ธัญญาพาร์ค ชู ‘แลนมาร์ค' รับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

ธัญญาพาร์ค ชู ‘แลนมาร์ค' รับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

ธุรกิจค้าปลีกโซนกรุงเทพฯ ตะวันออกบูมรับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง-สีส้ม ส่งผลการเคลื่อนย้ายคน หนุนกำลังซื้อพุ่ง

ภูมิทัศน์ค้าปลีกโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก กินอาณาเขตย่าน  บางนา-ตราด, บางกะปิ-ศรีนครินทร์ รวมทั้ง บางกะปิ-พระราม9-พัฒนาการ  เป็นถนนสายหลักที่มีผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งยักษ์ใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก หลากหลายรูปแบบปักหลักให้บริการ กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่ภายใน 5 ปีนี้ จากการขยายโครงข่ายคมนาคม รถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร รวม 23 สถานี  เริ่มจากสถานีรัชดา เชื่อมต่อรถไฟใต้ดินลาดพร้าว ไปตามถนนลาดพร้าว ศรีนครินทร์ เทพารักษ์ สิ้นสุดที่สำโรง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส รวมทั้ง โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.4 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี  ผ่านศูนย์วัฒนธรรม-รามคำแหง 12-หัวหมาก-บ้านม้า-สุวินทวงศ์ 

วันชัย จันทร์วัฒรังกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธัญวิลล์ จำกัด ผู้บริหารโครงการธัญญา พาร์ค ศูนย์การค้าสไตล์โมเดิร์น อีโค ไลฟ์สไตล์ มอลล์ ย่านศรีนครินทร์ กล่าวว่า รถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลืองถูกกำหนดให้เป็นโปรเจคเร่งด่วนในการเร่งก่อสร้างและเปิดใช้บริการภายใน 2-3 ปี สร้างแรงกระเพื่อมให้ภาคธุรกิจตื่นตัวจัดทัพรับโอกาสทางการตลาดจากการเติบโตของกำลังซื้อและฐานลูกค้าใหม่

สำหรับธัญญา พาร์ค จะมีสถานี “คลองกลันตัน” เชื่อมต่อเข้าโครงการโดยตรง สร้างความได้เปรียบในการดึงลูกค้า เบื้องต้นคาดว่าปริมาณลูกค้าจะเพิ่มขึ้น “เท่าตัว” ในทันที  แนวทางหลักนับจากนี้ไป ธัญญา พาร์ค จะเร่งต่อจิ๊กซอว์ทุกตัวเข้าด้วยกันเป็นแม่เหล็กดึงลูกค้าที่ไม่เคยมา ให้เข้ามามีประสบการณ์กับ “อีโคมอลล์” เมื่อลูกค้าได้มาสัมผัสในครั่้งหนึ่ง เชื่อว่าจะนำสู่ “ครั้งต่อไป” และการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้นตามลำดับโดยไม่ยาก 

“วันที่รถไฟฟ้ามาถึง 2 ปีข้างหน้าทุกอย่างจะเปลี่ยนไป แม้โอกาสจะเข้ามามหาศาล แต่การแข่งขันก็ตามมาเช่นกัน” 

ธัญญา พาร์ค ธุรกิจของ ธนิยะ กรุ๊ป กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นที่รู้จักกันดีในนาม ธนิยะ พลาซ่า บนถนนสีลม รวมทั้งธุรกิจอาคารสำนักงานต่างๆ เป็น “จุดแข็ง” ที่ถูกผนวกเข้ามาใช้ในการพัฒนาและต่อยอดโครงการธัญญา พาร์ค ที่วางแนวทางสร้างความน่าสนใจ แอทแทรคชั่น (Attraction) ต่างๆ ตอกย้ำความเป็น “แลนด์มาร์ค” ของโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก

