เปิดข้อมูล ‘เครดิตบูโร’ พบ ‘คนวัยเกษียณ’ ยังมีหนี้มาก

 เปิดข้อมูล ‘เครดิตบูโร’ พบ ‘คนวัยเกษียณ’ ยังมีหนี้มาก

 เปิดข้อมูล "เครดิตบูโร" พบ "คนวัยเกษียณ" ยังมีหนี้มาก

ภาวะหนี้ครัวเรือนไทยมีความสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือนและต่อระบบการเงินไทยค่อนข้างมาก ที่ผ่านมามีการศึกษาหนี้ครัวเรือนไทยอย่างแพร่หลาย แต่ส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลระดับมหภาค จึงยากที่จะเข้าใจหนี้ครัวเรือนอย่างลึกซึ้ง

งานวิจัยนี้เขียนโดย “โสมรัศมิ์ จันทรัตน์” และ “อัจจนา ล่ำซำ” ทั้งคู่เป็น หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยนำเสนอมุมมองเชิงลึกจากการศึกษาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของหนี้รายสัญญาที่ได้จาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ “เครดิตบูโร” โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนธ.ค. 2552 จนถึง ก.ค. 2559

ข้อมูลที่เก็บรวบรวมถูกส่งมาจากสถาบันการเงิน 90 แห่ง รวมธนาคารพาณิชย์ไทย ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และสถาบันการเงินอื่นๆ เกือบทั้งหมด ซึ่งมีข้อมูลสินเชื่อถึง 60.5 ล้านบัญชี จำนวนผู้กู้ 19.3 ล้านรายทั่วประเทศ และมียอดหนี้รวม 9.8 ล้านล้านบาท โดยข้อมูลนี้ ครอบคลุมผู้กู้ในระบบเกือบทั้งหมด 87% ของปริมาณหนี้ในระบบครัวเรือนไทย แต่ยังไม่ได้รวมหนี้สหกรณ์ สินเชื่อกู้ยืมเพื่อการศึกษา และหนี้นอกระบบ

จากข้อมูลพบว่า หนี้ครัวเรือนไทยมีการกระจุกตัวสูง ผู้กู้รายใหญ่สุด 10% มีหนี้รวมกัน 62.4% ของหนี้ในระบบทั้งหมด แต่การกระจุกตัวของหนี้น้อยลงเรื่อยๆ เพราะสัดส่วนหนี้ที่ถือโดยผู้กู้รายใหญ่สุด 10% ลดลง

ส่วนการกระจุกตัวของหนี้ยังมีความแตกต่างกันในเชิงพื้นที่ โดยผู้กู้รายใหญ่สุด 10% จะกระจุกตัวในชุมชนเมืองตามจังหวัดใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต สงขลา เป็นต้น

การสำรวจข้อมูลยังพบด้วยว่า หนึ่งในสามของประชากรไทยมีหนี้ในระบบเฉลี่ยต่อผู้กู้อยู่ที่ 147,068 บาท และพบว่า 1 ใน 5 ของคนไทยที่มีหนี้เสีย มีค่ากลางของปริมาณหนี้เสียรายคนอยู่ที่ 56,529 บาท แต่ในช่วงปี 2552 เป็นต้นมา สัดส่วนผู้ของกู้ที่มีหนี้เสียได้ลดลงเรื่อยๆ ผิดกับปริมาณหนี้เสียรายคนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาเดียวกัน

จากข้อมูลพบด้วยว่า คนไทยมีหนี้ตั้งแต่อายุน้อย โดยหนึ่งในสองของคนวัยเริ่มทำงานจะมีหนี้ และเป็นช่วงอายุที่มีสัดส่วนคนเป็นหนี้มากที่สุด โดยวัยเริ่มทำงานเป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียสูงที่สุด ซึ่งพบว่า 1 ใน 5 ของกลุ่มนี้จะมีหนี้เสีย

ขณะเดียวกันยังพบว่า คนไทยมีหนี้นาน สะท้อนจากสัดส่วนของประชากรที่เป็นหนี้ และปริมาณหนี้ต่อผู้กู้ไม่ได้ลดลงมากนัก ตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงวัยเกษียณ หรือแม้แต่เข้าสู่วัยชราประมาณ 20% ของคนกลุ่มนี้ (60-80 ปี) ยังคงมีหนี้ และมีปริมาณหนี้ต่อผู้กู้ที่ค่อนข้างสูง

อัจจนา หนึ่งในทีมวิจัย เล่าเสริมว่า หนี้ส่วนใหญ่ของคนในวัยเกษียณ เป็นหนี้ส่วนบุคคล สาเหตุเข้าใจว่า กลุ่มนี้อาจมีข้อจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อที่ต้องใช้ระยะเวลากู้ยาวนาน เช่น สินเชื่อบ้าน แตกต่างจากสินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นการกู้ยืมช่วงสั้นๆ แต่แม้คนวัยนี้จะมีหนี้ค่อนข้างมากแต่จากตัวเลขเราไม่พบว่ามีสัดส่วนเอ็นพีแอลที่สูงแต่อย่างใด

