ช่อง3เสริมทัพมืออาชีพ ดันรายได้ออนไลน์-บริหารลิขสิทธิ์

ช่อง3เสริมทัพมืออาชีพ ดันรายได้ออนไลน์-บริหารลิขสิทธิ์

บีอีซี ปรับโครงสร้างบริหาร เสริมทัพมืออาชีพนอกตระกูลมาลีนนท์ วางกลยุทธ์ต่อยอดรายได้หลักโฆษณาทีวี 3ช่อง มุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ บริหารลิขสิทธิ์รายการ-ดารานักแสดง ตอบโจทย์สื่อสารครบวงจร

 วาระครบรอบ 47 ปีของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง3 ธุรกิจหลักของตระกูลมาลีนนท์ ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งสำคัญในบริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ช่อง3  ด้วยการแต่งตั้งผู้บริหารสูงสุด คือ นายประชุม มาลีนนท์ รองประธานกรรมการและกรรมการบริหาร ให้ดำรงตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท” หรือ Group Chief Executive Officer (G-CEO)

พร้อมปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารใหม่ ภายใต้การนำของ“กรุ๊ป-ซีอีโอ” แบ่งออกเป็น 8 สายงานหลัก คือ ด้านปฏิบัติการ(COO) ,ด้านเทคโนโลยีและสื่อใหม่(CTNO),ด้านกลยุทธ์องค์กร, ด้านการเงิน(CFO),ด้านสนับสนุน, ด้านการพาณิชย์,ด้านการลงทุน (CIO) และด้านทรัพยากรบุคคล (CHRO)  

ถือเป็นการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ที่มีการดึง“มืออาชีพ”เข้ามาร่วมทำงานผสมผสานกับผู้บริหารจากตระกูลมาลีนนท์ ในกลุ่มเจน2และเจน3 เพื่อก้าวสู่บริษัทมหาชนมืออาชีพท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในยุคนิวมีเดีย 

เสริมมืออาชีพนอก‘มาลีนนท์’

นายประชุม กล่าวว่าเดิมโครงสร้างบีอีซี แบ่งการบริหารภายใต้บริษัทย่อยต่างๆ ที่แยกการทำงานออกจากกัน ภายใต้โครงสร้างใหม่ทุกบริษัทจะบริหารงานและทรัพย์สินลิขสิทธิ์ต่างๆของบีอีซี ที่จำนวนมากให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะในกลุ่มสายงานการพาณิชย์ (คอมเมอร์เชียล)ด้านการบริหารลิขสิทธิ์ และด้านเทคโนโลยีและสื่อใหม่(นิวมีเดีย) 

            พร้อมกันนี้ได้เสริมทีมผู้บริหารมืออาชีพนอกตระกูลมาลีนนท์ ในทุกกลุ่มเข้ามาร่วมทำงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่ได้แต่งตั้งไปแล้ว คือนายสมประสงค์ บุญยะชัย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอสและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ เข้ามานั่่งในตำแหน่งกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บีอีซี  

นอกจากนี้ได้แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในสายงานใหม่อีก 3 คน คือ นางอาภัทรา ศฤงคารินกุล ตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีและสื่อใหม่, นายนพดล เขมะโยธิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการลงทุน และนายภัทรศักดิ์ อุตตมะโยธิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล

ขณะที่สายงานอื่นๆในตำแหน่ง"หัวหน้าคณะผู้บริหาร"กำลังอยู่ระหว่างแต่งตั้งบุคลากรที่เหมาะสม  ล่าสุดดึงนายวรุณเทพ วัชราภรณ์ อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ เอไอเอส มานั่งตำแหน่งที่ปรึกษา กรุ๊ป ซีอีโอด้านการตลาด 

ลุยบริหารลิขสิทธิ์คอนเทนท์

นายประชุม กล่าวอีกว่าทิศทางการทำงานหลังจากนี้จะมุ่งบริหารคอนเทนท์ที่เป็นจุดแข็งของบริษัทจากการสื่อทีวีทั้ง 3 ช่อง คือ ช่อง3 (ช่อง33),ช่อง28 และช่อง13 เพื่อบริหารทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ทุกช่องทาง  

นอกจากนี้จะพัฒนาธุรกิจด้านคอมเมอร์เชียล จากโมเดลการบริหารศิลปิน ดารา นักแสดงในสังกัดช่อง 3 ที่มีกว่า 140 คน แบบครบวงจร เพื่อตอบโจทย์กลยุทธ์สื่อสารของเอเยนซีและแบรนด์สินค้าต่างๆในยุคนี้ ที่ไม่ต้องการซื้อสื่อเฉพาะสปอตโฆษณาในรายการทีวีเท่านั้น แต่ต้องการสื่อสารแบรนด์ผ่านอีเวนท์ สปอนเซอร์ชิพ และสื่อออนไลน์มากขึ้น

“ช่อง3 มีศิลปินในสังกัดจำนวนมาก หลังจากนี้จะวางโมเดลการบริหารศิลปินอย่างเป็นรูปธรรม โดยศิลปินจะได้ประโยชน์จากเดิมและมีงานรูปแบบอื่นๆนอกจากการแสดงเพิ่มขึ้น  ขณะที่ช่อง3 มีโอกาสต่อยอดหารายได้นอกจากสปอตโฆษณาเพิ่มขึ้น”

ปั้นแพลตฟอร์มออนไลน์‘เมลโล่’

นายประชุม กล่าวว่าภายใต้โครงสร้างบริหารใหม่มุ่งพัฒนาช่องทางออนไลน์“เชิงรุก”เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กลุ่มบีอีซีมากขึ้น สอดคล้องกับกลยุทธ์การสื่อสารทั้งช่องทางออฟไลน์ ออนไลน์และอีเวนท์ ของสินค้าและแบรนด์ในยุคนี้

หลังการปรับโครงสร้างบริหารใหม่ วางเป้าหมายให้กลุ่มบีอีซี มีช่องทางการหารายได้หลากหลาย นอกจากสื่อทีวี ซึ่งเป็นรายได้หลัก 80-90% 

นายจิรวัฒน์ มาลีนนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท บีอีซีไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือบีอีซี กล่าวว่าการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์หรือดิจิทัล ของกลุ่มบีอีซี ได้ดำเนินการทั้งการพัฒนาอินฟราสตรัคเจอร์ของตัวเอง คือเว็บไซต์ CH3Thailand  การรับชมรายการสดคอนเทนท์ทีวีในกลุ่มบีอีซี และแพลตฟอร์ม“เมลโล่”(Mello) แอพพลิเคชั่น ดูรายการทีวีย้อนหลังของทั้ง 3 ช่อง นอกจากนี้ยังมีคอนเทนท์เอ็กซ์คูลซีฟ เช่น ซีรีส์ ที่นำเสนอเฉพาะแอพเมลโล่ โดยจะเปิดตัวแอพดังกล่าวในช่วง ไตรมาส3หรือ4 ปีนี้

พร้อมทั้งนำเสนอคอนเทนท์ของกลุ่มบีอีซีผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียยอดนิยม เพื่อตอบโจทย์การรับชมทีวีของทุกกลุ่ม 

ส่งละคร-รายการใหม่ลุยครึ่งปีหลัง

นายประชุม กล่าวเพิ่มเติมว่าภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาครึ่งปีแรกอยู่ในภาวะติดลบ 10% เนื่องจากเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ยอดขายสินค้าลดลง จึงลดงบโฆษณาสื่อทีวี ประกอบกับภาวะการแข่งขันสูงจากจำนวนช่องฟรีทีวีเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณากระจายตัว ส่งผลกระทบกับสถานีทีวีส่วนใหญ่รวมทั้งช่อง 3 ที่มีรายได้โฆษณาลดลงในช่วงที่ผ่านมา

ปัจจุบันช่องทีวีดิจิทัลที่มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นช่องที่สร้างฐานจากการเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ทางฟรีทีวีมาก่อน แต่ช่องใหม่ ยังต้องอาศัยเวลาในการสร้างฐานผู้ชม รวมทั้งช่อง 28 และช่อง 13 ของกลุ่มบีอีซี ที่จะปรับคอนเทนท์ใหม่ในครึ่งปีหลังให้มีความชัดเจนและแตกต่างจากช่อง 3

“มองว่าการแข่งขันในสื่อทีวีครึ่งปีหลังยังเหนื่อย และต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัวต่อเนื่อง  ซึ่งอาจเห็นการฟื้นตัวในช่วงปลายปี”  

สำหรับกลุ่มบีอีซี เองยังคงลงทุนพัฒนาคอนเทนท์ในทั้ง 3 ช่องต่อเนื่อง  โดยครึ่งปีหลังได้เปิดตัวละครใหม่ทางช่อง 3  และช่อง 28 รวม 18 เรื่อง  นอกจากนี้มีซีรีส์ต่างประเทศรวม 10 เรื่อง และรายการใหม่ของทั้ง 3 ช่อง 8 รายการ

อย่างไรก็ตามจากการปรับโครงสร้างบริหารและสายงานธุรกิจใหม่  มุ่งต่อยอดการบริหารลิขสิทธิ์คอนเทนท์และพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ในปีนี้  วางเป้าหมายปีนี้รายได้รวมกลุ่มบีอีซี “ทรงตัว”เท่าปีก่อน  ซึ่งมีรายได้รวม 12,534 ล้านบาท กำไร 1,218 ล้านบาท