“สลักดุน” งานประณีตโบราณ สู่เฟื่องระย้าเงิน ร.๙

“สลักดุน” งานประณีตโบราณ สู่เฟื่องระย้าเงิน ร.๙

งานสลักดุน หรือ บุดุนโลหะ อีกแขนงสรรพวิชางานประณีตศิลป์ไทยที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำความวิจิตรของงานดังกล่าวมาแสดงให้เห็น ผ่าน เฟื่องระย้าเงิน หรือเครื่องประดับประจำราชรถและพระที่นั่งสำคัญในพระราชพิธีอย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นสายโค้งโยงห้อยลงมา มีพู่หรืออุบะประดับคั่นระหว่างจุดเชื่อมของเฟื่องระย้าทั้ง 2 เส้น ทำจากวัสดุต่างๆ อาทิ ทองคำ ทองแดง เงิน ดีบุก ตะกั่ว ฯลฯ ด้วยการสลักดุนหรือบุดุนโลหะมีขั้นตอนการประดิษฐ์ยึดตามแบบอย่างงานของครูช่างโบราณ กล่าวคือ เป็นงานฝีมือโบราณที่เกิดจากการดุนเนื้อโลหะออกมาให้เห็นเป็นลวดลายนูนบนชิ้นงานเดียว โดยไม่มีการตัดเชื่อมผลงาน

     ที่ผ่านมาเฟื่องระย้าปรากฏหลักฐานว่ามีการใช้งานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ทำจากวัสดุที่ใช้เป็นตะกั่ว เมื่อทำปฏิกิริยากับอากาศ จึงเกิดความหมองคล้ำ ดังนั้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในครั้งนี้ จึงเปลี่ยนวัสดุใหม่เป็นเงินทั้งหมด เพื่อประดิษฐ์ชิ้นงานขึ้นมาทดแทนของเดิม โดยประจำอยู่รอบบุษบกของพระมหาพิชัยราชรถ เวชยันต์ราชรถ ราชรถน้อย พระที่นั่งราเชนทรยาน ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญ นักเรียนสาขาช่างทองหลวง กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง อาสาปฏิบัติหน้าที่งานสลักดุนเฟื่องระย้าดังกล่าว

     “ผมรับผิดชอบงานเฟื่องระย้าเงินประดับพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย โดยเฟื่องระย้าเงิน มีลักษณ์เป็นงานลอยตัว เราเรียกงานที่ทำว่างานสลักดุน หรือ บุดุนโลหะ โดยกระบวนการหลังจากถอดแบบของงานเฟื่องระย้า ทุกอย่างจากของเดิมโดยครูช่างผู้เชี่ยวชาญ แล้วผมก็นำมาบุลวดลายด้วยเครื่องมือช่าง เพื่อให้เห็นความนูนและมีมิติของชิ้นงาน เมื่อบุแล้วเสร็จจึงนำกระจกมาประดับตกแต่ง ให้มีความงดงาม ก่อนส่งต่อไปยังครูช่างเก็บรายละเอียดเป็นขั้นตอนสุดท้าย ถึงจะนำไปประดับตกแต่งพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย” ณรงค์ฤทธิ์ จิระไวทยะนักเรียนจิตอาสาจากกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กล่าว

     เฟื่องระย้าประจำราชรถและราชยานแต่ละองค์มีความแตกต่างกันในเรื่องของขนาด โดยเฟื่องระย้าเงินประจำพระมหาพิชัยราชรถจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าชิ้นอื่นๆ เพื่อสอดรับกับองค์บุษบกประจำราชรถนั่นเอง ส่วนลวดลายหลักคือลายกนกใบเทศ แล้วนำมาผูกเป็นเครือเถาในการประดิษฐ์ชิ้นงาน มองเห็นลายเส้นที่มีความละเอียดพริ้วไหว  

     จากพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงทนุบำรุงและอนุรักษ์ศาสตร์แห่งแผ่นดินอย่างงานศิลปะไทยไว้ทุกแขนงเพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ทราบถึงอารยะของประเทศซึ่งเปี่ยมด้วยจารีตและวัฒธรรมที่ทรงคุณค่า งานสลักดุน หรือ บุดุนโลหะ คือเครื่องบ่งบอกถึงเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ถ่ายทอดส่งต่อสู่คนรุ่นหลังผ่านเฟื่องระย้าเงิน เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีต่อพสกนิกรคนไทยทุกหมู่เหล่า

  “สลักดุน” งานประณีตโบราณ สู่เฟื่องระย้าเงิน ร.๙

“สลักดุน” งานประณีตโบราณ สู่เฟื่องระย้าเงิน ร.๙

ภาพ : ณพวุฒิ กาญจนภิญโญวงศ์