‘แอคติโมทีฟ’ เทคโนโลยีเพื่อคนเสี่ยเหงื่อ

‘แอคติโมทีฟ’ เทคโนโลยีเพื่อคนเสี่ยเหงื่อ

"เราเริ่มจากสิ่งที่ต้องการทำ แล้วค่อยไปดูในเรื่องคอมเมอร์เชี่ยล ซึ่งรู้ว่าเราอยู่ในตลาดใหญ่เป็นบลูโอเชี่ยน"

แอคติโมทีฟ (ActiMotive) เป็นสตาร์ทอัพ ที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์คนทั่วไปที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย

มีทีมผู้ก่อตั้งอยู่ 5 คน แต่ที่สะดวกมาพูดคุยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ก็คือ ดร.มารอง ผดุงสิทธิ์, สุทัศน์ วงศ์สุขศิริ,อิทธิพล ถิระสัตย์ และศิวัส ขาวเหลือง

พวกเขาบอกว่า การออกกำลังกายของคนยุคนี้ไม่ได้เพียงต้องการผลลัพท์แค่มีสุขภาพที่ดี หรือเพื่อให้ดูดี หรือเพื่อการลดน้ำหนักเท่านั้น แต่ต้องสนุก ได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ ได้พบเจอเพื่อนใหม่ๆ รวมถึงต้องสามารถนำเอามาใช้ได้จริงด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นนักกีฬาเล่นบาสเก็ตบอล ก็มักจะมีความคิดในหัวว่าทำอย่างไรจึงจะกระโดดสูงขึ้นได้อีก หรือหากเป็นนักไตรกีฬาก็คงคิดว่าจะทำอย่างไรให้สปีดดีขึ้น อึดขึ้น อย่างไรให้หัวใจแข็งแรงขึ้น รวมถึงความคล่องแคล่ว ความบาลานซ์ เช็คได้ในเรื่องของระบบประสาท ระบบหายใจ ฯลฯ


ซึ่งในความเป็นจริง ฟิตเนสจำนวนมากมายกลับไม่ได้ตอบโจทย์ดังที่ได้กล่าวมาสักเท่าไหร่ ขณะที่เทคโนโลยีของแอคทิโมทีฟได้ถูกพัฒนาให้สามารถตอบโจทย์หลายๆโซลูชั่น สำหรับกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน


ต้องบอกว่า แรกเริ่มเดิมที แอคติโมทีฟ เป็นผลงานวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษาระดับปริญญาโทของ “อิทธิพล ถิระสัตย์” เพราะเป็นคนชอบปั่นจักรยานเป็นการส่วนตัวและได้เดินทางมาเยอะ เวลานั้นที่เขาคิดขึ้นมาเป็นระบบการปั่นจักรยานที่จำลองสภาพแวดล้อมเป็นเส้นทางการปั่นจักรยานในสนามต่างๆทั้งในไทยและต่างประเทศ


แม้ว่าจะเป็นการ “ปั่นในร่ม” แต่ก็ให้ความรู้สึก “เสมือนจริง” ว่าได้ไปปั่นอยู่บนเส้นทางหรือในสนามนั้นจริงๆ


นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลด้วยว่า ระยะทางตรงไหนของแต่ละสนามที่ต้องใช้แรงปั่นมากหรือน้อย เพราะแน่นอนว่าเวลาที่ปั่นขึ้นเขาก็ต้องออกแรงมากกว่า เวลาที่ปั่นลงเขาจะออกแรงน้อยกว่า


ในฐานะของอาจารย์ที่ปรึกษามาตั้งแต่ต้น ดร.มารอง บอกว่าทีแรกเขากับอิทธิพลซึ่งเป็นลูกศิษย์ไม่ได้มองเรื่องคอมเมอร์เชี่ยลสักเท่าไหร่ เพราะต้องการทำเรื่องที่ตัวเองมีความสุข มีแพชชั่น เป็นเรื่องที่รู้สึกว่าอินไปกับมัน ประการสำคัญถ้ามุ่งคิดในเรื่องของกำไรตั้งแต่แรก วันนี้แอคติโมทีฟก็คงไม่ได้เกิดขึ้น (เพราะทำอย่างอื่นอาจรวยกว่า)


"เราเริ่มจากสิ่งที่ต้องการทำ และพอทำไปก็ค่อยไปดูให้ลึกว่าในเรื่องคอมเมอร์เชี่ยลว่าจะมีทางเป็นไปได้อย่างไรบ้าง และพอได้พบกับคุณสุทัศน์ก็ทำให้รู้ว่าเรากำลังอยู่ในตลาดค่อนข้างใหญ่และเป็นตลาดบลูโอเชี่ยนด้วย"


