บลจ.ปรับพอร์ต ‘เอฟไอเอฟ’

บลจ.ปรับพอร์ต ‘เอฟไอเอฟ’

บลจ.ปรับพอร์ต "เอฟไอเอฟ" เล็งเป้าตลาดเกิดใหม่-ยุโรป

ช่วงครึ่งปีแรกนักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) เนื่องจากกองทุนดังกล่าว มีนโยบายกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลก ทั้งตราสารหนี้และหุ้น ไม่ได้กระจุกตัวในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง และไม่ให้นักลงทุนวิ่งไล่ตามผลตอบแทนอย่างเดียว อีกทั้งมีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ จึงยังเป็นที่นิยมของนักลงทุนในปีนี้ โดยเฉพาะในภาวะดอกเบี้ยต่ำและตลาดหุ้นไทยหมดแรงส่ง

กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ” นักวิเคราะห์กองทุน บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช จำกัด มองว่า ในปีนี้กองเอฟไอเอฟที่ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ยังมีความน่าสนใจ และ บลจ. ยังไม่ค่อยมีกองทุนรวมประเภทนี้มากนัก ดังนั้น มองว่าในช่วงปีนี้ บลจ. จะผลักดันกองทุนรวมที่ไปลงทุนในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก (global emerging market) เช่น ตุรกี จีน อินเดีย และกลุ่มหุ้นอาเซียน อาทิ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายกองแม่ที่จะเข้าไปลงทุน ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุน ที่มีทางเลือกการลงทุน แต่การกระโจนเข้าไปลงทุนนั้น ก็ต้องหยุดคิดด้วยว่า การเข้าไปลงทุนที่ผลตอบแทนสูงมากกว่า 10% ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาแล้ว คงต้องระมัดระวังการลงทุนนี้ด้วย

สุทธิโรจน์ สิทธิวัฒนานนท์” ผู้อำนวยการฝ่าย จัดการกองทุนต่างประเทศ บลจ.วรรณ มองว่า การลงทุนต่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลังภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้การลงทุนหุ้นยังมีความน่าสนใจกว่าตราสารหนี้ แต่ด้วยราคาหุ้นปรับขึ้นมากหรือค่อนข้างตึงตัวในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมานี้ ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนหุ้นในต่างประเทศ ต้องเน้นเลือกหุ้นรายตัวมากขึ้น ที่ราคาหุ้นยังไม่สูงมากหรือปรับฐานลงมา ยังมีโอกาสเติบโตสูงและพื้นฐานดี

สำหรับตลาดหุ้นที่น่าสนใจลงทุน ได้แก่ ตลาดหุ้นยุโรป ที่มีปัจจัยเสี่ยงการเมืองและการออกจากกลุ่มยูโรโซนเริ่มลดลง ที่สำคัญราคาหุ้นยุโรปยังถูกกว่าหุ้นสหรัฐ และตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย หากราคาหุ้นปรับฐานลงมาสามารถทยอยเข้าซื้อได้

ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐ ราคาหุ้นขึ้นไปค่อนข้างสูงแล้ว จึงต้องเน้นการเลือกหุ้นรายตัว ที่ยังมีโอกาสเติบโตต่อและสามารถขายทำกำไรได้ในบางช่วง ได้แก่ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี แม้ราคาหุ้นเริ่มตึงตัว แต่ในเชิงปัจจัยพื้นฐานยังโดดเด่น จากแผนขยายฐานธุรกิจในระยะข้างหน้า และระยะหลังนี้เริ่มมีแรงขายทำกำไรแล้ว รองลงเป็น หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ ที่เห็นราคาเริ่มปรับตัวขึ้นบ้างน่าจะไปต่อแต่อาจจะไม่ได้มาก

เท่าในอดีต

"เราไม่ได้กังวลเศรษฐกิจโลกมากนัก เพราะยังเห็นการฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ แม้ยังมีความเสี่ยงมาเป็นระยะ แต่ก็ไม่ใช่ความเสี่ยงที่จะก่อให้วิกฤติทางเศรษฐกิจ”

สุทธิโรจน์ แนะนำการลงทุนผ่านกองทุนเอฟไอเอฟ ด้วยว่าในช่วงที่ตลาดยังรอความชัดเจนจากนโยบายของทรัมป์ โดยตลาดคาดว่า น่าจะชัดเจนช่วงปลายไตรมาส 3 และต้นไตรมาส 4 ปีนี้ ขณะเดียวกันเมื่อเริ่มเห็นความเสี่ยงในยุโรปลดลงและทิศทางการลงทุนในปีหน้าชัดเจนขึ้น ในจังหวะนั้นนักลงทุนถึงจะเริ่มเข้าไปพิจารณาลงทุนเพิ่มเติม มองว่า น่าจะช่วยให้นักลงทุนปลอดภัยมากขึ้น

ดังนั้นในระยะสั้นช่วงนี้ ขอให้นักลงทุนใจเย็นๆ และใช้ช่วงนี้เป็นโอกาสทำการบ้าน ศึกษาข้อมูลการลงทุนเพิ่มเติม ใช้กลยุทธ์เลือกลงทุนหรือ Selective คัดเลือกหุ้นรายตัว และเลือกนโยบายการลงทุนและประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสมกับความสามารถในการลงทุนของตัวเอง

สุภาพร ลีนะบรรจง” ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี มองทิศทางการลงทุนของกองทุนเอฟไอเอฟ ที่เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังว่า กองทุนยังเน้นลงทุนทั้งในตราสารหนี้และหุ้น สำหรับตราสารหนี้ในต่างประเทศ ลงทุนระยะสั้นถึงปานกลางที่มี carry สูง โดย Duration ของพอร์ตยังคงต่ำกว่าเกณฑ์เทียบวัด ทำให้ไม่ถูกกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐมากนัก และกองทุนยังมีความน่าสนใจในระยะหนึ่งเดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ดีควรติดตามนโยบายเกี่ยวกับการลดขนาดงบดุล ของธนาคารกลางสหรัฐ โดยเฉพาะแผนดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับตราสารประเภท MBS

ทางด้านกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ที่ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ตลาดหุ้นยุโรป โดยโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปยังดีต่อเนื่อง ความเสี่ยงทางการเมืองออกจากยูโรโซนลดลง

ส่วนตลาดหุ้นจีน มีการฟื้นตัวของภาคการส่งออกโลก โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีและวัตถุดิบคุณภาพสูง เศรษฐกิจจีนใหม่ที่เน้นการบริโภคมากขึ้นยังคงสร้างโอกาสในการลงทุนที่ดี ขณะที่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น พบว่า เงินเยนเริ่มมีบทบาทลดลงต่อทิศทางตลาดหุ้นญี่ปุ่นส่งผลให้กองทุนหลักมีโอกาสมากขึ้นในการสร้าง alpha จาก stock selection โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม Small-cap ซึ่งมีแนวโน้มได้รับประโยชน์

สำหรับ ตลาดหุ้นสหรัฐ กองทุนเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และ IT ซึ่งคาดว่าจะได้รับประโยชน์ในช่วงเศรษฐกิจที่มีทิศทางของการฟื้นตัว และจะได้ประโยชน์ในระยะกลาง-ยาว เนื่องจากน้ำหนักการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุน หากปธน.ทรัมป์ดำเนินนโยบายปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา