จับตา 5เทรนด์กระทบธุรกิจพลิกนวัตกรรมแข่ง

จับตา 5เทรนด์กระทบธุรกิจพลิกนวัตกรรมแข่ง

ทียูเอฟ ชี้ 5 เทรนด์กระทบธุรกิจทั่วโลก รับปัญหาเศรษฐกิจการเมืองผุดทั่วทุกทวีป ส่งผลมองหาจุดหมายการลงทุนยากขึ้น หันสร้างความแข็งแกร่งธุรกิจหลัก ฉีกหนีแนวการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์สู่สินค้านวัตกรรม พร้อมใช้เทคโนโลยีช่วยลดต้นทุน ชี้เอเชียยังมีศักยภาพโดดเด่น

ในการเสวนาภายในงาน The Nikkei Asia 300 Global Business Forum ในหัวข้อ “พัฒนาศักยภาพด้านการบริหารให้ถึงขีดสุดเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน หรือ ทียูเอฟ กล่าวว่า 5 เทรนด์สำคัญที่จะกระทบต่อธุรกิจทั่วโลกในวงกว้าง ได้แก่

1.การค้าเสรีทั่วโลกที่เริ่มมีความเสี่ยง (Global Free Trade at Risk) เนื่องจากหลายประเทศมีนโยบายปกป้องเศรษฐกิจในประเทศ (Protectionism) ของประเทศใหญ่ๆ เช่น อเมริกา และสหราชอาณาจักร เป็นต้น

2.ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Currency Fluctuations) อันเป็นผลจากนโยบายเฉพาะประเทศ เช่น การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่ทำให้เงินปอนด์อ่อนค่าลง ส่งผลต่อธุรกิจที่เป็นคู่ค้าส่งออกไปยังประเทศดังกล่าว โดยกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการทำกำไร

3.เศรษฐกิจของประเทศที่ผลักดันการเติบโตเริ่มชะลอลง (Global Growth Engine Slowing Down) โดยเฉพาะจีนที่ชะลอการเติบโตลงมาหลายปีแล้ว จากจีดีพีที่เคยเติบโตถึง 12.2% ในปี 2553 ลดลงมาเหลือ 6.9% ในปีนี้ เป็นผลทำให้ธุรกิจต้องหาลู่ทางในการหาตลาดอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเอเชีย นำโดยซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดใน 3 ด้าน ได้แก่ การเป็นแหล่งวัตถุดิบ, การมีต้นทุนแรงงานที่ต่ำ และการมีฐานตลาดผู้บริโภคใหม่ๆ ที่น่าสนใจ

4. การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีที่สร้างผลกระทบปั่นป่วนรุนแรง (Emerging Disruptive Technologies) ซึ่งผลกระทบนั้นลุกลามไปทั่วทุกรูปแบบธุรกิจ แม้แต่อุตสาหกรรมอาหารทะเลของทียูเอฟ ที่คิดว่าเป็นธุรกิจโลว์เทคแต่เดิม ก็ยังต้องใช้การปรับตัวในเชิงเทคโนโลยี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักในขณะนี้ คือ การสร้างกำไรให้ได้มากที่สุด คู่ขนานไปกับการควบคุมต้นทุน

5.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก (Geopolitical Risk) ซึ่งเกิดขึ้นในทุกมุมโลก และส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงในการตัดสินใจไปลงทุนขยายกิจการในต่างประเทศของกลุ่มทียูเอฟ ตลาดที่ไม่แน่นอนในยุโรป อเมริกา รวมถึงตะวันออกกลาง ซึ่งมีความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้ต้องปรับทิศทางกลยุทธ์บริษัท หันมาสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจดั้งเดิมที่มีอยู่แทน และหันมาใช้เรื่องนวัตกรรมและลดต้นทุนการผลิตแทน

“การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด ซึ่งธุรกิจโลกต้องรับมือให้ได้รวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ทียูเอฟ มีโรงงานมากกว่า 10 แห่งในเอเชีย และส่งออกสินค้าไปยัง 4 มุมโลก ได้แก่ อเมริกา, ยุโรป, ตะวันออกกลาง และเอเชีย ซึ่งที่ผ่านมาประเทศที่เคยถูกมองเป็นดาวรุ่ง เช่น ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ก็เกิดสภาพความขัดแย้งในภูมิภาคขึ้น บั่นทอนความน่าดึงดูดด้านการลงทุนไปมาก”