วันชัย เตรียมพร้อมองค์ประกอบของแอทแทรคชั่นบนพื้นที่ 17 ไร่ ไล่ตั้งแต่โครงสร้างอาคารแนวใหม่ เชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กระจาย 5 อาคาร ใช้พื้นที่ได้ทั้งในและนอกอาคาร มี คอมมอน แอเรีย (ทางเดิน ส่วนกลาง นั่งเล่น) ถึง 70% พื้นที่เชิงพาณิชย์ทั่วไป 30% จากปกติศูนย์การค้าทั่วไปให้ คอมมอนแอเรีย 30% หรือคิดเป็นพื้นที่สีเขียว 40% 

ขณะเดียวกัน มุ่งสร้างความแข็งแกร่งของจุดขาย “ไดนิ่ง เดสทิเนชั่น” โดย ธัญญา พาร์ค ศรีนครินทร์ เน้น “ร้านในตำนาน” เมื่อเอ่ยชื่อแล้วทุกคนรู้จักในทันที ซึ่งขณะนี้ร้านอาหารระดับ “TOP 5” เลือกเปิดบริการ อาทิ นิตยาไก่ย่าง แชงกรีล่า หงเป่า น้องเนยซีฟู้ด ซูชิ ฮิโระ ฯลฯ ระหว่างนี้ทยอยเติมเต็มพื้นที่โซนร้านอาหารให้มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 40% ของพื้นที่ทั้งหมด และครอบคลุมนานาชาติ จากปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 20%  

“อาหาร ทำให้ลูกค้ามาศูนย์การค้าได้ทุกวัน และได้กลุ่มใหญ่มีกำลังซื่้ออย่างครอบครัวที่พร้อมจ่าย รวมทั้ง ธุรกิจบริการ โดยเฉพาะบริการสาธารณะต่างๆ เป็นเครื่องมือสำคัญทำให้ ธัญญา พาร์ค ได้ลูกค้าใหม่เข้ามาทุกวันแบบไม่ซ้ำเดิม” 

กลุ่มธุรกิจบริการเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กหลัก นอกจากธนาคาร ซูเปอร์มาร์เก็ต คลินิก  ยังมี ศูนย์บริการร่วมภาครัฐต่างๆ อาทิ บริการงานทะเบียนราษฎร ใบขับขี่ ประกันสังคม  หนังสือเดินทาง ไปรษณีย์ ล้วนสร้างลูกค้าหมุนเวียนได้มาก 

ยกตัวอย่าง “สำนักงานหนังสือเดินทาง” มีผู้เข้ามาทำประมาณ 1,000 เล่มต่อวัน มีผู้ติดตามเฉลี่ยอีก 2 รวมเป็น 3 คน เท่ากับมีคนใหม่ๆ เข้ามาเยือนธัญญา พาร์ค 3,000 คนต่อวัน ไม่รวมอีก 400 คนที่มารับเล่มต่อวัน ขณะที่การเติบโตของธุรกิจออนไลน์ส่งผลให้ “บริการไปรษณีย์” มีผู้ใช้บริการจำนวนมากกว่า 1,500 คนต่อวัน ภายในไตรมาส 4 นี้ จะเพิ่ม “บริการสาธารณะ” ที่จะมาสร้างทราฟฟิกของลูกค้ามากขึ้น

วันธรรมดาที่เป็นจุดบอดของธุรกิจศูนย์การค้าขนาดย่อมซึ่งประสบปัญหา “ลูกค้าหมุนเวียนน้อย” เทียบวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ “ธัญญา พาร์ค” เลือกปรับพื้นที่เป็นอาคารสำนักงาน ขนาด 6,500 ตร.ม. จะมีกำลังซื่้อในวันธรรมดาไม่ต่ำกว่า 1,000 คน สนับสนุนร้านค้า  ขณะที่วันหยุดจะมี “อีเวนท์” จะเป็นกลยุทธ์ในการสร้างสีสันด้วยคอนเซปต์ที่แตกต่างและสะท้อนภาพลักษณ์อีโคและไลฟ์สไตล์มอลล์ เช่น การจัดแสดงผลงานศิลปะ เวิร์กช็อป ตลาดนัดงานศิลปะ