เพราะที่ผ่านมาสุทัศน์ คลุกคลีอยู่ในวงการฟิตเนส ,วงการไตรกีฬา, วงการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพมาโดยตลอด ทำให้เขามองเห็นภาพของตลาดค่อนข้างชัดเจน อีกทั้งยังมีผลการวิจัยของหลายๆสถาบันที่รายงานตรงกันว่าธุรกิจฟิตเนสไทยมีมูลค่าอยู่ประมาณ 3,500 ล้านบาท


ทว่าจากตัวเลขดังกล่าวเป็นของผู้เล่นรายใหญ่ 4-5 รายถึง 90% แน่นอนมันจึงดูเหมือนว่าจะไม่มีโอกาสหรือช่องว่างสำหรับผู้เล่นรายเล็ก ๆเลย


"จากประสบการณ์ ผมมองเห็นว่า ฟิตเนสทุกวันนี้นำเสนอรูปแบบการบริการที่ไม่แตกต่างจากเมื่อสิบปีก่อน ขณะที่ไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้กลับต่างไปจากสมัยก่อนตรงที่เขามองหาประสบการณ์ใหม่ เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้เล่นรายเล็กโผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ เราจะเห็นบูทีคสตูดิโอขนาด 100 - 200 ตารางเมตรเยอะมากขึ้น ปีที่แล้วแค่ปีเดียวปีที่แล้วมีการขอจดทะเบียนประกอบการถึง 324 ราย เพื่อนำเสนอประสบการณ์ใหม่ อุปกรณ์แปลกใหม่ให้กับลูกค้า พร้อมกับสร้างสังคม ด้วยความที่สตูดิโอขนาดเล็กจึงทำให้คนที่เข้ามาออกกำลังกายกลายเป็นเพื่อนกันหมด"


แต่สิ่งที่แอคติโมทีฟทำเป็นการมองข้ามชอทยิ่งไปกว่านั้น คือยังต้องสามารถนำการเสียเหงื่อจากการออกกำลังกายเอามาใช้ได้จริง โดยมีเป้าหมายให้โซลูชั่นนี้เข้าถึงทุกๆคน ไม่ว่าจะอยู่ในมหาวิทยาลัย, ฟิตเนส,โรงแรม, คอนโดมีเนียม หรือในโรงพยาบาล เพราะเทคโนโลยีของแอคทิโมทีฟสามารถปรับให้เข้ากับเครื่องหรือโซลูชั่นอะไรก็ได้ และไม่จำเป็นต้องเป็นจักรยานจะเป็นอุปกรณ์ออกกำลังกายอะไรก็ได้


"เวลานี้เราได้พาร์ทเนอร์กับโครงการหนึ่งชื่อว่า บางกอกเก็ทฟิต เป็นไซคลิ่งสตูดิโอในเอแสควร์ คอมมูนิตี้มอลล์ ที่อยู่ในซอยสุขุมวิท26 และจะเปิดบริการภายในสามเดือนข้างหน้า มันเป็นโปรเจ็คที่ไซส์ไม่ใหญ่แต่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเรามีโค้ชที่เป็นนักกีฬาทีมชาติ เป็นอดีตนักกีฬาโอลิมปิค มาช่วยโค้ชการปั่นจักรยานเพื่อให้ไม่ว่าจะเป็นใครก็เข้าถึงได้ มันถือว่าเป็นฟิตเนสแบบหนึ่งแบบที่ภาษาการตลาดใช้คำว่าบลูโอเชี่ยน เพราะเราไม่ได้ต้องการแตกต่างแบบไมเนอร์เชนจ์ แต่เราต้องการสร้างสตอรี่่ใหม่ขึ้นมาเลย"สุทัศน์กล่าว


จะว่าไปทั้งหมดคือเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาที่คุ้นเคยในวงการนักกีฬามืออาชีพ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครทำให้มันง่ายและเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ ตรงกันข้ามแอคติโมทีฟได้นำเอาเรื่องนี้มาพูดให้ฟังและเข้าใจง่าย ๆเป็นภาษาชาวบ้านด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมา


"แอคติโมทีฟโพซิชั่นตัวเองว่าไม่เจาะจงลงไปในกิจกรรมประเภทใดประเภทหนึ่ง เพราะเชื่อว่าองค์ความรู้ที่ทีมของเรามีอยู่ไม่ว่าจะด้านเทคโนโลยีและประสบการณ์ด้านกีฬา สามารถทำให้แแอคติโมทีฟเข้าถึงกีฬาได้ทุกประเภท กิจกรรมทุกรูปแบบ แต่แน่นอนในแง่ของกิจกรรมทางการตลาดเราจะค่อยๆพูดไปทีละเรื่อง ซึ่งเรื่องแรกนั้นเราเคยคุยไปแล้วและเป็นคอมเมอเชียลแล้วก็คือ ซอฟท์แวร์รันนิ่งคลินิคที่เราทำให้กับโรงพยาบาลสมิติเวชที่เอาไปให้บริการนักวิ่ง " สุทัศน์กล่าว


