ธปท.ดันชำระเงิน ‘คิวอาร์โค้ด’

ธปท.ดันชำระเงิน ‘คิวอาร์โค้ด’

ธปท.ดันชำระเงิน "คิวอาร์โค้ด" ดึง 5 เครดิตการ์ดโลกพัฒนาระบบมาตรฐานเดียวในไทย หวังปฏิรูประบบการชำระเงิน ลดปัญหาสกิมมิ่ง เพิ่มความปลอดภัย

“แบงก์ชาติ” ผลักดันระบบชำระเงิน “คิวอาร์โค้ด” ดึงเครดิตการ์ด 5 รายใหญ่ของโลกร่วมพัฒนาในมาตรฐานเดียวกัน เชื่อช่วยปฏิรูประบบชำระเงิน เพิ่มความปลอดภัย ลดต้นทุนดำเนินการ ขณะ แบงก์พาณิชย์ ขานรับพร้อมร่วมให้บริการ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างพัฒนาระบบการชำระเงินผ่านสมารท์โฟนในรูปแบบของ “คิวอาร์โค้ด” ซึ่งถือเป็นระบบชำระเงินรูปแบบใหม่ โดยจะมีบัตรเครดิตการ์ดรายใหญ่ของโลก 5 แห่ง ร่วมพัฒนาระบบ ได้แก่ วีซ่า มาสเตอร์การ์ด อเมริกันเอ็กซ์เพรส ยูเนี่ยนเพย์ และ เจซีบี ซึ่งจะทำให้ระบบชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้

การชำระเงินผ่านระบบคิวอาร์โค้ด ถือเป็นระบบชำระเงินที่ดีกว่าระบบเดิมค่อนข้างมาก เพราะยากต่อการปลอมแปลงข้อมูลบัตร รวมถึงลดความเสี่ยงที่จะถูกคัดลอกข้อมูลจากเครื่องสกิมมิ่ง ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยมากกว่า เนื่องจากผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องเอาบัตรไปให้ร้านค้ารูด แต่ใช้วิธียิงผ่านสมาร์ทโฟน แล้วเลือกว่าจะชำระผ่านบัตรไหนแทน

“คิวอาร์โค้ด ถือเป็นมาตรฐานใหม่เลย ช่วยยกระดับความปลอดภัยมากขึ้น ตอนนี้ก็เริ่มมีการทดสอบในวงเล็กๆ และการที่เราดึงเครดิตการ์ดยักษ์ใหญ่ทั้ง 5 แห่งมาร่วมพัฒนาระบบ ทำให้ทุกรายตกลงที่จะใช้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะเราจะถือเป็นประเทศแรกของโลกที่บริษัทเครดิตการ์ดรายใหญ่ทั้ง 5 ราย มาร่วมให้บริการในมาตรฐานเดียวกัน”นายวิรไทกล่าว

นายวิรไท กล่าวด้วยว่า การที่บริษัทเครดิตทั้ง 5 ราย ตกลงใช้มาตรฐานการชำระเงินเดียวกัน ทำให้ต้นทุนการดำเนินการลดลงได้มาก และยังช่วยลดความซับซ้อนของระบบปฏิบัติการหลังบ้านลงได้ด้วย ซึ่งทาง ธปท. พยายามที่จะส่งเสริมในเรื่องเหล่านี้

“เราใช้ความพยายามอย่างมากที่จะสร้างเป็นมาตรฐานเดียว เพราะเมื่อมีหลายมาตรฐานทุกแบงก์ที่รับบัตร 2 บัตร ก็จะมีหลายมาตรฐานด้วย เนื่องจากแต่ละบริษัทก็จะใช้มาตรฐานของตัวเอง ระบบหลังบ้านก็จะเป็นเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยว แล้วมาเชื่อมโยงกัน ถ้าทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันความเชื่อมโยงก็จะง่ายขึ้นไม่โยงใยกันแบบนี้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้อย่างมาก”

นายซานดีพ บาตระ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า ธนาคารซิตี้แบงก์มีความพร้อม หากเปิดใช้ระบบคิวอาร์โค้ดในการชำระสินค้าและบริการในประเทศไทย ซึ่งเรามีประสบการณ์การใช้คิวอาร์โค้ดมาแล้วในหลายประเทศ สามารถที่จะนำตลาดได้

“ซิตี้แบงก์ เป็นธนาคารที่มีอินโนเวชั่นอยู่ตลอดเวลา เมื่อครั้งที่มีไลน์คอนเน็ค หรือซัมซุงเพย์ เราก็นำมาใช้เป็นเจ้าแรกๆ ดังนั้นเมื่อ มีอินโนเวชั่นใหม่ๆเข้ามา เราก็พร้อมรับมือทุกรูปแบบ และพร้อมจะเปิดนำมาใช้ได้ทันที อย่างเรื่องคิวอาร์โค้ดซิตี้แบงก์ มีประสบการณ์ในหลายประเทศล่าสุดก็เปิดตัวในประเทศอินเดียมาแล้ว”

สำหรับความคืบหน้า ทราบมาว่าทางบริษัทตัวกลาง ทั้งวีซ่า ยูเนี่ยนเพย์ และมาสเตอร์การ์ดจะมีการประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดมาตรฐานคิวอาร์โค้ดร่วมกันเป็นมาตรฐานเดียวกัน ตามกำหนดคาดว่าจะเริ่มใช้ในประเทศไทยได้ภายในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า

“ขณะนี้ทุกคนรอว่ามาตรฐานคิวอาร์โค้ดจะเกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ทั้งสามราย จากกำหนดมาตรฐานเดียวกันออกมาใช้ ซึ่งยอมรับว่าคิวอาร์โค้ดเป็นระบบเพย์เมนท์ที่น่าสนใจ เพราะเป็นความร่วมมือของทุกคน ทุกแบงก์ ทุกเครือข่าย จะมีระบบเพย์เมนท์ร่วมกัน เป็นมาตรฐานเดียวกัน ใช้ได้กับการใช้จ่ายทั่วไปแม้แต่ร้านค้าเล็กๆหรือกับการใช้บริการรถตุ๊กตุ๊ก ก็สามารถใช้ได้ซึ่งจะเป็นผลดีต่อธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวม”

ด้าน นายอารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คิวอาร์โค้ดจะมีส่วนช่วยลดการใช้เงินสดตาม นโยบายอีเพย์เมนท์ของรัฐบาล นอกเหนือไปจากการติดตั้งเครื่องรับชำระบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีดีซี จำนวน 5แสนเครื่อง ซึ่งมีปัญหาว่าบางร้านค้าปฏิเสธการติดตั้งเพราะไม่มีความจำเป็นต้องใช้และบางส่วนก็กลัวที่จะนำมาใช้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ส่วนร้านค้าที่ติดตั้งไปแล้วก็พบว่ายังมียอดการใช้จ่ายค่อนข้างน้อย ทำให้ยอดการติดตั้งอีดีซียังน้อยแทนที่จะเป็นหลักแสน ก็ติดตั้งได้เพียงหลักหมื่นเท่านั้น

“โจทย์หลักคือการลดใช้เงินสด อีดีซีเป็นรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราสามารถพัฒนาเป็นเมอร์ชั่นแอพ หรือคิวอาร์โค้ดได้ อาจจะไม่ต้องมีเครื่องไปติดตั้ง สามารถใช้ผ่านมือได้ ก็น่าจะ ตอบโจทย์เหมือนกัน”