‘Relationflip’ สร้างสุข ผูกใจพนักงาน

‘Relationflip’  สร้างสุข ผูกใจพนักงาน

ตราบใดที่ยังมีมนุษย์อยู่บนโลกใบนี้ ซึ่งแต่ละคนก็มีปัญหาที่หลากหลาย เด็กอายุ 10 ขวบก็มีปัญหาอย่างหนึ่ง พออายุ 15 ก็มีปัญหาอีกอย่าง ซึ่งความเป็นมนุษย์มักปรับตัวยอมรับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่เท่าทัน ที่สุดก็กลุ้มใจไปกับมัน

“วินัดดา จ่าพา” เจ้าของกิจการเพื่อสังคม Relationflip (รีเลชั่นฟลิพ) หนึ่งใน Social Enterprise ที่เข้าโครงการ SET Social Impact Gym by mai Executives ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และสมาคมบริษัทจดทะเบียนใน maiA อธิบายว่าทำไมเธอจึงสนใจประเด็นปัญหาเรื่องนี้


แม้ว่ายุคนี้เทคโนโลยีจะมีส่วนสำคัญ แต่ก็มองว่าตัวเองคงไปไม่ถึงดวงดาวเหมือนอย่าง “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ที่สำคัญเพราะรู้ตัวตั้งแต่ยังเด็กว่า “สมองซีกขวาทำงานดีกว่าซีกซ้าย” จึงสอบเข้าเรียนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และก็รู้ตัวดีอีกด้วยว่าชอบทำมาค้าขาย อยากเป็นเจ้าของกิจการ และแม้จะมาจากครอบครัวที่ทำธุรกิจ แต่ก็ไม่ได้คิดจะสานต่อ ด้วยความคิดที่ว่า “คนเราจะต้องมีพิมพ์เขียวของตัวเอง”


และก็อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น เธอมองว่ามนุษย์แต่ละคนมีปัญหา ไม่ว่าจะอีกสิบปี หรืออีกร้อยปีข้างหน้า มนุษย์ปุถุชนก็ยังคงอกหักรักคุด ทุกข์ใจกับหนี้สิน เครียดกับคนที่ทำงาน ฯลฯ วินัดดาจึงไปขายแพชชั่นเพื่อชักชวนนักจิตวิทยาที่มองเห็นและต้องการแก้ไขปัญหานี้เช่นเดียวกัน ปัจจุบันมีจำนวน 25 คน


"เริ่มต้นเราต้องมีทีมนักจิตวิทยาที่สตรองก่อน เราต้องไม่ดันทุรังทำเองทั้งหมด แต่ต้องไปหาคนที่ฟิตอินกับงานแต่ละตำแหน่ง เริ่มที่นักจิตวิทยาที่มีความรู้สึกเหมือนเราว่าอยากจะช่วยตอบโจทย์ทางสังคม พอทีมนี้โอเคแล้ว จากนั้นก็ไปหาทีมที่มาช่วยดูแลด้านบิสิเนส และด้านการเงิน การหาทีมไม่ยากเพราะก่อนหน้าได้เข้าประกวดในโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมของบมจ.บ้านปู ซึ่งเต็มไปด้วยคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน"


เดิมที Relationflip กำหนดโพซิชั่นว่าจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาส่วนบุคคล ให้กับคนทำงานทั่วๆไป แต่ทำไปทำมาก็พบว่าทีมงานยังมีขนาดเล็กไม่สามารถไล่จับเพื่อช่วยแก้ไขทุกๆ ปัญหาให้กับทุกๆ คนได้ จาก “บีทูซี” เวลานี้จึงเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็น “บีทูบี”


"ในเรื่องของอิมแพ็ค การทำบีทูซีก็เป็นแค่ 1:1 แต่ถ้าเราได้องค์กรที่มีพนักงานเป็นร้อยเป็นพันคนน่าจะส่งผลกระทบที่แรงกว่า ซึ่งเราต้องรู้ด้วยว่าฝูงปลาอยู่ที่ไหน เราจึงเดินมาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 7 พันบริษัท และเอ็มเอไอที่มีสมาชิก 100 กว่าบริษัท ถ้าทำสำเร็จเราจะวกกลับไปบีทูซีอีกครั้งคงไม่มีปัญหา "


แนวคิดของ Relationflip ก็คือ พนักงานทุกๆ คนของแต่ละบริษัทมักเป็นกำลังหลักของครอบครัว พวกเขาอาจมีลูก มีพ่อแม่ หรือสามีและภรรยาที่ต้องคอยดูแล ดังนั้นหากพวกเขาได้รับคำปรึกษาที่ทำให้หายเครียด มีทัศนคติที่ดี มีความสุขในการใช้ชีวิต ผลลัพท์ที่เกิดก็คือ เขาจะเป็นพ่อหรือเป็นแม่ที่ดีของครอบครัว และเขาก็จะเป็นลูกน้องที่ดีของบริษัทอีกด้วย


อะไรคือปัญหาท้อบทรีของพนักงานส่วนใหญ่? เธอบอกว่า หนึ่ง มักเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทั้งกับเพื่อนร่วมงาน และกับเจ้านาย สอง การทำงานที่ไม่ตรงกับความสามารถตัวเอง ซึ่งเป็นจังหวะของชีวิต เช่น หว่านใบสมัครงานไปสิบบริษัท แต่เป็นบริษัทที่ไม่ใช่ที่เรียกตัวก่อน จะปฏิเสธก็ใช่ที่เนื่องจากภาระที่มีในเวลานั้น เช่นต้องใช้เงินผ่อนบ้านผ่อนรถ สาม ความไม่ชัดเจนของระบบ มีความซ้ำซ้อนในการทำงาน


"นักจิตวิทยาของเราจะมีชุดคำถามเพื่อให้พนักงานที่ประสบปัญหาได้ตกผลึก หรือปิ๊งอะไรขึ้นมา เช่นเรื่องการทำงานไม่ตรงสายงาน ด้วยสภาพแวดล้อม กำลังทรัพย์ที่มีอยู่ ที่สุดเขาจะยอมรับหรือไม่ ถ้าไม่ยอมรับจะทำอย่างไรต่อ คิดว่าจะสามารถหางานใหม่ได้ดีกว่าไหม หรือจะเข้าไปคุยกับเอชอาร์เพื่อขอเปลี่ยนสายงานดี ส่วนตัวเชื่อว่าคนส่วนใหญ่มีคำตอบอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ยอมรับ หรืออาจอยากให้คนอื่นมาช่วยยืนยันว่าที่คิดไว้มันใช่หรือเปล่า"


ในเรื่องการประเมินผลสำเร็จ วินัดดาบอกว่าเป็นเรื่องยากถ้าให้ถึงขั้นที่พิสูจน์ให้เห็นชัดว่า Relationflip ทำให้ตัวเลขบิสิเนสเติบโตขึ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์เพราะต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลสถิติแต่ที่แน่ๆ จะมีแบบประเมินความสุขของพนักงานในองค์กร


"ถามว่ามีแบบสอบถามที่ดีที่สุดในโลกไหม ส่วนตัวมองว่าคงไม่สามารถจะตัดสินคนได้เพียงคำถามไม่กี่สิบข้อแล้วสรุปได้อย่างแม่นยำ แบบสอบถามของเราจะกรองมาในระดับหนึ่ง ดังนั้นโพรเซสต่อไป เราจะใช้ทีมนักจิตวิทยาเข้ามาวิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง เป็นตะแกรงร่อนเพื่อให้เที่ยงตรง ว่าแบบสอบถามที่พนักงานแต่ละคนตอบมามีความจริงแค่ไหน"


อย่างไรก็ดี เธอยอมรับว่า Relationflip ยังอยู่ที่จุดสตาร์ทสำหรับตลาดบีทูบี ทำให้ไม่สามารถสรุปในเรื่องของโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน แต่ที่เสนอแต่ละองค์กรไปจะมีอยู่ 2 รูปแบบ ที่แปรผันตามจำนวนพนักงานของบริษัท อาทิ 1-30 คนก็อีกราคาหนึ่ง แต่ถ้ามีพนักงานร้อยคนขึ้นไปก็เป็นอีกราคาหนึ่ง
ประการสำคัญก็คือ เมื่อรู้จุดโฟกัสว่าเป็นบริษัทแล้ว ก็ต้องรู้ถึงความต้องการว่าแต่ละบริษัทต้องการอะไร ดังนั้นไม่แค่แพ็คเก็จดูแลจิตใจพนักงาน บริษัทที่ใช้บริการของ Relationflip จะสามารถเคลม GRI (Global Reporting Initiative) ได้ด้วย


" แต่ที่สุดเราจะให้คำปรึกษาแบบเหวี่ยงแบบครอบจักรวาลไม่ได้ ถามว่าคาแรคเตอร์ของพนักงานทั้งสามสิบคนหรือร้อยคนของแต่ละองค์กรเหมือนกันหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ใช่ พนักงานคนหนึ่งมีปัญหาเรื่องลูกติดเกม อีกคนมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ อีกคนลูกเป็นออทิสติก เราควรทำโซลูชั่นที่ลงลึกเพื่อแก้ไขปัญหาให้แต่ละคน เพราะถ้าพนักงานแต่ละคนยังไม่โอเค องค์กรจะไปคาดหวังให้เขาทำสิ่งที่โอเคก็คงไม่ได้ เพราะปัญหาของเขายังไม่ถูกแก้เลย"


วินัดดาบอกถึงแผนในปีนี้ว่าหลักๆ จะมุ่งทำสองเรื่องก็คือ การขยายฐานลูกค้าและขยายจำนวนนักจิตวิทยาเพิ่มขึ้นเป็น 100 คน (นักจิตวิทยาทั้งหมดเป็นพาร์ทไทม์ บริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์)


"พอเข้าไปในบริษัทเราไม่อยากเจอข้อติดขัดที่ว่ามีแค่พนักงานบางคนที่มีสิทธิได้ใช้เพราะนักจิตวิทยามีไม่เพียงพอ เราอยากให้พนักงานทุกคนของบริษัทมีสิทธิเข้าถึง ซึ่งก็หมายถึงเราก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปให้บริการทีละองค์กร แต่เข้าไปทีละหลายๆองค์กรก็ได้ แต่สุดท้ายแล้วความเร็วในการให้บริการหรือจำนวนของลูกค้าก็คงไม่สำคัญเท่ากับเรื่องของคุณภาพ การดูแลจิตใจคน จะทำแบบลวกๆ หยาบๆไม่ได้"

ธุรกิจยุคผูกใจพนักงาน


วินัดดายอมรับว่า มองเห็นโอกาสในกระแสที่ทุกๆ องค์กรต่างก็เร่งผูกใจพนักงานหรือ Engagement


"ยิ่งตอนนี้มีเรื่องของเจนเนอเรชั่นแก็บ เด็กที่เพิ่งเรียนจบก็เข้ามาทำงานแต่พอเทรนงานกำลังจะเป็นงานอยู่ๆ พวกเขาก็ลาออกไปเปิดขายรองเท้าในเฟสบุ๊ค บริษัทก็ต้องไปหาคนมาปั้นใหม่ซึ่งบริษัทต้องเลือกว่าจะรักษาคนเก่า หรือรับคนใหม่ดี แน่นอนว่าดูแลคนเก่าย่อมจะดีกว่า แต่ต้องทำให้เขาแฮบปี้ ก็อยากแนะนำว่าต้องลงไปแก้ปัญหาที่ตัวบุคคลก่อน แล้วความผูกพันมันจะตามมา บริการของเรามันก็เป็นเหมือนสวัสดิการๆ หนึ่งของบริษัท ทำฟันยังให้ได้ แล้วทำใจทำไมบริษัทจะให้ไม่ได้ มันยังเป็นการบ่งบอกถึงการที่องค์กรใส่ใจพนักงานด้วย"


มองว่าอะไรคือความท้าทาย เธอบอกว่าที่เป็นโจทย์ยากจริงๆ เป็นเรื่องของมุมมอง ทัศนะคติ โดยเฉพาะคนไทยที่ยังนิยมคลายความกังวลด้วยการไปดู“หมอดู”


"การไปปรึกษานักจิตวิทยาคนไทยกลัวว่าถูกมองเป็นคนบ้า สังคมไทยเชิดชูคนสมบูรณ์แบบ คนร้องไห้คือคนอ่อนแอ พอเครียดหรือกดดันมากๆ ก็เป็นบ้า หรือฆ่าตัวตายไปก็เยอะ ช่องทางการแสดงออกของคนไทยยังน้อย"


แต่ยุคนี้สมัยนี้คนไทยรุ่นใหม่ก็มีนิสัยใจคอที่โน้มเอียงไปทางฝั่งโลกตะวันตก เธอมองว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะคนรุ่นนี้จะทดลองอะไรใหม่ๆ และเปิดใจมากขึ้น