เมื่อพูดถึงการแข่งขัน พวกเขาแน่ใจว่าเมื่อเปิดโปรเจ็คบางกอกเก็ทฟิตขึ้นมาก็ต้องมีคนทำตามแน่นอน แต่ส่วนตัวของดร.มารอง เองมีความเชื่อมั่นว่าคนตามกว่าจะตามได้ทันเป็นเรื่องยาก เพราะการคิดทำโซลูชั่นแบบนี้ได้ต้องอาศัยความรู้ประสบการณ์ที่หลากหลาย ซึ่งแอคติโมทีฟนั้นมีส่วนผสมของทีมที่ดีคือมีทั้งเทคนิคอลและนักกีฬา


"เรากล้าทำก่อน และกว่าที่จะเป็นรูปเป็นร่าง ก็ใช้เวลา ถ้ามีโปรแกรมเมอร์คนอื่นมองว่าดีจังเลย อยากทำบ้าง และเริ่มไปเซ็ททีม ไปติดต่อแพทย์ ติดต่อนักกีฬา สรุปพอเขาพัฒนาเสร็จปุ๊บ เราก็ก้าวไปอีกเรื่องหนึ่งแล้วหมายถึงเราจะนำหน้าเขาอยู่ 2-3 ก้าว"


เมื่อถามถึงที่มาของรายได้ พวกเขาบอกว่า แพ็คเก็จราคาจะพิจารณากันแบบเคสบายเคส และมีทั้งโมเดลที่ขายขาดทั้งที่ขายเป็นไลเซนส์ มีทั้งบีทูซีและบีทูบี แต่อยู่ในหมายเหตุว่าจะโฟกัสบีทูบีมากกว่า


ภายในปีนี้แอคทิโมทีฟจะมีความเคลื่อนไหวอะไรเกิดขึ้นบ้าง ? สุทัศน์ตอบว่าที่ใกล้ที่สุดอีกสามเดือนข้างหน้าเราจะมีโชว์รูมแรก นั่นคือโปรเจ็คบางกอกเก็ทฟิตกำลังจะเปิดตัวขึ้น


"ก่อนหน้าคนอาจจะเคยได้ยิน เคยได้เห็นแอคติโมทีฟกันมาบ้าง แต่อีกสามเดือนจากนี้คนจะได้มาสัมผัส และมีประสบการณ์ตรงกับเรา มันเป็นโมเดลที่เราตั้งใจว่าจะสามารถพรูฟว่าสำเร็จได้ภายในเวลาที่รวดเร็วจากนั้นเราก็มองสาขาที่สองที่สามรวมถึงกระจายไปในกิจกรรมและธุรกิจประเภทอื่น ๆด้วย"

 
ปลายทางของแอคติโมทีฟ มุ่งไปยังเส้นชัยของความยั่งยืน ดังนั้นแม้เวลานี้จะขึ้นชื่อว่าเป็นสตาร์ทอัพ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เดินตามสเต็ปของสตาร์ทอัพสักเท่าไหร่


"อย่างที่ได้กล่าวไปเราทำเพราะตัวเราก็เป็นผู้ใช้มัน และรักที่จะทำ เราเลยไม่ได้มีกลยุทธ์ในการเอ็กซิท รวมทั้งไม่ได้มองว่าจะระดมทุนเมื่อไหร่ เรายังมองว่าการระดมทุนมันอาจทำให้เราเสียหุ้น เสียการคอนโทรล เสียอินพุทในการจะพัฒนาสิ่งที่ต้องการจริงๆ แต่ก็อาจมีวันหนึ่งที่เราต้องการจะขยายธุรกิจอย่างจริงจัง ถึงตอนนั้นเราก็จะไปหานักลงทุนที่เข้าใจและอยู่ในวงการเดียวกัน เราไม่อยากได้วีซีที่ไม่เข้าใจในธุรกิจนี้ เพราะธรรมชาติของวีซี เขาต้องการให้ธุรกิจเอ็กซิท เขามองรีเทิร์นเป็นหลัก ดังนั้นเขาจะไดรฟ์เราทุกวิถีทางซึ่งอาจทำให้เราไม่มีความสุข หรือได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ" ดร.มารองกล่าว