‘เซ็นทรัล-เดอะมอลล์’ทรานส์ฟอร์มธุรกิจรับแลนด์สเคปค้าปลีกใหม่

‘เซ็นทรัล-เดอะมอลล์’ทรานส์ฟอร์มธุรกิจรับแลนด์สเคปค้าปลีกใหม่

ธุรกิจค้าปลีกกำลังเผชิญคลื่นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากปัจจัยกระทบทั้งเชิงลบและบวก ตั้งแต่การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในโลกไร้พรมแดนไม่จำกัดขอบเขตเฉพาะคู่แข่งภายในประเทศ

แต่รวมถึงทั่วโลกที่ถูกเชื่อมด้วยแพลตฟอร์มการค้าใหม่ “ออนไลน์” ที่สินค้าและบริการต่างมีลูกค้าคนเดียวกันท่ามกลางทางเลือกมากมาย  

ขณะที่ "ผูู้เล่นใหม่“  หรือ ”คู่แข่ง“ จากนี้อาจไม่อยู่บนโมเดลธุรกิจแบบเดียวกัน เทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับ “ผู้บริโภค” ที่พฤติกรรมและโครงสร้างการใช้จ่ายกำลังปรับเปลี่ยนสู่กลุ่มใหม่ “มิลเลนเนียลส์” ที่มีอิทธิพลต่อตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ

พร้อมๆ กับฐานอำนาจซื้อใหม่ “กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ”  ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องจะเป็นอีกหนึ่งกำลังซื้อหลักคู่ขนานการบริโภคภายในประเทศ สิ่งเหล่านี้สร้างแรงกระเพื่อมทางธุรกิจอย่างมาก นำสู่การปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ของ 2 ผู้นำวงการค้าปลีก เซ็นทรัล และ เดอะมอลล์   เปิดปฏิบัติการ Transformation เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจก้าวสู่โลกการค้ายุคใหม่อย่างมีศักยภาพ 

 กลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้การกุมบังเหียนของ ทศ จิราธิวัฒน์  มองถึงความท้าทายในการทำธุรกิจจากนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วรอบด้าน ในอดีตธุรกิจหนึ่งแม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญ และมีสถานะ “ผู้นำ” แต่อีก 10 ปีข้างหน้าไม่ใช่!!  นำสู่ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่  ดิจิทัล เซ็นทราลิตี้ (Digital Centrality) เป็นกรอบยุทธศาสตร์ทุกธุรกิจในเครือเซ็นทรัลมุ่งเชื่อมโยงลูกค้าผ่านโลกออนไลน์และออฟไลน์แบบไร้รอยต่อครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทั่วโลก

พร้อมๆ กับการจัดทัพองค์กรที่เปิดกว้าง “มืออาชีพ” ทั้งชาวไทยและต่างชาติร่วมขับเคลื่อนธุรกิจต่างจากยุคก่อนเน้น “คนตระกูล” แม้กระทั่งการดึงมืออาชีพร่วมงานเน้นในแวดวงค้าปลีก แต่บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจ การเงิน และความผันผวนของสถานการณ์ต่างๆ  ตอกย้ำว่า ความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านการเงินเป็นส่วนสำคัญต่อความมั่นคงทางธุรกิจ รวมถึงการใช้เทคโนโลยี การขยายเครือข่ายธุรกิจสู่เวทีโลก เหล่านี้ ทำให้ บุคลากรที่มีองค์ความรู้เฉพาะทางด้านการเงิน เทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญค้าปลีกต่างประเทศ  เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในโครงสร้างบริหารขององค์กรค้าปลีก 

ไม่ต่างจากกลุ่มเดอะมอลล์ ที่มี ศุภลักษณ์ อัมพุช หัวเรือใหญ่ อยู่ระหว่างปรับกระบวนทัพ เรียกว่า เป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่ของความเป็นธุรกิจครอบครัว แม้ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จะมีมืออาชีพนอกตระกูลอัมพุชร่วมสร้างการเติบโตขยายอาณาจักรเดอะมอลล์ แต่ในทศวรรษที่ 4 และย่างก้าวแห่งอนาคต ผู้เชี่ยวชาญค้าปลีกจากต่างประเทศ เป็นทางเลือกที่ ศุภลักษณ์ ให้ความสำคัญมากขึ้นในเวลานี้ สอดรับกลยุทธ์การลงทุนของกลุ่มเดอะมอลล์พุ่งเป้า “นักท่องเที่ยวต่างชาติ”  โดยมีย่านการค้า “ดิ เอ็มดิสทริค” เป็นโปรเจคยุทธศาสตร์สร้างแลนด์มาร์คนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างสมบูรณ์แบบ

ยุวดี จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า ลูกค้าทุกวันนี้มีทางเลือกมากขึ้นจากความหลากหลายของแพลตฟอร์มและโมเดลธุรกิจประเภทเดียวกัน และต่างประเทศ ผู้เล่นในตลาดมีจำนวนมากและขยายวงกว้างระดับนานาชาติ เป็นความท้าทายของธุรกิจจะ “รับมือ”  อย่างไร 

โดยเฉพาะกิจการเก่าแก่ 70 ปี “ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล” แม้จะมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งแต่อยู่ในกลุ่มคนรุ่นเก่า หรือ เบบี้บูมเมอร์ ขณะที่กลุ่มเจนวาย หรือ มิลเลนเนียลส์ เป็นกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลและขับเคลื่อนตลาดสินค้าและบริการต่างๆ นำสู่การรีแบรนด์ ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนโลโก้และองค์ประกอบของแบรนด์ห้างเซ็นทรัลให้มีความทันสมัยและเรียบง่ายมากขึ้น ตั้งแต่ฟอนท์ (font)ตัวอักษรของโลโก้ ภาพดอกกุหลาบเพื่อสื่อสารไปในทิศทางเดียวกันถึงความหนักแน่น ตั้งใจ และมุ่งมั่นในการบริการลูกค้า ย้ำความเป็น “ห้างสรรพสินค้าระดับโลก”

ขณะเดียววิถีชีวิต หรือ ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับ “การเดินทาง” ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการทำตลาดค้าปลีก!!  ดังนั้นในฐานะผู้ประกอบการต้องมองไกลว่า...จะทำอย่างไรให้ลูกค้าได้ซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเดินทางไปไหน และร้านค้าจะเป็นเสมือน “บ้านหลังที่สอง” หรือ แหล่งสร้างประสบการณ์ให้ผู้คนมาใช้ชีวิตร่วมกันมากกว่าเป็นจุดซื้อขายสินค้าซึ่งมีได้และพบเห็นโดยทั่วไป

บริการข้ามแดนแบบไร้รอยต่อ เป็นกลยุทธ์ของกลุ่มเซ็นทรัลมุ่งเน้นบริการเป็นเลิศ เป็นไปตามวิสัยทัศน์ เซ็นทราลิตี้”  

ดิจิทัล เซ็นทรัลลิตี้  ของกลุ่มเซ็นทรัล เป็นการหลอมรวมแพลตฟอร์มออฟไลน์-ออนไลน์ สร้างประสบการณ์เข้าถึงระหว่างธุรกิจและลูกค้าได้ทุกช่องทาง หรือ  “ออมนิแชนแนล” ที่จะสามารถเชื่อมโยงลูกค้าครอบคลุมทั่วโลก

ขณะที่ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” วางแนวทางการเปลี่ยนผ่านกิจการ 30 ปี สู่ทศวรรษที่ 4 ด้วย “เอ็ม ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ส่งต่อความมัั่นคงและยั่งยืนทางธุรกิจ ผ่าน “คนรุ่นใหม่” และ มืออาชีพจากในและต่างประเทศมาเสริมทัพ ด้วยเหตุผลที่ไม่แตกต่างกัน 

ไพบูลย์ กนกวัฒนาวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า  ประเทศไทยกำลังต้อนรับนักท่องเที่ยว 40-50 ล้านคนในเร็ววัน คือ อำนาจซื้อที่ไม่อาจปล่อยผ่านไปได้ เพราะเมื่อผนวกรวมกับกำลังซื้อในประเทศจะทำให้ไทยมีฐานกำลังซื้อเกือบ 100 ล้านคน คือ โอกาสธุรกิจ ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงรอบด้านที่ต้อง “ตั้งรับ” ให้ดี เช่นเดียวกัน

เดอะมอลล์ กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือ “เอ็ม ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ภายใต้แผนการดำเนินงานระยะ 3 ปี (2560-2562) ที่เร่งมือจัดวางระบบบริหารจัดการภายในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะทางด้าน “บุคลากร” และ “เทคโนโลยี” เข้ามารองรับการขยายธุรกิจ และ “ลูกค้า”

องค์กรต้องมีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับธุรกิจไม่ให้เกิดความผิดพลาด  การตัดสินใจ ต้องอาศัยข้อมูลมากขึ้น เพื่อให้เกิดความแม่นยำ และมั่นใจว่าจะไม่ผิดพลาดการตัดสินใจ ต้องอาศัยข้อมูลมากขึ้น เพื่อให้เกิดความแม่นยำ และมั่นใจว่าจะไม่ผิดพลาด

การทรานส์ฟอร์มของเดอะมอลล์ครั้งนี้ ไม่เพียงลงทุนทางด้านเทคโนโลยีหลายร้อยล้านบาท ยังระดมมืออาชีพทางด้านค้าปลีกจากต่างประเทศทยอยเข้ามาเสริมทัพกว่า 10 คน จากแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก อาทิ  ห้างแกลอลี่ลาฟาแยต ประเทศฝรั่งเศส ห้างแพรงตองส์ ประเทศฝรั่งเศส ห้างโรบินสัน ประเทศสิงคโปร์ เพื่อได้ใช้โนว์ฮาวของความเป็นห้างหรู ในการพัฒนาลักชัวรีรีเทลของกลุ่มเดอะมอลล์ ผ่านดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มควอเทียร์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เดอะมอลล์ ยังเตรียมการสำหรับ Successor ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในตระกูลหรือเครือญาติ แต่ต้องเก่ง มาลีดทีม และรับผิดชอบธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ในความเป็นผู้นำยุคใหม่ จะต้องมีความรอบรู้เรื่องธุรกิจ มีความเชี่ยวชาญด้านไอที ซึ่งเป็นเส้นเลือดของบริษัท มีความเป็น เจ้าของ และมีลีดเดอร์ชิพ

แน่นอนว่าหากปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ก่อนย่อมได้เปรียบ