PARALLEL มุมมองคู่ขนานของช่างภาพสถาปัตย์

PARALLEL มุมมองคู่ขนานของช่างภาพสถาปัตย์

ผ่านตา ผ่านเลนส์ของช่างภาพสถาปัตยกรรม ที่ไม่ได้เห็นเพียงอาคาร แต่จับความสัมพันธ์กับบริบทรอบข้าง และสิ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันไปเอาไว้ในภาพถ่ายด้วย

เดินขึ้นบันไดวนของสกีมาต้า แกเลอรี่ (Schemata Gallery) ขึ้นมาชมนิทรรศการ PARALLEL ที่กำลังแสดงอยู่ตอนนี้ นิทรรศการต้อนรับเราด้วยแผงภาพโพลารอยด์ กับตู้ไฟที่มีฟิล์มขนาด 4 x 5 เรียงรายพร้อมกล้องขยายรอให้ส่องดูรายละเอียดภาพ ในฐานะที่เคยทำงานนิตยสารมานาน (ย้อนวันเวลาแบบไม่แคร์วัย) ยังทันยุคที่ช่างภาพใช้กล้องฟิล์ม และการถ่ายภาพสำหรับนิตยสารแฟชั่นก็ต้องใช้กล้องใหญ่กับฟิล์ม 4 x 5 เหมือนกัน เป็นหน้าที่ของช่างภาพที่ต้องเอาฟิล์มออกมาเรียง ส่องรายละเอียดด้วยแว่นขยาย แล้วเลือกภาพที่ดีที่สุดออกมา แต่นักเขียนเจ้าของคอลัมน์ก็มีส่วนร่วมในการเลือกภาพเช่นเดียวกัน พอเห็นเซ็ทนี้แล้วก็รู้เลย “เราคือเพื่อนกัน” (อย่างน้อยก็เพื่อนร่วมยุคสมัย)

PARALLEL มุมมองคู่ขนานของช่างภาพสถาปัตย์

จริงๆ แล้ว เราติดตามผลงานของเด๋ย – ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน ผ่านทางสื่อโซเชียลมานาน เรามีเพื่อนร่วมกันพอสมควร โดยเฉพาะเพื่อนในแวดวงสถาปัตยกรรม จึงพอรู้ว่าภิรักษ์คือมือวางอันดับต้นๆ ในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมในเมืองไทย

ภิรักษ์จบปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมมา แต่ลองแล้วไม่สนุกเท่ากับการจับกล้อง ด้วยมุมมองของผู้ที่ผ่านการเรียนด้านนี้บวกกับทักษะที่เขาได้เรียนรู้จากรุ่นพี่ที่ art4D นิตยสารด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เขาได้ร่วมงานด้วยอยู่หลายปี ทำให้มุมมองของภิรักษ์ “ใช่” สำหรับสถาปนิกหลายๆ คน วิชาชีพที่ไม่สามารถโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเองได้ ก็ต้องอาศัยการเก็บภาพผลงานเอาไว้ สำหรับเป็นตัวอย่างให้ลูกค้า และส่งต่อให้สื่อที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมนำไปเผยแพร่ผลงาน ใครที่เคยอ่านบทความเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของไทยในหลายๆ เว็บ อาจเคยได้ผ่านตางานของภิรักษ์โดยไม่รู้ตัว

PARALLEL มุมมองคู่ขนานของช่างภาพสถาปัตย์

แต่นี่คือครั้งแรกที่ภิรักษ์แสดงนิทรรศการเดี่ยว เมื่ออานนท์ ไพโรจน์ นักออกแบบที่พ่วงตำแหน่งภัณฑารักษ์ของสกีมาต้าชวนเขามาแสดงงาน จึงกลายเป็นนิทรรศการที่ชวนเรา “อ่าน” ประสบการณ์ของภิรักษ์ในฐานะช่างภาพสถาปัตยกรรม สิ่งที่เขามองผ่านเลนส์ไม่ใช่เพียงสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นพระเอกในภาพ แต่องค์ประกอบที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับอาคาร ไม่ว่าจะเป็น แสง สี ความเคลื่อนไหว และผู้คน บริบทนั่นแหละคือสิ่งที่ภิรักษ์อยากถ่ายทอดออกมาในนิทรรศการนี้

