั้นชีวิตไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท

เกื้อจิตร แขรัมย์ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ จิตอาสาที่มาช่วยงานเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ยกคำพูดหลวงพ่อคำเขียนมากล่าวว่า คนเราทุกวันนี้ตายอย่างอนาถา ตายกับใครก็ไม่รู้ อยากตายบ้าน ลูกหลานก็ไม่อนุญาติ และกลายเป็นว่า เรื่องความตายพูดไม่ได้

"บางครั้งญาติก็ไม่อยากบอกคนไข้ให้รู้ว่าใกล้ตาย ไม่อยากพูดเรื่องความตาย มีคนไข้คนหนึ่งผ่าตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ แล้วมา็บอกเราว่า ถ้ายายเป็นมะเร็ง ให้บอกด้วย ยายไม่อยากเสียโอกาสทำบุญ เสียโอกาสสั่งเสีย เสียโอกาสการจัดการมรดก พอตายแล้ววุ่นวายไปหมด

เราก็บอกว่า คนเราจะทำบุญ ทำได้เลยคะ ไม่ต้องรอว่าเป็นมะเร็ง หลวงพ่อคำเขียน บอกว่า ทำทันที ได้บุญทันที ทำดี ดีทันที ถ้าอย่างนั้น อยากทำอะไร ก็ทำเลย"

ในวาระสุดท้ายของชีวิตที่เวลาเหลือนิดเดียว แต่ญาติก็ไม่ค่อยพูดเรื่องความตาย หรือการสั่งเสีย 

“หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า การได้นอนพิจารณาก่อนจะสิ้นลม เพียงห้านาทีก็เป็นนาทีทอง พิจารณาคือ อภัยทาน เราให้อภัยญาติพี่น้อง ให้อภัยตัวเองที่ไม่ดูแลตัวเองหรือยัง ให้อภัยพยาบาลที่พูดไม่ดีกับเราหรือยัง ให้อภัยแพทย์ที่วินิจฉัยโรคผิดหรือยัง"

เกื้อจิตร พยาบาลที่ทำงานใกล้ชิดกับความตาย บอกอีกว่า เวลาคุยกับคนไข้ เราจะสมมติว่า ถ้าวันใดวันหนึ่งหัวใจคนไข้หยุดเต้น อยากให้พวกเราทำอะไรให้ เพราะทุกวันนี้คนไข้ไม่ได้บอกสิ่งที่เขาอยากได้ อยากทำ แต่กลับเป็นสิ่งที่ญาติอยากให้มากกว่า

"เรื่องนี้ละเอียดอ่อน ทั้งๆ ที่อยู่ในระยะสุดท้าย แต่คนไข้ก็ไม่สามารถบอกความต้องการของตัวเอง เพราะญาติพี่น้องยอมรับความตายไม่ได้”

เหตุปัจจัยส่วนหนึ่ง พยาบาลวิชาชีพคนเดิม บอกว่า เพราะหมอให้ความหวัง ทั้งๆ ที่คนไข้รู้ตัวดีว่าใกล้จากไปแล้ว มีคนไข้รายหนึ่งบอกให้พ่อพากลับบ้าน เมื่อพวกเขาไปถามหมอพยาบาล พวกเขาบอกว่า กลับบ้านไม่ได้

“พ่อคนป่วยจึงทนคำอ้อนวอนของลูกไม่ไหว ก็เลยให้ลูกขี่หลังหนีออกจากโรงพยาบาล พอกลับถึงบ้าน เขาก็เรียกน้องๆ มากอดทีละคน บอกลาพ่อแม่ แล้วยกมือไหว้ แล้วก็ตาย ทำไมตายดีแบบนี้ หรือกรณีแม่ของเรา ก่อนตายหนึ่งวันขอเจอหลาน แม่บอกว่า ความตายไม่ต้องรอโรงเรียนเลิก แม่ขอตายที่บ้าน ตอนนั้นเราถามว่า แม่อยากให้เราทำอะไรให้บ้าง พอนึกย้อนวันท่ี่แม่ตาย พี่สาวตาย เราดีใจที่ได้ทำนั่นทำนี่ให้ ทำให้ไม่มีความเศร้าเหลืออยู่เลย”

เมื่อญาติไม่ยอมรับความตาย

หลายคนคิดว่า ความตายพูดไม่ได้ จะทำให้คนไข้สะเทือนใจ ทั้งๆ ที่หลายกรณีคนไข้รู้ตัวอยู่แล้ว

นพ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์ วิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการระงับปวด เล่าว่า เขาเคยหลายกรณีของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

“มีกรณีหนึ่งคนไข้ยังไงก็ต้องเสียชีวิต ถ้าเขาจะไม่ยื้อชีวิตด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อ การใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ให้ยากระตุ้น ไม่ให้อาหารทางสายยาง ก็ทำได้ แต่มีแพทย์อีกท่านมาดู ทุกอย่างเปลี่ยนแผนหมด เขาให้ความหวังว่า คนไข้จะหาย จึงเป็นเรื่องยากที่เราจะพูด

