ทรูฯทุ่ม3หมื่นล้านผุด‘ดิจิทัลพาร์ค’หนุนสตาร์ทอัพ

ทรูฯทุ่ม3หมื่นล้านผุด‘ดิจิทัลพาร์ค’หนุนสตาร์ทอัพ

กลุ่มทรูฯ เนรมิตพื้นที่ริมทางรถไฟฟ้าย่านปุณณวิถี ลงทุน 3 หมื่นล้าน ปั้น “ดิจิทัล พาร์ค”  แหล่งสร้างนวัตกรรม บ่มเพาะสตาร์ทอัพ  ระดม บรอดแบนด์-ไวไฟ ไอโอที คลาวด์ ทุกพื้นที่  พร้อมร่วมมือ สนช. พัฒนา “ย่านนวัตกรรม” นำร่อง

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)   กล่าวว่า กลุ่มทรูฯ ได้ลงนามความร่วมมือ กับ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)  ร่วมกันพัฒนาย่านนวัตกรรมในประเทศไทย เพื่อยกระดับพื้นที่ให้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่ “ไทยแลนด์ 4.0”  ภายใต้ความเชี่ยวชาญของกลุ่มทรูฯ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านซอฟต์ไซต์และฮาร์ดไซต์ อาทิ อาคารสถานที่ โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) และ คลาวด์

ทั้งนี้  วางแผนพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย 3 แห่ง ได้แก่ ย่านนวัตกรรมปทุมวัน ย่านนวัตกรรม จ.ภูเก็ต และย่านนวัตกรรมปุณณวิถี 

“ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี จะพัฒนาเป็นโครงการทรู ดิจิทัล พาร์ค  เป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล พื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้แนวคิดระบบนิเวศสมบูรณ์ แหล่งสร้างสรรค์งานวิจัยนวัตกรรม บ่มเพาะสตาร์ทอัพ และรวบรวมผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีศูนย์วิจัยและพัฒนา เน้นการสร้างดิจิทัล โรบอติกส์ และคลาวด์”

ลุยลงทุน3หมื่นล้าน

โครงการทรู ดิจิทัล พาร์ค เบื้องต้นใช้งบลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท  เป็นการพัฒนาในส่วนของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค 2 หมื่นล้านบาท และอาคารที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม 1 หมื่นล้านบาท 

โมเดลธุรกิจเป็นรูปแบบ “โอเพ่น อินโนเวชั่น”  เชื่อมโยงกันเป็นเมืองดิจิทัลด้วยเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคม 4จี พลัส, บรอดแบนด์ และ ไวไฟ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกเอื้อประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล การดำเนินธุรกิจ และไลฟ์สไตล์ รวมทั้งพื้นที่แชร์ทำงานร่วมกัน 

คาดหวังให้เป็นศูนย์รวมหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เข้ามาตั้งสำนักงาน และศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ของโลก เทคสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ กลุ่มเอสเอ็มอี มหาวิทยาลัย และกลุ่มนักวิจัยและพัฒนา

แจ้งเกิดสตาร์ทอัพใหม่100ราย

นายธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน กลุ่มทรูฯ กล่าวว่า ทรูดิจิทัล พาร์ค แบ่งออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรก คาดแล้วเสร็จไตรมาส 3 ปี 2561  เฟส 2 แล้วเสร็จปลายปี 2562  

“สถานที่ดังกล่าว จะเอื้อให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ สร้างสตาร์ทอัพของไทยให้เพิ่มมากขึ้น”

กลุ่มทรู อินคิวบ์ มีแผนลงทุนกับสตาร์ทอัพปีนี้ 100 ราย ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาลงทุนแล้ว 11 ราย เฉลี่ย 7 แสนบาท- 1 ล้านบาทต่อราย  โดยเป็นการลงทุนตั้งแต่เริ่มต้น และยังมีแผนลงทุนอีก 23-30 ราย  

