คลังคาด'เงินสะสมกบช.' ปีแรก6หมื่นล.

คลังคาด'เงินสะสมกบช.' ปีแรก6หมื่นล.

คลังคาดเงินสะสมกบช.ปีแรก "6 หมื่นล้าน" เปิดช่องกองทุนเลี้ยงชีพที่มีเงินสะสมและสมทบไม่ต่ำกว่ากม.กบช. กำหนดไม่ต้องโอนเข้ากบช.

คลังประเมินเงินสะสมในปีแรกของกบช.จะมียอดสูงถึง 6 หมื่นล้านบาท จากบริษัทขนาดใหญ่ที่กฎหมาย กบช.กำหนดให้เข้าเป็นสมาชิกกองทุน โดยขณะนี้ ร่างกฎหมาย กบช.อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังคาดการณ์ในปีแรกของการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) จะมีเงินสะสมในส่วนของสมาชิกและนายจ้างรวมราว 6 หมื่นล้านบาท และ จะทะลุเกิน 1 แสนล้านบาท ในอีกไม่กี่ปีนับจากเริ่มจัดตั้งกองทุน

ปัจจุบันมีแรงงานที่อยู่ในระบบราว 16 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้ มีลูกจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจเพียง 3 ล้านคน ซึ่งมีเงินกองทุนรวมกันราว 9 แสนล้านบาท ที่เหลือราว 12-13 ล้านคน ไม่มีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้ง กบช.

ปัจจุบันร่างกฎหมาย กบช.ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาตัวบทกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ จะกำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างต้องเข้าเป็นสมาชิก กบช.โดยลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี สามารถสมัครเป็นสมาชิก กบช.ได้

สำหรับอัตราส่งเงินสะสมของลูกจ้างและเงินสมทบของนายจ้าง จะใส่เข้ากองทุนฝ่ายละเท่าๆ กัน โดยปีแรกของการบังคับใช้ จะเริ่มในอัตรา 3% และทยอยปรับขึ้น เป็น 5% ,7% และ 10% ตามลำดับ ภายใน 10 ปี โดยกำหนดเงินนำส่งเข้ากองทุนสูงสุดไม่เกิน 1,800 บาทต่อเดือน และเพดานเงินเดือนที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสะสมและสมทบ จะอยู่ที่ไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน,สำหรับลูกจ้างที่มีเงินเดือนไม่เกิน 1 หมื่นบาทซึ่งมีสัดส่วนราว 50% ของแรงงานภาคเอกชน ไม่ต้องจ่ายเงินสะสม แต่ให้นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนฝ่ายเดียว

ทั้งนี้ ในปีแรกการบังคับใช้กฎหมาย จะกำหนดให้กิจการขนาดใหญ่ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป กิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ, กิจการที่ได้รับบีโอไอ, บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, รัฐวิสาหกิจหรือกิจการที่ประสงค์จะสมัครเข้ากบช.เอง

สำหรับในปีที่ 4 ใช้กฎหมายนี้ จะกำหนดให้กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป จะต้องเข้าเป็นสมาชิก กบช. และในปีที่ 6 เป็นต้นไป กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะต้องเข้ามาสมัครเป็นสมาชิก

บริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ภาคสมัครใจ) อยู่แล้ว หากอัตราการส่งเงินสะสมและสมทบเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมาย กบช.กำหนด ก็ไม่จำเป็นต้องโอนเข้ามาเป็นสมาชิกของกบช. โดยยังคงอยู่ในระบบเดิมได้ แต่หากอัตราเงินสะสมและสมทบต่ำกว่าที่ กบช.กำหนดหากสมัครใจเพิ่มเงินสะสมและสมทบให้เท่ากับหรือสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็จะไม่ถูกบังคับให้ต้องเข้ากบช.

หลังจากกฎหมายได้รับความเห็นของจาก สนช.และประกาศบังคับใช้ กระทรวงการคลัง จะมีเวลา 1-2 ปี จัดตั้งสำนักงาน และวางระบบการบริหารจัดการ ก่อนที่จะเริ่มเดินระบบ กบช.

ส่วนการรับเงินหลังเกษียณของ กบช.นั้น จะให้สมาชิกเลือก ระหว่างการรับเป็นเงินก้อน (บำเหน็จ) หรือจะรับเป็นบำนาญ ซึ่งให้ทยอยรับในเวลา 20 ปีหลังจากเกษียณ สาเหตุที่ให้ทยอยรับ 20 ปี เนื่องจาก มีสมมุติฐานว่า คนไทยที่มีอายุเกิน 80 ปี มีเพียง 10% เท่านั้น

ทั้งนี้ จากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่า รายได้หลังเกษียณที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ อย่างน้อย จะต้องอยู่ที่ 50-60% ของรายได้ก่อนเกษียณแต่ในปัจจุบัน แรงงานในระบบ ที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือไม่ได้เป็นข้าราชการที่มี กบข.หรือบำนาญ มีเพียงการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม เพียงอย่างเดียว จะมีรายได้หลังเกษียณ เพียง 19% ของเงินเดือนสุดท้าย 

สำหรับข้าราชการเป็นกลุ่มที่ถือว่ามีระบบการออมเพื่อชราภาพที่ทำให้ชีวิตหลังเกษียณ มีรายได้เพียงพอ โดยมีรายได้หลังเกษียณในอัตรา 70% ของเงินเดือนสุดท้าย