"กรณีนี้คือ ญาติไม่ยอมรับความตายที่จะมาถึง หรือคนไข้ก็มีความหวัง อย่างผมเป็นแพทย์ที่ให้คำปรึกษา แต่แพทย์เจ้าของไข้ให้กำลังใจว่าต้องหาย ทำให้การนำทางให้คนไข้เสียชีวิตอย่างมีความสุขเป็นเรื่องยาก ญาติไม่เปิดทางให้เราคุยกับคนไข้ คนไข้จึงไม่มีโอกาสเตรียมตัวตาย 

ญาติต้องยอมรับความจริงก่อน เพื่อให้เราทะลวงหาคนไข้ ยิ่งถ้าเข้าใจกระบวนการทางศาสนา จะเป็นเรื่องง่ายในการยอมรับเรื่องต่างๆ อย่างเรื่องการกลัวความตาย คนไข้ยังกลัวไหม ถ้าทำดีมาเยอะไม่ต้องกลัว ความดีจะทำให้เขาไปดี"

"อย่างคุณลุงอายุ90กว่า ใส่ท่อช่วยหายใจ เราให้ยานอนหลับ และมอร์ฟีน เพื่อทุเลาความทุกข์ทรมาน ตอนนั้นลูกของเขา ลาออกจากงานมาดูแลพ่อหลายสิบปี และบอกพ่อว่า ให้อยู่กับความทุกข์ทรมาน อย่าไปเกลียดมัน หลังจากพูดจบ พ่อของเขาก็สงบลง

อีกกรณี เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เป็นมะเร็งรังไข่ เขาปฎิเสธความจริงมาตลอด จนมาเดือนสุดท้ายยอมรับ และผมให้เขาภาวนา เขาก็ทำตาม ผมให้พระมาสอนภาวนาพุทโธ สิ่งที่เราทำ เรื่องการเตรียมตัวตาย คือ เรื่องที่พระพุทธเจ้าสอนไม่ควรมองข้าม คนที่เชื่อเรื่องกรรมก็เป็นเรื่องที่ดี แต่คนที่ไม่เชื่อ ก็เสียโอกาส"

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคนไข้จะเลือกรักษาวิธีไหน คนไข้ก็ต้องเจอความทุกข์ทรมาน

“ถ้าเราให้ความรู้ แล้วให้คนไข้เลือกเองตอนมีสติสัมปชัญญะ ปัญหาในอนาคตที่จะเกิดขึ้นก็หมดไป ควรให้คนป่วยที่กำลังจะจากไปได้ใช้สิทธิในการตัดสินใจ เขาสามารถจบเวลาที่อยู่บนโลกนี้ด้วยตัวของเขาเอง แต่บางทีญาติยื้อไว้เป็นฟางเส้นสุดท้าย แม้จะแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ พวกเขาก็ยังเลือก เพราะตกอยู่ในภาวะกตัญญูเฉียบพลัน”

นอกจากนี้ เขายกตัวอย่าง พินัยกรรมชีวิตของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ซึ่งเขาได้ขออนุญาตินำความรู้ของท่านมาใช้กับคนไข้ในโรงพยาบาล

"อย่างคนไข้มะเร็งระยะสุดท้าย ยังไงก็เสียชีวิต การให้ยาฆ่าเชื้อ ก็เพื่อประทังชีวิต ถ้าไม่ให้ยาฆ่าเชื้อ คนไข้ก็เกิดภาวะพิษเข้าสู่กระแสเลือด ไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ก็เสียชีวิต แต่ถ้าไม่มีพิษเข้าสู่กระแสเลือด ต้องตายจากมะเร็ง ประสบการณ์คือ นานกว่าหนึ่งอาทิตย์

อย่างการฟอกเลือดก็ไม่ช่วย แค่ยื้อชีวิต ในภาวะแบบนี้ ถ้าเราไม่ฟอกเลือด สารต่างๆ ที่คั่งในร่างกาย จะทำให้คนไข้เคลิ้ม ทำให้มีฤทธิ์แก้ปวด ทรมานน้อยลง ถ้าคนไข้ระยะท้าย กินไม่ได้โดยวิถีธรรมชาติก็ไม่ต้องใส่สายยางให้อาหาร ถ้าปล่อยตามธรรมชาติร่างกายจะสลายพลังงานที่มีอยู่ จะมีสารเคมีชนิดหนึ่ง ทำให้กดการรับรู้และแก้ปวดได้เหมือนกัน

แม้กระทั่งการให้น้ำเกลือ ระยะสุดท้ายไตทำงานน้อยลง ไม่ขับปัสสาวะ ญาติอยากให้คนไข้มีอาหารไปเรื่อยๆ ปัญหาที่ตามก็คือ ตัวจะบวมฉุ แผลติดเชื้อก็จะมีน้ำเหลืองไหล

ผมแนะนำเสมอว่า ให้คนไข้ตายโดยธรรมชาติเหมือนสมัยโบราณ กินไม่ได้ก็ไม่ต้องให้น้ำเกลือ หายใจไม่ได้ ก็ปล่อยให้เขาหายใจตามที่หายใจได้ ซึ่งระยะสุดท้ายการใส่ท่อช่วยหายใจ คนไข้ก็เหนื่อย เราก็อธิบายให้ฟัง เพื่อให้ญาติตัดสินใจคมชัดขึ้น"

.................

หมายเหตุ : ภาพจากงานนิทรรศการ Happy Deathday