เขาเริ่มต้นนิทรรศการด้วยการนำเสนอกระบวนการถ่ายภาพในยุคอะนาล็อก อย่างที่เราเกริ่นไปตอนต้น การค้นหาความสมบูรณ์แบบท่ามกลางความไม่สมบูรณ์แบบ ฟิล์มขนาด 4 x 5 ของกล้องใหญ่จำเป็นสำหรับการตีพิมพ์ภาพในนิตยสารที่หลายครั้งมีการปูเต็ม 2 หน้า ฟิล์ม 135 ขนาดแบบกล้องฟิล์มทั่วไปจึงไม่เพียงพอต่อคุณภาพเมื่อขยายถึงขนาดนั้น และที่สำคัญ เมื่อเราไม่อาจเห็นผลลัพธ์ได้ทันใจเหมือนกล้องดิจิตอล ฟิล์มโพลารอยด์ก็เข้ามามาบทบาทในการแสดงภาพใกล้เคียงที่จะปรากฏบนฟิล์มที่ใช้จริง นั่นคือยุคฟิล์มซึ่งมีกระบวนการมากในการค้นหาภาพอันสมบูรณ์ที่สุดสำหรับงานหนึ่งงาน กระบวนการนี้ราวกับเป็นประวัติศาสตร์ให้นักถ่ายภาพรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และคนร่วมสมัยได้คิดถึง

เดินต่อเข้ามาเราจะเริ่มสัมผัสได้ถึงสิ่งที่คู่ขนานไปกับการบันทึกภาพสถาปัตยกรรม

ภาพโครงไม้ริมท่าเรือที่มีสาวใหญ่นอนเปลเอกเขนกอยู่ หากไม่มีเธอแกว่งร่างอยู่ตรงนั้น เขาก็คงไม่กดชัตเตอร์เก็บภาพปฏิสัมพันธ์ที่ผู้คนมีต่ออาคาร มีต่อเมืองกลับมา

PARALLEL มุมมองคู่ขนานของช่างภาพสถาปัตย์

งานที่อานนท์และภิรักษ์เลือกมาจัดแสดงจึงไม่ใช่รูปสถาปัตยกรรมสุดอลังการ หากเป็นบทสนทนาที่เปล่งเสียงออกมาจากแต่ละภาพ ทั้งเสียงสงบนิ่งติดตรึงของวิวสระว่ายน้ำทอดไปยังเส้นขอบฟ้า เสียงสะท้อนจากรูปแบบของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคแรกของไทย เสียงแห่งการขยายตัวของเมืองและผู้คน เสียงของความเคลื่อนไหวใหม่ในชุมชนเก่า เสียงสงัดงันของสถานีรถไฟที่ปราศจากผู้คน บทสรุปของโครงการบ้านในอุดมคติ ที่ความจริงมีอะไรเจ็บปวดมากกว่านั้น (จึงเป็นนิทรรศการภาพถ่ายที่ต้องอ่านจริงๆ)

PARALLEL มุมมองคู่ขนานของช่างภาพสถาปัตย์

รวมถึงผลงานปิดท้ายด้วยชุด Master Series ที่เขาตั้งใจเดินทางเก็บภาพงานสถาปัตยกรรมของสถาปนิกชั้นครู ที่หากเป็นคนในวงการสถาปัตยกรรม หรือติดตามงานออกแบบก็คงรู้ดีว่าเป็นงานของใคร เขาจึงใส่เพียงชื่อสถานที่ และปีสร้างเสร็จเท่านั้น ภาพ Master Series ชุดนี้ตีพิมพ์ด้วยงานพิมพ์คุณภาพสูง บันทึกผลงานระดับโลกที่ได้รับการยกย่อง บางงานยังมีบทใหม่ให้สืบต่อไป บางงานยืนตระหง่านให้ความหลงลืมกัดเซาะ และบางงานคือช่วงเวลาแห่งความทรงจำของช่างภาพ ที่มีเรื่องราวเฉพาะซ่อนอยู่ การชมนิทรรศการภาพถ่ายที่อาจไม่ต้องตีความมาก แต่หากได้คุยกับเจ้าของผลงานก็จะได้ซึมซับความเข้าใจบางอย่างเพิ่มขึ้นไปอีก ไม่เพียงแค่การทำงานของช่างภาพสถาปัตยกรรม แต่ยังหมายถึงวิธีคิดที่มีเขาต่อเมือง อาคาร และผู้คนอีกด้วย

PARALLEL มุมมองคู่ขนานของช่างภาพสถาปัตย์

ชมนิทรรศการ PARALLEL ได้ที่ Schemata Gallery โครงการ A Square สุขุมวิท 26 วันนี้ – 22 กรกฎาคม 2560