ดังนั้น ด้วยปัจจัยนี้ ทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้อง โดยยอมรับว่าการซื้อหรือควบรวมกิจการไม่ใช่ความสำคัญหลักอันดับแรกอีกแล้ว แต่จะหันมาใช้แนวทางปกป้องผลกำไร ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากธุรกิจหลักดั้งเดิมที่มีอยู่ และมีประเด็นด้านการควบคุมค่าใช้จ่าย เป็นหัวใจหลักที่พูดถึงกันมากที่สุดภายในองค์กรขณะนี้”

ในแง่การสร้างความเข้มแข็ง ต่อไปทียูเอฟจะพัฒนาในด้านการสร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรมมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในการผลิตสินค้า เพื่อไม่จำกัดตัวเองในการเป็นอุตสาหกรรมด้านโภคภัณฑ์ (Commodity) แต่เพียงอย่างเดียว แต่จะแตกไลน์ไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วยการใช้วัตถุดิบที่มีอยู่หลากหลายประโยชน์มากขึ้น เช่น วิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์อาหาร, เครื่องสำอาง ที่จะใช้ส่วนประกอบอื่นๆ เช่น กระดูก, หนังของสัตว์ มาทดลองทำการผลิต เป็นต้น

ขณะที่นายนิโกโล กาลันเต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ เซ็นทรัล กรุ๊ป กล่าวว่า เทรนด์ที่ต้องจับตามองที่สุดคือ การปฏิวัติด้านดิจิทัล (Digital Revolution) เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนรวดเร็วที่สุด โดยอำนาจจะเปลี่ยนมือไปสู่ผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากมีตัวเลือกของช่องทางในการได้มาซึ่งข้อมูลสินค้าเพื่อศึกษาเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ และมีช่องทางในการซื้อสินค้ามากขึ้น โดยมีตัวแปรเรื่องการซื้อขายออนไลน์เข้ามาชิงบทบาทสำคัญกับการค้าปลีกแบบดั้งเดิม

กรณีศึกษาที่ชัดเจนคือ การเติบโตของอเมซอน ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซในอเมริกา ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าในเครือข่ายกว่า 300 ล้านชนิด ในปี 2558 ครองส่วนแบ่งตลาด 33% แต่ในปี 2559 ขยับส่วนแบ่งเพิ่มเป็น 43% ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าในปีนี้ จะเติบโตเป็นสัดส่วนอย่างไร เพราะหากเทียบอันดับอิทธิพลที่มีต่อตลาดค้าปลีกในสหรัฐ อเมซอน ไต่อันดับอย่างรวดเร็วจาก 2 ปีที่แล้วอยู่อันดับ 15 แต่ปีที่แล้วขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 10

สำหรับการเติบโตของตลาดออนไลน์ไทย เพิ่งเห็นเด่นชัดในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าจะยังตามหลังอเมริกาอยู่มาก แต่เชื่อว่าเมื่อมีการพัฒนาขึ้นแล้วจะเติบโตอย่างรวดเร็วภายใน 3 ปีต่อไปนี้

นายนิโกโล กล่าวด้วยว่า ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลก็วางแนวทางเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดออนไลน์ ยังมองประโยชน์ในเชิงการใช้ฐานข้อมูลลูกค้าในการสร้างความสัมพันธ์กับแบรนด์สินค้าต่างๆ เนื่องจากการครองฐานข้อมูลพฤติกรรมการจับจ่าย จะเป็นประโยชน์ต่อแบรนด์ในการวางแผนสินค้า ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่ผู้เล่นออนไลน์อื่นๆ ยังไม่มี เมื่อเทียบกับเซ็นทรัลที่มียอดลูกค้าในลอยัลตี้โปรแกรมกว่า 12 ล้านคน

นายโยชิฮิสะ ไคนุมะ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทมินีแบ มิตซูมิ กล่าวว่า จากการที่บริษัทขยายกิจการไปทั่วโลกและมี 89 สาขาในกว่า 16 ประเทศ สังเกตเห็นเทรนด์ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจมากที่สุดคือ ความเสี่ยงทั้งจากภายในประเทศ, ระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงในเชิงเทคโนโลยี

ดังนั้น สิ่งที่ภาคธุรกิจจำเป็นคือ ต้องสร้างคุณค่าและความแตกต่าง ในกรณีของบริษัทมินีแบ ที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์รายใหญ่ ปรับตัวด้วยการนำเสนอกลยุทธ์ “วัน สต็อป เซอร์วิส” เพื่อให้บริการทั้งระบบตั้งแต่บนลงล่าง นับตั้งแต่การซื้อและบริการหลังการขาย

นอกจากนั้น หากเป็นสินค้าในอุตสาหกรรม ต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนและใช้นวัตกรรมพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้นด้วย