‘ริชชี่ไรซ์’พลิกวิถีข้าวพื้นเมือง

‘ริชชี่ไรซ์’พลิกวิถีข้าวพื้นเมือง

“ริชชี่ ไรซ์” ข้าวถุงสังข์หยดพัทลุง ข้าวพันธุ์พื้นเมืองติดตราสัญลักษณ์ GI วางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูป ข้าวอบกรอบ แป้งทำขนมในชื่อแบรนด์ “เกี่ยวข้าว”

“ริชชี่ ไรซ์” ข้าวถุงสังข์หยดพัทลุง ข้าวพันธุ์พื้นเมืองติดตราสัญลักษณ์ GI วางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูป ข้าวอบกรอบ แป้งทำขนมในชื่อแบรนด์ “เกี่ยวข้าว” เพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าและลดความเสี่ยงทางธุรกิจ พร้อมส่งออกต่างประเทศ ตั้งเป้า 2 ปีรายได้ทะลุ 100 ล้านบาท


ต่อยอดข้าวสร้างมูลค่า


ขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากชนิดจากข้าวซ้อมมือและข้าวกล้องจากข้าวสังข์หยดในบรรจุภัณฑ์ทันสมัยในชื่อ “เกี่ยวข้าว” บาย ริชชี่ ไรซ์ เป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคและเพื่อช่วยระบายข้าวในสต๊อกของเกษตรกรจากเดิมที่จำหน่ายเพียงข้าวถุงติดตราริชชี่ ไรซ์
นางสาวกนิดา เสนีย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ริชชี่ ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันรายได้บริษัทมาจากข้าวเป็นหลัก เน้นข้าวเม็ดสีที่มีสีแดง สีดำ จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีสัดส่วนรายได้หลักมาจากข้าว 65-70% ส่วนที่เหลือเป็นบายโปรดักส์ เช่น ขนมอบกรอบ น้ำมันรำข้าวสังข์หยดแบบสกัดเย็นและแบบนำไปทอด แป้งจากข้าวสังข์หยดสามารถทำเบเกอรี่รวมทั้งเส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นพาสต้า เหมาะกับลูกค้าที่แพ้กลูเตนซึ่งมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนผลิตภัณฑ์ข้าวอบกรอบจะมีหลายรสชาติ ขึ้นอยู่กับความนิยมของลูกค้าในแต่ละประเทศว่า ชื่นชอบรสชาติอะไร


"เหตุผลที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายก็เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจระยะยาว ไม่ใช่แค่ขายเฉพาะข้าว ทำให้ต้องแตกไลน์ผลิตภัณฑ์จากข้าวสังข์หยด ซึ่งบริษัทเป็น 1 ใน 3 ที่ได้รับมาตรฐานจีไอ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในชื่อ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง”


ย้อนไป 7 ปีก่อน นางสาวกนิดาได้เข้ามาช่วยเกษตรกรในพัทลุง ซึ่งประสบปัญหาข้าวล้นตลาด โดยทำหน้าที่ติดต่อประสานงานหาพื้นที่จำหน่ายและออกบูธงานแสดงสินค้าระดับประเทศ ส่งผลให้ข้าวสังข์หยดจากพัทลุงได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ แต่ไม่สามารถเจรจาซื้อขายได้ เนื่องจากไม่มีตราสินค้า บรรจุภัณฑ์รวมทั้งองค์กรธุรกิจ เพราะเป็นเพียงกลุ่มเกษตรกร ทำให้เสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย


โมดิฟายด้วยน่านน้ำสีคราม


จากจุดนี้เองทำให้ตัดสินใจตั้งบริษัท เพื่อสร้างแบรนด์ ริชชี่ ไรซ์ โดยรวบรวมสมาชิกเกษตรกรเข้ามาเป็นลูกไร่ประมาณ 10 กลุ่มๆ ละประมาณ 40 คน ทำหน้าที่กระจายสินค้าและขยายตลาด ปรากฏว่า ได้ผลตอบรับดีมากจากลูกค้าในโมเดิร์นเทรด โดยยอดขายเเพิ่มเป็น 10 เท่าภายในระยะเวลาแค่ปีเดียว


“ช่วงแรกที่ทำตลาดในประเทศยอดขายดีมากในช่องทางโมเดิร์นเทรด คิดว่าประสบความสำเร็จแล้ว ด้วยความที่เราไม่เคยมีพื้นฐานมาก่อน มัวแต่ไปโฟกัสเรื่องผลิตภัณฑ์ การสร้างกลุ่มเกษตรกรเพื่อขยายกำลังการผลิต โดยที่ไม่ได้ดูตลาด ปรากฏว่ายอดขายตก จากนั้นเริ่มออกมาสำรวจตลาดจึงรู้ว่า คู่แข่งเยอะมากโดยแก้ปัญหานี้ด้วยการนำข้าวไปจำหน่ายในประเทศที่บริโภคข้าว แต่ไม่สามารถผลิตหรือผลิตได้จำนวนน้อย จึงเป็นที่มาของแนวคิดส่งออกเพื่อหนีจากสงครามราคาไปตลาดบลูโอเชี่ยนที่มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ประเทศเพื่อนบ้านและยุโรป ฮ่องกง เป็นต้น”


แม้ไม่ได้มีพื้นฐานการทำธุรกิจหรือประสบการณ์การทำนา ทำให้เผชิญกับปัญหาแต่สามารถฝ่าฟันมาได้ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจากรายได้ 1 ล้านบาท กระทั่งขยับมากกว่า 50 ล้านบาทและพยายามผลักดันให้ถึง 100 ล้านบาทภายในระยะเวลา 2 ปี จากนั้นจะรักษายอดขายไว้เท่านี้ ไม่เติบโตไปกว่านี้เพื่อรักษาคุณภาพ บริการแก่ลูกค้า เพราะแนวทางการทำธุรกิจไม่เน้นการทำตลาดหวือหวา แต่เน้นความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว ปัจจุบันมีสัดส่วนยอดขายในประเทศ 70% และส่งออก 30% ซึ่งชาวต่างชาติให้ความสำคัญกับสินค้าออร์แกนิกและข้าวที่มีสตอรี่อย่างข้าว GI เรียกว่าสินค้าขายคุณภาพตัวสินค้าเองแล้ว โดยช่องทางการตลาดที่ทางบริษัทเลือกใช้และจะเน้นมากขึ้นคือ ช่องทางออนไลน์ ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์ richyrice.com ครอบคลุมทั่วโลก


“เราจ้างงานคนในพื้นที่ 20 คนเท่านั้น จุดประสงค์หลักต้องการเป็นเอสเอ็มอี ที่เน้นการทำงานอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีและรายได้เหมาะสม” นางสาวกนิดา กล่าว