โดยการสร้างสตาร์ทอัพหน้าใหม่ หรือการเข้าไปลงทุนนั้น บริษัทมองเป็นโอกาสเพราะจากสถิติค่าเฉลี่ยแล้วพบว่าสตาร์ทอัพ 100 ราย อยู่รอดได้เพียง 5% ดังนั้น การเข้าไปลงทุนในระดับเริ่มต้นกับสตาร์ทอัพจะช่วยเพิ่มทางเลือกของบริษัทด้วยในตัว

สนช.กำหนด15ย่านนวัตกรรมนำร่อง

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สนช. ได้กำหนดพื้นที่นำร่องโครงการย่านนวัตกรรม 15 ย่านประกอบด้วย ย่านนวัตกรรมในกรุงเทพฯ 8 ย่านได้แก่ 1.โยธี 2.ปทุมวัน 3.คลองสาน 4.รัตนโกสินทร์ 5.กล้วยน้ำไท 6.ลาดกระบัง 7.ปุณณวิถี 8.บางซื่อ 

ย่านนวัตกรรมในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) 4 ย่านได้แก่ 1.บางแสน 2.ศรีราชา 3.พัทยา และ 4.อู่ตะเภา-บ้านฉาง และย่านนวัตกรรมในภูมิภาคต่างๆ ดังนี้ 1.เชียงใหม่ 2.ขอนแก่น และ3.ภูเก็ต ซึ่งมุ่งให้ย่านนวัตกรรมเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม

มาตรการภาษีหนุนตั้งสตาร์ทอัพ

นายศุภชัย กล่าวในฐานะ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า  จำเป็นต้องใช้มาตรการลดหย่อนและยกเว้นภาษีด้านเทคโนโลยี เพื่อจูงใจนักลงทุนเข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพ 

“แม้ขณะนี้เงินทุนที่หลั่งไหลเข้ามายังสตาร์ทอัพในไทยเพิ่ม 3 เท่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่ไทยต้องมีมาตรการที่เป็นการลดอุปสรรคอื่นๆ ด้วย เช่น มาตรการทางด้านวีซ่า เพื่อให้คนที่มีความสามารถในภูมิภาคและทั่วโลกเข้ามาตั้งหรือร่วมงานกับสตาร์ทอัพในไทยมากขึ้น”

นอกจากนี้  การพัฒนาบุคลากรในประเทศโดยเฉพาะเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญ การที่ไทยจะรองรับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องพัฒนาด้านการศึกษา ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) หรือแม้แต่วิศวกรรมซอฟต์แวร์ อาจต้องกลายเป็นวิชาพื้นฐาน เนื่องจากประเทศจะต้องสร้างนวัตกรรมมากขึ้น ขณะที่หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่การใช้แรงงานมนุษย์

การเชื่อมโยงและถ่ายเทข้อมูลในอนาคตเริ่มมีมากขึ้น บริษัทขนาดใหญ่ได้รับการท้าทายจากบริษัทหรือผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกแทนธุรกิจแบบดั้งเดิมแล้วทั้งสิ้น ดังนั้น อุตสาหกรรมเก่าจะอยู่รอดได้ต้องปรับตัวสู่ยุค 4.0 ที่ใช้ข้อมูลขับเคลื่อนการผลิตและธุรกิจ 

“หลายคนมองเป็นอุปสรรค แต่การปรับตัวดังกล่าวจะทำให้เกิดงานใหม่ๆ ที่จะใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์กับการผลิตแบบเดิม ธุรกิจต้องปรับรูปแบบสู่ดิจิทัลให้ได้”

อย่างไรก็ตาม แนวทางของภาครัฐที่ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ เช่น การจัดพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะ เพื่อเสริมจุดแข็งของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเกษตรกรรม ซึ่งต้องเอื้อทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติไปพร้อมๆ กัน หากเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้ได้ไทยมีโอกาสก้าวสู่ศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย