จับตาขั้วอำนาจ 2 องค์กร“เซ็นเซอร์”โฆษณาทีวี

จับตาขั้วอำนาจ 2 องค์กร“เซ็นเซอร์”โฆษณาทีวี

ททบ. 5 จับมือ กับ ช่อง 7 พร้อม 10 หน่วยงานพันธมิตร จัดตั้ง “ชมรมเซ็นเซอร์โฆษณา” ด้านสมาคมโฆษณา “ช่อง 3-ช่อง9” ยืนยันทำงานร่วมคณะกรรมการเซ็นเซอร์เดิม

ความเป็นมาการเซ็นเซอร์โฆษณา เกิดขึ้นในปี 2518 ทำหน้าที่โดยคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) เพื่อตรวจพิจารณาเนื้อหาของรายการประเภทต่างๆ เช่น รายการทั่วไปละคร ภาพยนตร์ และโฆษณา

            จนเมื่อ กบว.ถูกยกเลิกในปี 2535  มาถึงปี 2537 ก็มีการตั้งคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ขึ้นมาแทน โดยทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการของสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ และกำหนดให้สถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์แต่ละแห่ง ควบคุมการตรวจพิจารณาเนื้อหาของรายการประเภทต่างๆ และโฆษณากันเอง โดยคณะกรรมการเซ็นเซอร์ปัจจุบัน ซึ่งมีตัวแทนจากสถานีทีวี ช่อง 3 ,5,7,9  และสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ทำงานร่วมกัน

            ตารางการพิจารณาเซ็นเซอร์โฆษณา ของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ปัจจุบัน จะหมุนเวียนการพิจารณาไปตามสถานีทีวี ช่องต่างๆ คือ  วันจันทร์ ช่อง 3 ,วันอังคาร ช่อง 5 ,วันพุธ ช่อง7 ,วันพฤหัส ช่อง 9 และวันศุกร์ หมุนเวียนช่องต่างๆ 

ช่อง5-ช่อง7 ผุดชมรมเซ็นเซอร์เริ่ม 28 มิ.ย.

            วันนี้ (27 มิ.ย.)เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อกระบวนการเซ็นเซอร์โฆษณาทีวี ในรอบ 23 ปี  เมื่อ ช่อง5 จับมือกับ ช่อง 7  และ 10 หน่วยงานพันธมิตร จัดตั้ง “ชมรมตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ (ประเทศไทย)”  โดยระบุว่า เพื่อขานรับนโยบายของ กสทช.  ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเพื่อกำกับดูแลกันเองในด้านโฆษณาทางด้านวิทยุ และโทรทัศน์ มุ่งมั่นยกระดับมาตรฐานการทำงานด้านงานเซ็นเซอร์ในเมืองไทยให้เป็นรูปธรรม

            พล.อ.ราชรักษ์ เรียนพืชน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง5  รับเป็นประธานชมรมฯ เป็นคนแรก โดยเริ่มกระบวนการเซ็นเซอร์ ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป

            พล.อ.ราชรักษ์  กล่าวว่าโครงสร้างองค์กร  ข้อบังคับ จริยธรรมจรรยาบรรณ ของชมรมฯ ได้จัดตั้งขึ้นตามข้อกำหนดของ กสทช. โดยยกระดับสถานะจากคณะกรรมการฯ ขึ้นมาเป็นชมรมฯ ซึ่งกติกาและการทำงาน จะได้มาจากการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของสมาชิกชมรมฯ ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่เป็นสมาชิก หน่วยงานวิชาการ สมาคม ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะมาร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ กำหนดข้อปฏิบัติการตรวจพิจารณาโฆษณา  มีเครื่องมือตรวจวัดซึ่งมีมาตรฐาน และมีความเป็นกลาง

            นายพลากร สมสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7  กล่าวว่าการตั้งชมรมฯเซ็นเซอร์ เพื่อต้องการยกระดับมาตรฐานการทำงานจากเดิมที่เป็นคณะกรรมการฯ ขึ้นมาเป็นชมรมฯ ตามร่างประกาศของ กสทช.  คณะทำงานจึงได้เตรียมการเพื่อการก่อตั้งชมรมฯมาตั้งแต่ปี 2556 ด้วยการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเซ็นเซอร์ให้มาร่วมพูดคุยและจับมือกัน  เพื่อการกำกับดูแลกันเองอย่างเป็นระบบระเบียบ ให้มีมาตรฐานการตรวจพิจารณาที่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม และที่สำคัญที่สุดคือ มีความเป็นกลาง  

            สำหรับขั้นต่อไปของชมรมฯ จะจัดอบรมการเซ็นเซอร์โฆษณา เพื่อสร้างคณะอนุกรรมการเซ็นเซอร์โฆษณายุคใหม่ให้กับวงการต่อไป

