1 ปี ‘เบร็กซิท’ ไร้ผลกระทบส่งออกไทย

1 ปี ‘เบร็กซิท’ ไร้ผลกระทบส่งออกไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ 1 ปี "เบร็กซิท" ไร้ผลกระทบส่งออกไทย

ระหว่างการนับถอยหลังสู่การถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจาก อียู หรือ BREXIT ในอีก 21 เดือนจากนี้นับเป็นช่วงเวลาสำคัญของการต่อรองรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับ EU ในอนาคต แต่ด้วยการเมืองที่ไม่แน่นอนอาจทำให้บทสรุปของ BREXIT เกิดได้หลายแบบ โดยในกรณีที่ดีสุด รัฐบาลชุดปัจจุบันสามารถประคองเสียงในสภาและบรรลุเป้าหมาย BREXIT ได้ทันตามกำหนดเวลา 

โดยรัฐบาลน่าจะยอมรับข้อตกลงของ EU เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือเกิด Soft BREXIT อันจะส่งผลดีต่อทุกฝ่าย และในกรณีที่รัฐบาลเผชิญมรสุมทางการเมืองรุมเร้าจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดจนกระทั่งนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ อาจต้องล้มกระดานการเจรจา BREXIT แล้วกลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง โดยยังคงต้องติดตามต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เมื่อย้อนรอยการเกิด BREXIT ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของอังกฤษยังได้รับผลกระทบไม่รุนแรง โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสแรกของปี 2560 เติบโตต่อเนื่องที่ 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนพ.ค.อยู่ที่ 56.7 บ่งชี้ว่าธุรกิจในประเทศยังขยายตัวได้

นอกจากนี้ ในด้านตลาดเงินก็คลายความกังวลได้มากขึ้น โดยเฉพาะค่าเงินปอนด์ที่แม้ยังอยู่ในระดับอ่อนค่าแต่ก็ทรงตัวอยู่ที่ 1.2726 ดอลลาร์ต่อปอนด์ (แข็งค่า 3.16% เมื่อเทียบกับต้นปี 2560) โดยรวมแล้วอ่อนค่าจากวันที่เกิด BREXIT 14.46% ตลอดจนธนาคารกลางอังกฤษได้ส่งสัญญาณเตรียมลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.25% ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษในระยะต่อไปที่อาจชะลอตัวลงจากหลายปัจจัย อาทิ ปัญหาทางการเมืองและการลงทุนในประเทศที่อ่อนแอลง เป็นต้น

สำหรับภาคการค้าระหว่างประเทศที่ส่งผลมายังไทยได้เริ่มปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ โดยตลาดอังกฤษซึมซับผลกระทบมาระยะเวลาหนึ่งทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 การส่งออกของไทยไปอังกฤษเติบโต 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 1,737 ล้านดอลลาร์

ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากแรงผลักดันของการส่งออกสินค้ากลุ่มอากาศยานที่เติบโตก้าวกระโดดในเดือนม.ค. ประกอบกับการเติบโตดังกล่าวเป็นภาพที่ต่อเนื่องมาจากช่วงปลายปีที่แล้วส่งผลให้ฐานของไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนค่อนข้างสูง จึงอาจทำให้การเติบโตของการส่งออกจากไทยไปอังกฤษมีแนวโน้มลดลงในครึ่งหลังของปี 2560

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยไปอังกฤษทั้งปี 2560 น่าจะเติบโตที่ราว 6.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (กรอบประมาณการเติบโต 5.0-7.1%) มีมูลค่าการส่งออกราว 4,090 ล้านดอลลาร์ (ระหว่าง 4,050-4,130 ล้านดอลลาร์) โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ของไทย ได้แก่ ไก่แปรรูป รถยนต์ อากาศยานและส่วนประกอบ จักรยานยนต์ และแผงวงจรไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาการเจรจาระหว่างสองฝ่ายถ้าหากอังกฤษต้องไปเริ่มเจรจา FTA กับ EU ในระยะข้างหน้าสินค้าไทยโดยเฉพาะยานยนต์และอากาศยานที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของทั้งอังกฤษและ EU อาจต้องเตรียมแผนรับมือกับการโยกย้ายฐานการผลิตในกลุ่มประเทศ EU

โดยสรุป BREXIT ไม่กระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยไป EU ในปี 2560 เท่าใดนัก โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีสามารถเติบโตได้ 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มีมูลค่าส่งออก 9,647 ล้านดอลลาร์ และการส่งออกของไทยไป EU ได้ผ่านช่วงเวลาเปราะบางมาแล้ว

ซึ่งในปี 2560 น่าจะเป็นปีที่การส่งออกของไทยไป EU เติบโตดีขึ้นที่ 3.2% โดยมีมูลค่าส่งออก 22,770 ล้านดอลลาร์ (กรอบประมาณการเติบโตร้อยละ 2.3-4.3 โดยมีมูลค่า 22,570-22,986 ล้านดอลลาร์) แต่ยังต้องติดตามการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี และสถานการณ์ทางการเมืองในอิตาลีที่ยังมีภาพไม่ชัดเจน อันอาจกระทบเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มนี้ได้