‘ดีอี’ ถก 'กสทช.' เดินแผนร่วม หนุนภารกิจดิจิทัล

‘ดีอี’ ถก 'กสทช.' เดินแผนร่วม หนุนภารกิจดิจิทัล

นับจากนี้ทุก 2 เดือน กระทรวงดีอี และ กสทช.จะประชุมร่วมกันผลัดกันเป็นเจ้าภาพเพื่อให้งานเดินหน้า

กระทรวงดีอีถกการทำงานร่วมกับ กสทช. เดินหน้าปรับ พ.ร.บ.กสทช. เล็งเพิ่มเบอร์โทรเป็น 10 หลัก รองรับการใช้เลขหมายในอนาคต แนะ ‘กสทช.-ทีโอที’ ทำงานร่วมกัน ดันไซเบอร์ซิเคียวริตี้ลงสู่ระดับการศึกษาพื้นฐาน หวังเยาวชนให้ความสำคัญ พร้อมทบทวนการกำหนดพื้นที่เน็ตประชารัฐในอีอีซีเป็นกรณีเร่งด่วน รับการให้ความสำคัญของรัฐบาล

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมหารือกับ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองหน่วยงาน ว่า การประชุมครั้งนี้มีประเด็นหารือร่วมกัน ประกอบด้วย การดำเนินงานภายหลัง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาไป เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2560 มีผลบังคับใช้ 23 มิ.ย.2560 โดยจะตั้งคณะทำงานหารือร่วมในรายละเอียดของการเป็นหน่วยงานระดับประเทศกับองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญภายใน 180 วัน (ภายใน 2 ต.ค. 2560)

โดยเฉพาะมาตรา 60 และ มาตรา 274 รวมทั้งจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช.สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เพื่อยกร่าง พ.ร.บ. ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จ่อเพิ่มเบอร์โทรคมเป็น10หลัก
นอกจากนี้ ได้หารือเกี่ยวกับเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่และประจำที่ โดยการเพิ่มตัวเลขเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่จาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก ส่งผลให้ได้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 760 ล้านเลขหมาย และโทรศัพท์ประจำที่จำนวน 100 ล้านเลขหมาย

ทั้งนี้ กระทรวงดีอี และ กสทช. จะร่วมสนับสนุนปรับปรุงโครงข่ายให้พร้อม และนำเข้าคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้สามารถบริการแก่ภาคเอกชน และภาคประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของไทย โดยแผนนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2564

การเพิ่มตัวเลขของเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่จาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก จากเดิมขึ้นต้นด้วย 02,03,05 และ 07 ต่อด้วยเลขหมาย 7 หลัก จะมีการเพิ่มเลข 1 ต่อท้ายเลข 0 สำหรับโทรศัพท์ประจำที่ทุกเบอร์ เพื่อให้มี 10 หลัก จากนั้นจะนำเบอร์นำหน้าของโทรศัพท์ประจำที่เดิม มาใช้เป็นเลขหมายโทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้โทรศัพท์มือถือมีเลขหมายขึ้นต้นด้วย 02,03,05, และ 07

โดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ กสทช.ต้องหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ กระทรวงดีอีจะเป็นตัวกลางประสานงานให้เรื่องนี้ เพราะทุกฝ่ายต้องทำงานภายใต้นโยบายดีอี และต้องนำเรื่องการปรับปรุงโครงข่ายเข้าคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) พิจารณา
ทั้งนี้ ทีโอทีต้องของงบประมาณจาก กสทช. เพื่อปรับปรุงโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ให้เสร็จภายในปี 2562 เพื่อให้ กสทช.เสนอสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู บริหารจัดการคลื่นไม่ให้รบกวนกัน ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี

"คาดว่าภายในปี 2564 เรื่องการเพิ่มเลขหมายโทรศัพท์จะต้องเสร็จสิ้น จากนั้นประชาชนผู้ใช้งาน ตลอดจนเอกชนผู้ใช้บริการสามารถใช้เบอร์เก่าและเบอร์ใหม่ที่เพิ่มหมายเลขควบคู่กันได้ทั้ง 2 เบอร์ก่อนเป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นถึงจะเปลี่ยนใช้เบอร์ใหม่ถาวร"

วางแผนบริหารกองทุนดิจิทัล
ส่วนเรื่องงบประมาณที่ กสทช.มอบให้กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตาม พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมงวดแรก จำนวน 127 ล้านบาท เพื่อใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ภายในไม่กี่เดือนนี้กระทรวงดีอีจะลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับกสทช. เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับผู้บริหารในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อให้มีความเข้าใจและสามารถเดินหน้าการทำงานได้ไม่สะดุด

ส่วนเงินรายได้ที่ได้มา ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ มีรองนายก พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นประธาน แต่ยังขาดรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ เพราะต้องคัดเลือกจาก 3 ใน 8 คน ของผู้ทรงคุณวุฒิจากบอร์ดดีอี ซึ่งอยู่ระหว่างการแต่งตั้ง นอกจากนี้กฎระเบียบเกี่ยวกับการบริหารกองทุนฯ ยังอยู่ระหว่างยกร่างเพื่อให้มีการบริการที่ยืดหยุ่น โดยตัวเองได้กำชับ เลขาธิการกองทุนและเลขาธิการบอร์ดดีอี นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา แล้ว ให้เน้นหนักเรื่องนี้

ดันไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ลงการศึกษา
นอกจากนี้ยังได้ตั้งคณะกรรมการชั่วคราว เพื่อรับมือภัยไซเบอร์ ระหว่างที่รอ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. และ ร่าง พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... ผ่าน โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมให้ความรู้เรื่องไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ สู่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่เยาวชน และมอบหมายสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สพธอ. หรือเอ็ตด้า พิจารณากลไกการทำงานร่วมของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สร้างความมั่นใจและดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ

โดยมอบหมายให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สำรวจความต้องการใช้งานดาต้า เซ็นเตอร์ด้วย เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน

สำหรับโครงการเน็ตประชารัฐ กระทรวงดีอี เห็นว่า หาก กสทช. กำหนดราคาค่าบริการที่ถูกกว่าท้องตลาดก็ไม่ขัดข้อง แต่หากเป็นโครงการเน็ตประชารัฐของกระทรวงและกสทช.ทำงานร่วมกัน ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคา

ส่วนการใช้บริการเน็ตประชารัฐ ประชาชนสามารถลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว และใช้งานได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ (Single Sign-On) การลงทะเบียน ประชาชนสามารถใช้เลขหมายโทรศัพท์มือถือเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนด้วยหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมทั้งมอบหมายให้ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดีอีพิจารณาทบทวนการกำหนดพื้นที่ในการดำเนินงานตามโครงการเน็ตประชารัฐ โดยให้พิจารณาเพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซีเป็นกรณีเร่งด่วน ให้เป็นไปตามนโยบายสนับสนุนพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล

“นับจากนี้ทุก 2 เดือน กระทรวงดีอี และ กสทช.จะประชุมร่วมกัน ผลัดกันเป็นเจ้าภาพเพื่อให้งานเดินหน้า” นายพิเชฐ กล่าว