ส.โฆษณา-ช่อง3-อสมท ยันใช้เซ็นเซอร์เดิม

          นางอ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ประสานงานร่วมกับสมาพันธ์สมาคมวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย)  ซึ่งทำหน้าที่อยู่ในคณะกรรมการเซ็นเซอร์ปัจจุบัน กล่าวว่าการตั้งชมรมเซ็นเซอร์ ของช่อง 5 และช่อง 7 เพื่อกำหนดมาตรฐานเซ็นเซอร์อีก 1 องค์กร  ไม่ได้แจ้งให้สมาคมโฆษณาที่เป็นผู้ประสานงานรับทราบ

            จึงเป็นข้อสังเกตว่าการปฏิบัติดังกล่าวขัดแย้งกับข้อตกลง (MOU) ที่สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง รวมถึงสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลได้ร่วมกันลงนามไว้ร่วมกับองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับโฆษณารวม 10 องค์กร ในวันที่ 3 เม.ย. 2556 โดยยึดหลักการที่ว่าประเทศไทยควรมีช่องทางตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์เพียง 1 ช่องทาง เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ และเพื่อรองรับการมีส่วนร่วมของสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล และตอกย้ำการกำกับดูแลตนเองของวิชาชีพโฆษณา

            นอกจากนี้ หลังจากการลงนาม MOU ร่วมกันครั้งที่ 2 ในปี 2557 ทางสมาคมโฆษณาฯได้มีการจัดประชุมกับตัวแทนสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง สถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล และองค์กรวิชาชีพเรื่อยมาเพื่อหาข้อสรุปเพื่อจัดตั้ง “คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านการตรวจพิจารณาโฆษณาทางโทรทัศน์” ที่จะมีกฎเกณฑ์เป็นมาตรฐานเดียวในการตรวจพิจารณาซึ่งจะง่ายในต่อทั้งผู้ปฏิบัติวิชาชีพและทั้งสถานีโทรทัศน์

            โดยได้ข้อสรุปแล้วว่าจะประกอบด้วย ผู้แทนจากสถานีหลักเดิมได้แก่ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7, อสมท ,  ผู้แทนจากโทรทัศน์ดิจิทัลที่แต่งตั้งโดยสมาคมโทรทัศน์ดิจิทัล 2 ช่อง, ผู้แทนจากโทรทัศน์ดิจิทัลที่แต่งตั้งโดยสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ฯ  2 ช่อง, และผู้แทนจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย (ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการฯ) รวม 9 ท่าน แต่สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และช่อง 7 ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 2  และได้จัดตั้งชมรมเซ็นเซอร์ดังกล่าวขึ้น โดยไม่เชิญ ช่อง 3 และ ช่อง 9 สมาคมโฆษณาฯ และ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) เข้าร่วม

 

            การแยกกันจัดตั้งองค์กร เซ็นเซอร์  จากเดิมที่มีหนึ่งหน่วยงานคือ คณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ โดยมีผู้แทนจากสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3, 5, 7, 9 และสมาคมโฆษณาฯ     ดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างมากต่อผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาโดยรวม เนื่องจากจะเกิดความเป็นสองมาตรฐานในการตรวจพิจารณา ผู้โฆษณาเจ้าของสินค้าต่างๆ และเอเยนซี่ เกิดความสับสน สิ้นเปลืองเวลา และค่าใช้จ่ายในการขออนุญาต

             “การมี 2 มาตรฐานในการเซ็นเซอร์ จะกระทบกับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสินค้า หรือ เอเยนซี รวมถึงผู้บริโภคเอง จะสับสนในมาตรฐานการโฆษณาสินค้าที่ไม่เหมือนกัน ภาพยนตร์โฆษณา 1 เรื่องส่วนใหญ่ก็ออกอากาศหลายช่อง ถ้าต้องยื่นขออนุมัติจากทั้ง 2 องค์กร ก็จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น และสิ้นเปลืองเวลามากขึ้นมาก”

             นอกจากนี้จะเกิดสถานการณ์ที่ว่า สถานีโทรทัศน์บางช่องจะได้รายได้จากโฆษณาสูงกว่าอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะเซ็นเซอร์ผ่านง่ายกว่า การมีมาตรฐานเดียวจะทำให้กติกาชัดเจน โปร่งใส และเป็นหลักที่ผู้ประกอบการธุรกิจ เอเยนซี่ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยึดถือและปฏิบัติตามได้

            อย่างไรก็ตามคณะกรรมการเซ็นเซอร์ ปัจจุบัน  ที่เหลืออยู่ คือ ช่อง 3 ช่อง 9 และตัวแทนสมาคมโฆษณา จะทำงานร่วมกับทีวีดิจิทัล เพื่อดำเนินการเซ็นเซอร์โฆษณาทีวี ต่อไป