เปิดเฮียริ่ง 'ภาษีค้าออนไลน์'

เปิดเฮียริ่ง 'ภาษีค้าออนไลน์'

เปิด"เฮียริ่ง"ภาษีค้าออนไลน์ สรรพากรยืนเพดานเก็บ15%หากรายได้เกิน1.8ล้านต่อปี พร้อมชงกระทรวงการคลังเสนอครม.เดือนก.ค.นี้ 

สรรพากรเปิดร่างกฎหมายe-Business เผยแพร่ทางเว็บไซต์ ให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นก่อนปรับปรุงและเสนอคลัง -ครม.ในเดือนก.ค.นี้ นี้ ระบุต้องเสียภาษีหัก ณที่จ่าย 15%หากรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมยกเลิกข้อยกเว้นเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท

รายงานข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ได้เปิดให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึง ประชาชน ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ.. เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรภายในวันที่ 11 ก.ค.2560

กรมสรรพากรระบุถึงเหตุผลออกร่างกฎหมายว่า เนื่องด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีปัจจุบันช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีถิ่นที่ตั้งต่างประเทศประกอบธุรกิจในอีกประเทศได้อย่างสะดวก โดยผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การซื้อสินค้าและรับบริการจากผู้ประกอบการต่างประเทศผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แพร่หลาย แต่กฎหมายการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศทำได้อย่างจำกัด ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมภาระภาษีระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ประมวลรัษฎากรกำหนดให้สินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากร ตามกฎหมายว่า ด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันกรมศุลกากรกำหนดให้ของที่นำเข้าซึ่งแต่ละรายมีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับยกเว้นอากร ทำให้สินค้าที่นำเข้าทางไปรษณีย์ที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

ปัจจุบันการนำเข้าสินค้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท จากต่างประเทศผ่านไปรษณีย์ เป็นไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน แม้ว่าจะขายสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องปรับปรุงประมวลรัษฎากร การจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศที่ค้าขายสินค้าในไทยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าทางไปรษณีย์ เป็นไปอย่างเหมาะสมและทั่วถึง

สาระสำคัญร่างกฎหมาย คือกำหนดให้นิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ค้าขายได้รับเงินได้หรือผลกำไรในไทย ให้ถือว่านิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในไทย และให้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในไทย เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรนั้นมีการใช้โดเมนท้องถิ่นไทย มีการสร้างระบบการชำระเงินเป็นสกุลเงินไทยหรือมีการโอนเงินจากไทยหรือ กรณีอื่นตามที่อธิบดีกำหนด

กำหนดให้นิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และมิได้ประกอบกิจการในไทย แต่ได้รับเงินได้อันเป็นเงินได้ประเภทค่าโฆษณาออนไลน์ ค่าใช้พื้นที่ในเว็บไซต์ให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายในอัตรา15%และนำส่งกรมสรรพากร

กำหนดให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งขายสินค้าโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ แก่ผู้ซื้อที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

กรณีผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรได้ขายสินค้าหรือให้บริการผ่านทางเว็บไซต์หรือแอพลิเคชันของผู้อื่น กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการ และมีสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการนั้น กำหนดให้ยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่มีการนำเข้าทางไปรษณีย์ที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท