ส่องกลยุทธ์‘จังซีลอน’โกยอำนาจซื้อทัวริสต์จีน

ส่องกลยุทธ์‘จังซีลอน’โกยอำนาจซื้อทัวริสต์จีน

ยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวมุ่งสู่ตลาดคุณภาพมากขึ้น คู่ขนาน “การปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ” ส่งผลนักท่องเที่ยวจีนโดยรวมของภูเก็ตปลายปีที่ผ่านมาลดลงประมาณ 20%

ขณะที่ไตรมาส 1-2 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ  ขณะเดียวกันตลาดมีทิศทางที่ดีขึ้น จากการขยายตัวของ “นักท่องเที่ยวคุณภาพ” อย่างต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อธุรกิจที่ได้ “อำนาจซื้อ” ของบรรดาทัวริสต์จีน 

ประวิช จรรยาสิทธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ภูเก็ตสแควร์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าจังซีลอน ป่าตอง ภูเก็ต กล่าวว่า จังซีลอน วางกลยุทธ์การตลาดมุ่งเจาะ “นักท่องเที่ยวจีน” โดยเฉพาะกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่มีไลฟ์สไตล์และกำลังซื้อสูง พร้อมใช้จ่ายมากขึ้น

ทั้งนี้  นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเยือนภูเก็ตและป่าตองส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ (FIT)  ซึ่งเข้ามาใช้บริการในศูนย์ 60-70% ของลูกค้าทั้งหมด

นักท่องเที่ยวจีนมาแบบเดินทางด้วยตัวเองและพฤติกรรมปรับเปลี่ยนไปจากอดีต มีการใช้ชีวิตมากขึ้น พักโรงแรม 5 ดาว กินกุ้งมังกร ไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวดีขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตดีขึ้น ต้องยอมรับว่าเดิมโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า ไม่อยากต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน แต่ปัจจุบันจีนจับจ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวฝั่งตะวันตก ทั้งใช้เวลาท่องเที่ยวนานขึ้น จาก 5-7 วัน เป็น 9-10 วัน ดื่มด่ำในการท่องเที่ยวมากขึ้น”

นักท่องเที่ยวจีนเป็นตลาดศักยภาพและเป็นตลาดอนาคตที่จะมีการปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นกระบวนการธุรกิจและการทำตลาดของจังซีลอนจะถูกพัฒนาเพื่อรองรับฐานลูกค้ากลุ่มนี้อย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะ “สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ”  ตั้งแต่ การคัดเลือกพนักงานที่สื่อสาร “ภาษาจีน” มีทีม “ทีมคอนเทนท์” เพื่อสร้างรูปแบบการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพผ่าน “ออนไลน์” ที่เป็นช่องทางสำคัญในการเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน

ชาวจีน ใช้โซเชียลมีเดีย วีแชท และคลั่่งไคล้มากไม่ต่างจากคนไทย ไปไหน ชิม-ช้อป-แชร์ เช่นเดียวกัน และสังคมจีน มีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง มากมาย แชร์แต่ละครั้งเข้าถึงคนจำนวนมากทันที 1 บ้าน แชร์ให้ญาติเห็น 20 คนก็อยากมาเมืองไทยแล้ว”

จะเห็นว่า “โซเชียลมีเดีย” เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็ว สามารถสื่อสารและเข้าถึง “ลูกค้า” ผ่าน “รีวิว”  หรือ การสร้าง “คอนเทนท์” ที่จะมีกลไกตั้งแต่กระตุ้นให้อยากเดินทางมา และโดยพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวจีนจะ “เดินทาง” หรือ “ซื้อสินค้า” ตามโรพแมพของ รีวิว นั้นๆ เป็นสูตรสำเร็จ 

หากสินค้าและบริการ ร้านค้า ศูนย์การค้า แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ สามารถพาตัวเองปักหมุดอยู่บนรีวิวหรือคอนเทนท์นั้นได้ จะการันตีถึงความนิยมที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยือนหรือสัมผัสให้ได้”

ประวิช กล่าวต่อว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จังซีลอน มุ่งสร้างคอนเทนท์เจาะตลาดจีนโดยตรง และผลักดันเรทติ้งขึ้นอันดับ 1 ของสื่อจีน ได้แก่ ซีทริป (ออนไลน์ทราเวลเอเยนต์) เว่ยป๋อ และบรรดาเว็บไซด์จีนอื่นๆ

การเข้าถึงซีทริปยากมาก แต่เขาก็มาคุยกับเรา และเอาคนมาเขียนคอนเทนท์ให้จังซีลอน ซึ่งวันนี้กลายเป็นหนึ่งในเดสทิเนชั่นของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ต้องมาเยือน"

ความนิยมของนักท่องเที่ยวจีนที่มีต่อจังซีลอน สะท้อนผ่านรางวัล “2017 People’s Choice Awards Thailand Voted by Chines Tourists” 

ซึ่งได้รับการโหวตผ่านเว็บไซต์จากนักท่องเที่ยวชาวจีนให้ติดอันดับ 1 ใน 10 ศูนย์การค้ายอดนิยมมากที่สุดประจำปีนี้ นับเป็นศูนย์การค้าแห่งเดียวในต่างจังหวัดที่ได้รางวัลดังกล่าว

จังซีลอน ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจและบริการของจีนในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะ ระบบการชำระเงิน “อีวอลเล็ต เพย์เม้นท์” ทั้งยูเนี่ยนเพย์ อาลีเพย์ และอยู่ระหว่างเจรจากับวีแชทเพย์ 

การใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นชำระเงินออนไลน์อาลีเพย์ นับเป็นรายใหญ่ที่สุดในจีน มีฐานลูกค้ากว่า 450 ล้านคนทั่วโลก เป็นเทรนด์ที่ธุรกิจไม่สามารถมองข้าม”

รวมถึงการทำโปรโมชั่นแคมเปญ การเพิ่มร้านค้าและบริการรองรับความต้องการและความนิยมของนักท่องเที่ยวจีน อย่างกลุ่มอินเตอร์แบรนด์ เช่น ซูเปอร์ดราย แพนดอร่า ชาร์ลแอนด์คีธ โค้ช (ในรูปแบบเอาท์เล็ต) อันเดอร์ อาร์เมอร์ จิม ทอมป์สัน แฟคทอรี่ เอาท์เลตและคาเฟ่ รวมทั้ง โซนนวดและสปาไทย “Thai Rapy” เปิดบริการวันที่ 1 ส.ค.นี้

ปัจจุบัน จังซีลอน มีลูกค้าใช้บริการเฉลี่ย 4.5 หมื่นคนต่อวันในช่วงโลว์ซีซั่น และ 6 หมื่นคนช่วงไฮซีซั่น เป็นชาวไทย 20% และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 80% ิอันดับ 1 ได้แก่ จีน ตามด้วย เกาหลี ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง นักท่องเที่ยวมียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 4,500 บาทต่อคนต่อครั้ง เพิ่มขึ้นจากเดิม 4,200-4,500 บาทต่อคนต่อครั้ง 

จังซีลอน ยังอยู่ระหว่างเตรียมแผนปรับศูนย์ครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปี คาดใช้งบประมาณ 500-1,000 ล้านบาท