“ตอนที่เราเห็นข้อมูลก็แปลกใจเช่นกัน เข้าใจว่าน่าจะเป็นเรื่องข้อจำกัดของการเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งสินเชื่อพีโลน (สินเชื่อส่วนบุคคล) น่าจะเข้าถึงได้ง่ายที่สุด แม้ว่ากลุ่มนี้จะยังไม่ได้เป็นหนี้เสีย แต่เป็นเรื่องที่ต้องดูแล ต้องปลูกฝังเรื่องการออมเพื่อเกษียณ ไม่เช่นนั้นในอนาคตเราอาจมีคนแก่ที่มีหนี้จำนวนมาก”

นอกจากนี้ยังพบว่า คนไทยมีสินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มวัยเริ่มทำงาน ซึ่ง 30% ของกลุ่มนี้มีสินเชื่อส่วนบุคคล เทียบกับสัดส่วน 17% ของประชากรทั้งประเทศ และกลุ่มวัยเริ่มทำงานยังมีสัดส่วนของผู้กู้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหนี้เสียสูงที่สุดด้วยถึง 20% เทียบกับสัดส่วน 15% ของผู้กู้ทั้งประเทศ

ทั้งนี้ปริมาณสินเชื่อส่วนบุคคลเท่ากับ 28% ของสินเชื่อทั้งระบบ ยอดหนี้เสียรวมกันแล้วมีปริมาณ 32% ของปริมาณหนี้เสียทั้งระบบ สินเชื่อส่วนบุคคลจึงเป็นสินเชื่อที่ต้องจับตามอง เพราะมีความเกี่ยวข้องกับคนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่อาจมีความเปราะบาง และมีสัดส่วนที่ใหญ่ต่อหนี้และหนี้เสียในระบบ

ส่วนสินเชื่อบ้าน พบว่า มีประชากรเพียง 4% เท่านั้น โดยสัดส่วนดังกล่าวมีค่าสูงสุดที่ 10% สำหรับคนช่วงอายุ 40 ต้นๆ ซึ่งน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ที่พบว่า คนอายุ 40 ปี จะมีสินเชื่อบ้านสัดส่วน 40% โดยสินเชื่อบ้านมีปริมาณ 33.2% และคิดเป็น 19.8% ของปริมาณหนี้เสียในระบบ สินเชื่อบ้านเป็นอีกหนึ่งตัวที่มีนัยสำคัญต่อระบบสินเชื่อทั้งหมด

ด้านสินเชื่อบัตรเครดิต พบว่า 9% ของคนไทยมีสินเชื่อนี้ ซึ่งน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐคนมีสินเชื่อบัตรเครดิต 63% โดยปริมาณสินเชื่อบัตรเครดิตมีสัดส่วนแค่ 3.8% จึงอาจไม่ได้มีนัยสำคัญมากนักต่อระบบสินเชื่อโดยรวม แต่อาจส่งผลกระทบต่อคนเฉพาะกลุ่ม

สำหรับสินเชื่อรถยนต์ เป็นอีกหนึ่งประเภทที่มีกันมากในกลุ่มวัยเริ่มทำงาน และมีสัดส่วนหนี้เสียสูงสุด โดย 20% ของคนวัยทำงานมีสินเชื่อนี้ และมีสัดส่วนที่เป็นหนี้เสียถึง 20%

ขณะที่สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ เป็นสินเชื่อที่มีสัดส่วนผู้กู้มีหนี้เสียสูงถึง 37.2% ถือเป็นสินเชื่อที่มีความเปราะบางมากถึงแม้ประชากรไทยจะมีสินเชื่อนี้เพียงแค่ 2%

ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงนัยเชิงนโยบายใน 3 มิติ คือ “มิติการเข้าถึงสินเชื่อ” พบว่า การเข้าถึงสินเชื่ออยู่ในระดับปานกลาง แต่ต่ำในสินเชื่อบ้านและบัตรเครดิต เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ

รวมทั้งคนไทยมีหนี้ตั้งแต่อายุน้อยและมักมีหนี้เสีย ดังนั้นนโยบายที่จะเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการลงทุนหรือใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น เช่น ที่อยู่อาศัย ถือเป็นเรื่องจำเป็น แต่ควรมุ่งเป้าไปยังกลุ่มที่มีความพร้อมและศักยภาพ

มิติของเสถียรภาพการเงิน” พบว่า หนี้ครัวเรือนไทยมีความกระจุกตัวสูง ทั้งในมิติพื้นที่ และติดตามพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มคนที่มีการกระจุกตัวของหนี้สูง จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากพื้นที่หรือคนกลุ่มดังกล่าวมีความเปราะบาง ก็อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

สำหรับมิติสุดท้าย “มิติของผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม” พบว่า กลุ่มวัยเริ่มทำงานมีหนี้ และเป็นหนี้เสียค่อนข้างสูง อาจส่งผลต่อระบบและการพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายกว่ากลุ่มอื่น จึงควรเน้นความสำคัญของนโยบายที่จะปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงิน ตลอดถึงการศึกษาเชิงลึกเพื่อเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการสะสมหนี้ในปริมาณมาก เพื่อออกแบบนโยบายที่เหมาะสมแก้ไขต่อไป